“ฟรุกโทส” หวานทันสมัย สารพัดภัยในเครื่องดื่ม
“ฟรุกโทสทำให้คนอิ่มไม่เป็น อย่างเวลาหิว น้ำตาลในกระแสเลือดจะลด สมองจะบอกว่าขาดอาหารแล้วนะ และเมื่อกินจนอิ่ม น้ำตาลในกระแสเลือดจะเริ่มขึ้นเป็นปกติ จึงส่งสัญญาณไปที่สมองว่าอิ่มแล้ว ฮอร์โมนกระตุ้นหิวจะหยุดหลั่ง เราจะกินน้อยลง แต่ฟรุกโทสไม่เกิดกลไกนี้เพราะย่อยไม่ได้ในลำไส้ปกติ ร่างกายจึงนำไปเก็บไว้ที่ตับ น้ำตาลในกระแสเลือดจึงขึ้นช้ามาก เราก็กินอาหารเข้าไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ฟรุกโทสจึงทำให้เราอร่อยแต่ไม่อิ่ม”
ช่วงเวลาทองของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีรสหวานทั้งหลายคือฤดูร้อนแบบนี้ เพราะมีการสร้างค่านิยมให้ผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ หวานๆ เพื่อคลายร้อน ตามท้องตลาดทั่วไปจึงเห็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรสหวานมากมายหลายยี่ห้อ ชิงชัย ยื้อแย่ง แข่งขันกันอย่างดุเดือด คิดค้นโปรโมชั่นออกมาดึงดูดผู้บริโภคหลากหลายรูปแบบ
หากประเมินมูลค่าทางการตลาดของเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมน้ำตาลมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.8 แสนล้านบาท ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาล แต่ขณะเดียวกัน เครื่องดื่มประเภทนี้กำลังกัดกร่อนสุขภาพของคนไทย เพราะความหวานจากน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมสำคัญของเครื่องดื่มเหล่านี้ยกตัวอย่าง เช่น ชาเขียวพร้อมดื่ม ในหนึ่งขวดมีน้ำตาลอยู่ถึง 12 ช้อนชา ขณะที่องค์การอนามัยโลกให้ค่าบริโภคน้ำตาลของร่างกายที่เหมาะสมคือ 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัมต่อวันเท่านั้น
ด้วยเหตุที่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มต้องใช้วัตถุดิบสร้างความหวานในปริมาณมาก อุตสาหกรรมนี้จึงหันมาใช้ฟรุกโทสไซรัป (Fructose Syrup) หรืออีกชื่อว่า “น้ำเชื่อมข้าวโพด” เพราะให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 6 เท่า อีกทั้งยังอยู่ในรูปของเหลวไม่ต้องนำมาทำละลายก่อนเข้าสู่ระบวนการผสมลงในอาหารต่างๆ รวมทั้งราคาที่ถูกกว่า ลดค่าขนส่งประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บสินค้า ทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้หลายเท่าเมื่อเทียบกับน้ำตาลประเภทอื่นๆ
ทุกวันนี้ฟรุกโทสไซรัปจึงถูกนำมาใช้แทนน้ำตาลในอุตสาหกรรมอาหาร และหากผู้บริโภคใส่ใจอ่านฉลากวัตถุดิบหรือส่วนผสมในอาหารสำเร็จรูปที่จำหน่ายในท้องตลาด จะพบว่า ฟรุกโทสไซรัปเป็นส่วนประกอบในอาหารแทบทุกชนิดนับตั้งแต่เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม ไปจนถึงอาหารเสริมสำหรับทารก
นิตยสารไทม์ฉบับวันที่ 23 มิ.ย.2557 ระบุว่า 45 ปีที่ผ่านมา ฟรุกโทสไซรัปกลายเป็นแหล่งที่มาของพลังงานที่ได้รับความนิยมจากชาวอเมริกัน และมีอัตราการบริโภคสูงสุดเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานอื่นๆ ช่วงเวลานั้นจนถึงปัจจุบัน อัตราการบริโภคฟรุกโทสไซรัปในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 8,853%(แปดพันแปดร้อยห้าสิบสามเปอร์เซ็นต์) ขณะที่การบริโภคน้ำตาลทรายแดงลดลง 35%
