"สตง." VS "สรรพากร" ว่าด้วยปมมาตรการภาษีตรวจสอบทุจริตนักการเมือง
"...มาตรการทางภาษีสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นได้อีกทางหนึ่ง โดยการอาศัยอำนาจมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากรที่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน ในการกำหนดเงินได้สุทธิโดยวิธีค่าเพิ่มทรัพย์สินสุทธิ ...โดยเฉพาะการใช้วิธีการดังกล่าวกับนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ที่รัฐไม่สามารถพิสูจน์ถึงที่มาที่ไปของรายได้หรือทรัพย์สินได้..."
แค่เริ่มขยับก็ทำท่าว่าจะมีอุปสรรคเสียแล้ว สำหรับแนวคิดการใช้มาตรการภาษีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
เมื่อกรมสรรพากร ออกมายืนยันชัดเจนว่า ข้อมูลทรัพย์สินและหนี้สินของกลุ่มบุคคลดังกล่าว มิใช่หลักฐานที่แสดงว่า มีการกระทำผิดทางภาษีอากร หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร และโดยที่มาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้นำมาตรา 19 ถึงมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ดังนั้น กรมสรรพากร จึงต้องออกหมายเรียกผู้เสียภาษีอากร ตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะต้องมีกระบวนการในการแสวงหาพยานหลักฐาน การวิเคราะห์แบบแสดงรายการภาษีจนมีเหตุอันควรเชื่อว่า มีการเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือไม่เสียภาษีอากร จึงจะดำเนินการออกหมายเรียกดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากร ระบุว่า "หากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พบข้อมูลที่มีเหตุอันควรเชื่อดังกล่าว หรือพบข้อมูลการเสียภาษีไม่ถูกต้องของบุคคลใด ขอได้โปรดแจ้งให้กรมสรรพากรทราบ เพื่อกรมสรรพากร จะได้ดำเนินการตรวจสอบการเสียภาษีของบุคคลนั้นๆ ต่อไป"
สรุปความง่ายๆ คือ กรมสรรพากร ไม่สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลภาษีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยพลการได้ ยกเว้นต้องมีหลักฐานปรากฎชัดเจน และได้รับการประสานข้อมูลเข้ามาถึงจะดำเนินการได้
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชน เห็นภาพแนวคิดการนำมาตรการภาษีมาช่วยตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองมากยิ่งขึ้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลในหนังสือ สตง. ที่ทำถึงกรมสรรพากร เพื่อขอความร่วมมือในการใช้มาตรการภาษี เข้ามาตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนที่กรมสรรพากรจะมีหนังสือแจ้งผลตอบกลับมาเป็นทางการ
พบว่ามีการระบุรายละเอียดสำคัญดังนี้
"ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2557 ปรากฎว่าสื่อมวลชนได้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบางรายว่าอาจจะมีทรัพย์สินมากกว่าที่ควรจะได้รับจากการประกอบอาชีพปกติ โดยเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ทางราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งมีการเรียกร้องจากสังคม ให้มีการตรวจสอบถึงที่มาของทรัพย์สินรวมทั้งการเสียภาษีของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบางรายนั้น"
"สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เห็นว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมาองค์กรตรวจสอบของรัฐรวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ มีความพยายามที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ปัญหาดังกล่าวกลับมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและมีรูปแบบวิธีการที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยมีสาเหตุหลายประการ ซึ่งประการหนึ่ง คือ กระบวนการและขั้นตอนการตรวจสอบตามกฎหมายที่ใช้ระยะเวลานานกว่าจะสามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้ ส่งผลทำให้กระทำความผิดไม่เกิดความเกรงกลัว และยังคงอาศัยอำนาจหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ ซึ่งในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น นอกจากการใช้กลไกตรวจสอบโดยองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจโดยตรงและการมีส่วน ร่วมจากทุกภาคส่วนแล้ว"
"มาตรการทางภาษีสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นได้อีกทางหนึ่ง โดยการอาศัยอำนาจมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากรที่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน ในการกำหนดเงินได้สุทธิโดยวิธีค่าเพิ่มทรัพย์สินสุทธิ ในกรณีได้ตรวจสอบไต่สวนผู้ยื่นรายการเงินได้หรือไม่ยื่นรายการเงินได้ตามวิธีการปกติแล้วไม่อาจทราบได้ว่าบุคคลนั้นมีรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงเพียงใด โดยเฉพาะการใช้วิธีการดังกล่าวกับนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ที่รัฐไม่สามารถพิสูจน์ถึงที่มาที่ไปของรายได้หรือทรัพย์สินได้"
"ประกอบกับปัจจุบันองค์กรตรวจสอบต่างๆ มีข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบภาษีอากรของกรมสรรพากร เช่น ข้อมูลบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในอำนาจและการครอบครองของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งหากกรมสรรพากรนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการประเมินภาษีตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร จะทำให้รัฐได้รับเงินและทรัพย์สินที่นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐได้มาจากการทุจริตคอร์รัปชั่นคืนมาในรูปภาษีอากรได้"
"สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเรียนมาเพื่อขอให้กรมสรรพากร พิจารณาเพิ่มความสำคัญกับการตรวจสอบภาษีอากรของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งรวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยการประสานความร่วมมือกับองค์กรตรวจสอบต่างๆ และนำมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น และถูกต้องตรงตามความเป็นจริงมากที่สุดแล้ว ยังเป็นมาตรการทางอ้อมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวางราชการได้อีกด้วย"
(ดูเอกสารประกอบ)
แต่วันนี้ ดูเหมือนว่า แนวคิดของ สตง. เรื่องนี้ จะต้องสะดุดลง เพราะติดขัดปัญหาในการขั้นตอนการปฏิบัติงานของกรมสรรพากร ตามที่แจ้งไว้
ซึ่งล่าสุดทางสตง.เตรียมที่จะทำหนังสือทักท้วงความเห็นของกรมสรรพากร อีกหนึ่งฉบับ เพื่ออธิบายให้กรมสรรพากร เข้าใจภาพ ความสำคัญ และวิธีการทำงานในการนำมาตรการภาษีมาช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นยิ่งขึ้น
มากกว่าการมองอะไรในมุมและวิธีคิดของข้าราชการที่ยึดถือแนวทางการปฎิบัติงานภายใต้คำว่า "กรอบ" เท่านั้น
(อ่านประกอบ : "สรรพากร"ลั่นมีเหตุถึงตรวจสอบได้ มาตรการภาษีสอบนักการเมืองส่อล่ม!)