นักวิชาการชี้เด็กไทยขาดโอกาสพัฒนาช่วงปฐมวัย
นักวิชาการชี้พัฒนาทักษะด้านพฤติกรรมเด็กปฐมวัยคือหน้าต่างแห่งโอกาสพัฒนาศักยภาพด้านอื่น ระบุจะสร้างผลตอบแทนให้เด็กและเยาวชนต่อสังคมในอนาคตสูงถึง 12 เท่า วอนผู้ปกครองอย่างเร่งรัดเกินไป หวั่นทำลายความคิดสร้างสรรค์
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.)ร่วมกับเครือข่ายคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์และครูปฐมวัยจัดงานแถลงข่าว “ปฐมวัย:ลงทุนอย่างไรให้คุ้มค่า” ณ ลานกิจกรรม สสค. อาคารไอบีเอ็ม
ผศ.ดร.ศศิลักษณ์ ขยันกิจ ประธานสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่าจากผลการวิจัยและติดตามพัฒนาการของเด็กปฐมวัยของไทยพบว่า เด็กปฐมวัยกำลังถูกเร่งรัดให้มีพัฒนาการที่เกินวัยอย่างไม่สมดุลซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต โดยเร่งรัดพัฒนาการด้านวิชาการที่เกินวัยเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนต่อในโรงเรียนประถมชื่อดังจึงเกิดปรากฎการณ์กวดวิชาตั้งแต่อนุบาล ทั้งในช่วงวันหยุดและวันปิดเทอม เร่งการเรียนการเขียน การอ่าน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อตัวเด็กทำให้เกิดความกดดัน จากการที่มีพ่อแม่ยัดเยียดการเรียนด้านวิชาการมากเกินกว่าเหตุ
ผศ.ดร.ศศิลักษณ์ กล่าวอีกว่า การสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้จากหน้าต่างแห่งโอกาสเพราะเด็กในช่วงปฐมวัยสมองจะเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะทักษะด้านพฤติกรรม เช่น ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะทางอารมณ์ การพูดและการเคลื่อนไหว แต่เมื่อเด็กถูกพัฒนาทักษะเพียงด้านเดียวส่งผลให้เด็กขาดแรงจูงใจการเรียนรู้ ขาดทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่น และขาดทักษะความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เป็นการเสียโอกาสที่มีอยู่อย่างจำกัดในการสร้างทักษะทางด้านพฤติกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อคุณลักษณะความสำเร็จด้านการศึกษาและการทำงานในอนาคตของเด็ก
อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงข้อเสนอในการสร้างความพร้อมสู่การจัดการการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพนั้น ต้องประกอบไปด้วยเด็กพร้อม ครอบครัวพร้อม ระบบการศึกษาพร้อม เนื่องจากการสร้างความพร้อมของเด็กคือการขยายโอกาสทางการศึกษาปฐมวัยให้แก่เด็กทุกคนและเป็นการจัดการการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวัยตามธรรมชาติ
ด้านดร.นฤมล เนียมหอม ครูปฐมวัยร.ร.ทุ่งมหาเมฆโรงเรียนในสังกัด สพป.กทม.กล่าวว่า เด็กปฐมวัยหรือเด็กอนุบาลในช่วง 3-5 ขวบ ตามหลักวิชาการพบว่าเด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น เพราะฉะนั้น ที่โรงเรียนจะจัดกิจกรรมนันทนาการตลอดทั้งวัน โดยจะออกแบบกิจกรรมให้เด็กได้สังเกตุ ค้นพบ แก้ปัญหา ทดลอง และทำงานร่วมกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และอยากมาโรงเรียน ดังนั้นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กและทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ดร.นฤมล กล่าวด้วยว่า เด็กในช่วงวัย 3-5 ขวบ เป็นเด็กที่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ การที่เด็กได้เสนอความคิด ได้ทำตามที่ตนเองจินตนาการหรือวาดมโนภาพไว้ เด็กจะมีพื้นฐานที่ดีในการเป็นผู้สร้าง เป็นนักคิดในอนาคตหากเด็กเรียนแบบเร่งรัดวิชาการย่อมทำลายพื้นฐานที่มีค่านี้ไป เพียงเพื่อตอบสนองต่อผู้ที่ไม่เข้าใจพัฒนาการเด็ก ให้เกิดความพอใจว่าเด็กอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นตั้งแต่เล็กทั้งนี้จิตนาการและความคิดสร้างเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ควรให้เด็กเสนอความคิดเห็นว่าอย่างทำอะไร และผลักดันสิ่งที่เด็กคิดให้เป็นจริงขึ้นมา เด็กที่เป็นผู้สร้าง คิดค้นโตขึ้นเค้าก็จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตเช่นกัน
“เด็กที่โรงเรียนมาจากต้นทุนที่ไม่สูงเพราะเป็นโรงเรียนของรัฐแต่เมื่อได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสมตามวัยและความต่างของเด็กแต่ละคน เด็กทุกคนก็สามารถอ่านออกเขียนได้เมื่อเข้าสู่ชั้นประถม 1 แถมยังมีข้อได้เปรียบที่เด็กเหล่านี้จะเป็นคนรักเรียน ไม่ต้องถูกบังคับให้เรียน และเมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนก็สามารถเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมของรัฐได้”
ขณะที่ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษาสสค. กล่าวว่ายังมีเด็กปฐมวัยอีก 12%ที่ขาดโอกาสในการเตรียมความพร้อมจากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี2555พบว่า มีเด็กจำนวน365,506คน จากจำนวนเด็กช่วงอายุ0-5ปี4,585,759คน หรือ คิดเป็น12%ของเด็กในช่วงอายุ2-5ปี ที่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าเรียนในศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลเพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงปฐมวัยสถานการณ์ดังกล่าวจะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศไทยในอนาคตเป็นอย่างมาก
“ จากข้อมูลของเจมส์ แฮคแมนนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี2543ระบุว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยผ่านการพัฒนาทักษะด้านพฤติกรรมจะสร้างผลตอบแทนคืนกลับทั้งต่อเด็กเยาวชนและต่อสังคมในอนาคตสูงมากถึง7-12เท่า เพราะหน้าต่างแห่งโอกาส ในการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของมนุษย์ จะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ในช่วงปฐมวัยเท่านั้น”