ดร.เนตรนภิส วัฒนสุชาติ นักโภชนาการ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการทำงานในเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน อธิบายถึงผลร้ายต่อสุขภาพของฟรุกโทสว่าน้ำตาลซูโครสเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นกูลโคสออกมาในร่างกายไหลเวียนอยู่ในเส้นเลือด เป็นพลังงานใช้เลี้ยงสมอง หากน้ำตาลต่ำหรือกูลโคสต่ำจะเกิดอาการวิงเวียนต่างกันฟรุกโทส เมื่อเข้าสู่ไปยังกระแสเลือดส่วนหนึ่งจะพุ่งตรงเข้าสู่ตับ และนำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับ โดยไม่ต้องอาศัยกลไกอินซูลินในการส่งผ่านสู่เซลล์ตับ ในหนึ่งวันถ้าผู้บริโภคกินน้ำตาลฟรุกโทสเกิน 6 ช้อนชา อยู่เป็นประจำ ตัวฟรุกโทสจะเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรต์ คือไขมันที่สะสมอยู่ในเลือด เป็นสาเหตุให้มีการสะสมไขมันในตับและบริเวณพุง ก่อให้เกิดโรคอ้วนลงพุงในที่สุด
นักโภชนาการ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มก.กล่าวถึงอีกหนึ่งปัญหาคือฟรุกโทสมีผลต่อการดื้ออินซูลิน ทำให้ตัวเซลล์ที่จะดึงน้ำตาลกูลโคสเข้าไปใช้ไม่สามารถทำงานได้ เพราะฉะนั้นน้ำตาลก็จะอยู่ในเส้นเลือดเกินจนเกิดภาวะเป็นเบาหวาน ปัจจุบันน้ำตาลฟรุกโทสนอกจากจะผสมในเครื่องดื่มที่มีรสหวานแล้ว ยังมีขายอยู่ในซุปเปอร์มาร์เกตชั้นนำในรูปแบบของน้ำเชื่อม ซึ่งผลิตมาจากวัตถุดิบหลักคือข้าวโพดและมันสำปะหลัง เช่นเดียวกันร้านกาแฟที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพและตามปั้มน้ำมันทั้งหลายที่ใช้น้ำเชื่อมในการชงกาแฟเหล่านี้มาจากฟรุกโทสทั้งสิ้น ซึ่งจะเห็นว่าความหวานจากฟรุกโทสหมุนรอบตัวเรา
“ขนมหวานแบบไทยในระบบอุตสาหกรรมเริ่มใช้น้ำเชื่อมฟรุกโทสแล้ว เช่นขนมหวานใช้กะทิก็ผสมน้ำเชื่อม เพราะข้อดีเมื่อนำไปแช่แข็งแล้วไม่เป็นเกล็ด เวลารับประทานก็นำไปใส่ไมโครเวฟละลายน้ำแข็ง แต่รสชาติของฟรุกโทสจะให้ความหวานแบบเจื่อนๆ”
ในวงการผลิตน้ำตาลทรายได้โจมตีความหวานจากฟรุกโทสว่าเป็นน้ำตาลที่ผ่านขบวนการทางเคมี เพราะการเปลี่ยนเอ็มไซม์ของน้ำตาลต้องใช้สารเคมีเข้าไปย่อยและมีขบวนการฟอกสี ไม่ใช่มาจากธรรมชาติ
ส่วนข้อระวังสำหรับผู้บริโภคนั้น ทพ.ญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกามีทางเลือกสำหรับผู้บริโภคสำหรับเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลฟรุกโทสกับซูโคส โดยใช้สัญลักษณ์คือสีที่ฝาเครื่องดื่มขณะที่เมืองไทยมีระบุไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ว่าใช้น้ำตาลชนิดใด แต่ในอาหารที่ไม่ระบุฉลากเช่นน้ำปั่น ชาเขียว ชานม กาแฟเย็น ที่ขายเป็นแก้วถ้าเลี่ยงได้ควรเลี่ยงหรือบริโภคแต่น้อย
“ฟรุกโทสทำให้คนอิ่มไม่เป็น อย่างเวลาหิว น้ำตาลในกระแสเลือดจะลด สมองจะบอกว่าขาดอาหารแล้วนะ และเมื่อกินจนอิ่ม น้ำตาลในกระแสเลือดจะเริ่มขึ้นเป็นปกติ จึงส่งสัญญาณไปที่สมองว่าอิ่มแล้ว ฮอร์โมนกระตุ้นหิวจะหยุดหลั่ง เราจะกินน้อยลง แต่ฟรุกโทสไม่เกิดกลไกนี้เพราะย่อยไม่ได้ในลำไส้ปกติ ร่างกายจึงนำไปเก็บไว้ที่ตับ น้ำตาลในกระแสเลือดจึงขึ้นช้ามาก เราก็กินอาหารเข้าไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ฟรุกโทสจึงทำให้เราอร่อยแต่ไม่อิ่ม”
ทพ.ญ.จันทนากล่าวยกตัวอย่างเช่นเครื่องดื่มที่ใช้ฟรุกโทสไซรัปให้ความหวาน มักดื่มเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกพอ ยิ่งดื่มมากเท่าไหร่ ร่างกายก็จะเก็บสะสมฟรุกโทสไว้มากเท่านั้น ซึ่งผลที่ตามมา คือเกิดโรคอ้วน มีไขมันพอกตับ และนักวิจัยยังพบด้วยว่าสมองทำงานผิดปกติด้วย
ต่อไปหากเลี่ยงไม่ได้ ลองอ่านฉลากก่อนดื่ม ว่าควรดื่มแค่ไหนถึงจะเหมาะกับร่างกาย หรือถ้าเลือกได้ ควรดื่มเครื่องดื่มที่ผลิตแบบง่ายๆ ไม่ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรมจะดีกว่า