ชัด ๆ กฤษฎีกาไฟเขียวจ่ายเงินเยียวยาม็อบ กปปส.-หลัง“สุเทพ”บี้“บิ๊กตู่”
“…จึงเป็นเรื่องในทางนโยบายที่อยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ หากการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นการทั่วไปโดยเสมอภาคและเป็นธรรม โดยมิได้มุ่งหมายที่จะให้ประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การชดเชยเยียวยาตัวเงินตามหลักมนุษยธรรมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง (พ.ศ.2556-2557) หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ และส่งเรื่องให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีสอบถามความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา
----
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือลงวันที่ 19 ก.พ. 2558 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมทั้งเอกสารข้อเท็จจริงเพิ่มเติม สรุปความได้ดังนี้
1.คณะรัฐมนตรี (รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2551 อนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายและเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องตามที่ประธานกรรมการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องเสนอ ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ความช่วยเหลือให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายในกรณีที่เสียชีวิตรายละ 4 แสนบาท
2.คณะรัฐมนตรี (รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 เห็นชอบในหลักการการเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชน รวมทั้งครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว ตั้งแต่เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ประมาณปลายปี 2548 จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 เพื่อเป็นการสร้างความปรองดองของคนในชาติ
ซึ่งแตกต่างจากการเยียวยาในกรณีปกติ ตามที่คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงาน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) เสนอ โดยให้ ปคอป. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาที่ทำให้เกิดความยั่งยืนและเป็นการค้ำจุนผู้ได้รับผลกระทบในระยะยาวต่อไป และให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีประสานกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณในการจัดหาวงเงินงบประมาณตามกรอบอัตราเงินช่วยเหลือชดเชย เยียวยาความเสียหาย และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติวงเงินงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง
3.คณะรัฐมนตรี (รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์) ได้มีมติเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2555 เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินสำหรับผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (2548-2553) ประมาณการวงเงินงบประมาณตามกรอบอัตราเงินช่วยเหลือชดเชย เยียวยาความเสียหาย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 สำหรับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งแนวทางการดำเนินการเยียวยาให้แก่ชาวต่างประเทศซึ่งได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้งทางการเมืองตามที่ ปคอป. เสนอ
ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีความเห็นเกี่ยวกับกรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้เสียชีวิตตามหลักเกณฑ์ฯว่า ควรประกอบด้วยจำนวนเงิน 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ให้ความช่วยเหลือเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต จำนวน 3 ล้านบาท/ราย และส่วนที่ 2 ให้ความช่วยเหลือเยียวยาค่าเสียโอกาสของผู้เสียชีวิต จำนวน 4.5 ล้านบาท/ราย
ทั้งนี้การจ่ายเงินดังกล่าวควรมีมาตรการให้กับผู้มีสิทธิได้รับเงินอย่างแท้จริงและสามารถดำรงชีพได้ในระยะยาว โดยจำนวนเงินส่วนที่ 1 อาจมอบให้กับผู้มีสิทธิได้รับเต็มจำนวน และส่วนที่ 2 อาจมอบให้ผู้มีสิทธิไดรับในรูปแบบบัญชีเงินฝากประจำหรือพันธบัตร หรือสลากออมสิน เป็นต้น
4.คณะรัฐมนตรี (รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์) ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2556 เห็นชอบให้นำหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงปี 2548-2553 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 และวันที่ 6 มี.ค. 2555 มาใช้ในการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2556 (ม็อบ กปปส.) โดยให้ ปคอป. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ
5.นายสาธิต ปิตุเดชะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ขณะนั้น) ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ไต่สวนคณะรัฐมนตรีที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ ในฐานะประธาน ปคอป. และอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในข้อกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 อันเป็นการออกระเบียบและกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่ เพื่อที่จะใช้บังคับกับกรณีนี้เป็นการเฉพาะ อีกทั้งการออกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวยังไม่มีกฎหมาย กฎกระทรวง หรือหลักเกณฑ์มาตรฐานรองรับ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนผลประโยชน์แก่พวกพ้องเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน
6.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา) ได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ว่า พระสุเทพ ปภาโร (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.) มีหนังสือขอให้รัฐบาลเร่งรัดติดตามความคืบหน้าของคดีเหตุการณ์บาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ชุมนุม รวมทั้งดำเนินการชดเชยเยียวยาแก่เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน
และกระทรวงยุติธรรมเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 ที่กำหนดให้มีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในกรณีพิเศษ ครอบคลุมช่วงระยะเวลาถึงเดือน พ.ค. 2553 เท่านั้น ทำให้ผู้ชุมนุมและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2556-2557 ไม่สามารถขอรับเงินตามมาตรการการจ่ายเงินเยียวยาในกรณีพิเศษได้
ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่เกิดการเลือกปฏิบัติจึงเห็นควรดำเนินการจ่ายเงินในกรณีพิเศษโดยนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการเดิม โดยขยายช่วงเวลาให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ในช่วงปี 2556-2557
7.สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว เห็นว่า เนื่องจากกระบวนการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเป็นองค์ประกอบ และเงื่อนไขที่มีความจำเป็นต่อกระบวนการสร้างความปรองดอง รวมถึงการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายกรัฐมนตรีจึงมีบัญชาให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีสอบถามความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงแนวทางการดำเนินการชดเชยเยียวยาตัวเงินตามหลักมนุษยธรรมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในช่วงปี 2556-2557
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงบประมาณ) และผู้แทนจากสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว
เห็นว่า โดยที่มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ ซึ่งในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 มาตรา 4 (6) ได้กำหนดงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นไว้ โดยเป็นรายจ่ายที่ตั้งสำรองไว้เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี ที่จะสามารถจัดสรรงบดังกล่าวไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการแก้ไขปัญหาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ของประเทศในกรณีจำเป็นหรือกรณีฉุกเฉิน
โดยในการขออนุมัติใช้งบกลางนั้น มาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 บัญญัติให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีอำนาจจัดสรรให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายโดยตรงหรือเบิกจ่ายในรายการต่าง ๆ ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ ได้ตามความจำเป็น โดยให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามข้อ 30 แห่งระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ.2548 ซึ่งออกตามความในมาตรา 19 และมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502
รวมทั้งต้องดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติของสำนักงานกรณีการขออนุมัติใช้เงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นที่รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2557 ที่กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐเสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว จึงเสนอนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการ หรือให้ความเห็นชอบแล้วแต่กรณีต่อไป
โดยกรณีมีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้นำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ หากวงเงินเกินกว่า 100 ล้านบาท ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ และเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแล้ว การเบิกจ่ายและการจ่ายเงินจากจากคลังตามมติคณะรัฐมนตรีที่อนุญาตให้จ่ายได้ย่อมสามารถทำได้ตามข้อ 16 วรรคหนึ่ง และข้อ 31 แห่งระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลังการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2551 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 (2) แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502
โดยในทางปฏิบัติที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติให้ใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาทางการเงินในหลายกรณี เช่น การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเยียวยาทางการเงินจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งได้มีการดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์เดือน พ.ค. 2535 เหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 เหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 8-14 เม.ย. 2552 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง และการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินสำหรับผู้เสียหายตั้งแต่เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม พธม. ประมาณปลายปี 2548 จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 รวมทั้งเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2556
ดังนั้นหากคณะรัฐมนตรีพิจารณาในทางรัฐประศาสโนบายแล้ว เห็นว่า การชดเชยเยียวยาตัวเงินตามหลักมนุษยธรรมให้แก่บุคคลทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 2556-2557 เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการตามนโยบายและหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่ต้องส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติและจำเป็นต้องใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
จึงเป็นเรื่องในทางนโยบายที่อยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ หากการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นการทั่วไปโดยเสมอภาคและเป็นธรรม โดยมิได้มุ่งหมายที่จะให้ประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ.2548 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2557 ที่กำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีการขออนุมัติใช้เงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
สำหรับแนวทางการดำเนินการชดเชยเยียวยาตัวเงินตามหลักมนุษยธรรมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในช่วงปี 2556-2557 จะดำเนินการจ่ายในอัตรา หลักเกณฑ์ และวิธีการอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณากำหนดได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมตลอดจนความพร้อมด้านงบประมาณของรัฐ
ซึ่งอาจนำผลการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์และเสนอแนวทางการเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจาเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในปี 2556-2557 ทีได้แต่งตั้งไว้แล้ว มาประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางดังกล่าวต่อไปได้
นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา