ประชุม คสป..นัดแรก ถอด "สูตร 7+9” ปฏิรูปประเทศ
หลังประชุมกว่า 4 ชม. กรรมการสมัชชาปฏิรูปวางกรอบ 7 ประเด็นปฏิรูป 9 ด้าน เน้นสร้างความเป็นธรรม-ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชน เล็งใช้ยาแรงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วนภายใน 5-6 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (14 ก.ค.) ว่า เมื่อเวลา 13.00 น. คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ที่มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน เข้าร่วมประชุมหารือถึงแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ครั้งที่ 1 ณ เรือนธารกำนัล บ้านพิษณุโลก กรุงเทพมหานคร
นพ.ประเวศ กล่าวภายหลังการประชุมกว่า 4 ชั่วโมง ว่า วันนี้คณะกรรมการจากหลายฝ่ายที่เข้าใจถึงปัญหาต่างๆ มาร่วมระดมความคิดเห็น ซึ่งสาระสำคัญที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด 5- 6 เรื่อง คือ การปฏิรูปที่ดิน ,มาตรการเก็บภาษี ,การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น,ระบบการศึกษาที่จะช่วยพาชาติออกจากวิกฤต ,บทบาทมหาวิทยาลัยในการแก้ไขปัญหา,ระบบความยุติธรรมที่ขณะนี้ไม่ยุติธรรม
“ส่วนเรื่องลึกๆ เช่น การปฏิรูปจิตสำนึก วิธีคิดใหม่ เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อ หรือแม้กระทั่งความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งจะเป็นเรื่องระยะยาวในการดำเนินการต่อไป ส่วนข้อเรียกร้องที่ผ่านมาในอดีต ต้องนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ก่อน โดยงานอยู่ที่กรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน โดยส่วนใหญ่ที่เป็นเรื่องของฝ่ายวิชาการ ก่อนนำมาพูดคุย ระดมความคิดร่วมกันทั้งเรื่องใหม่และข้อเรียกร้องเดิม”
2 คำถามเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
ประธาน คสป. กล่าวด้วยว่า ได้ตั้งคำถามเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยไว้ 2 ข้อ คือ 1.สังคมมีความเป็นธรรมในความฝันอันสูงสุดของท่านอย่างไร และ 2. ท่านเสนอมาตรการอะไรบ้างที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยประชาชนสามารถส่งความเห็นมาที่เฟสบุ๊ค www.facebook.com/Assemblyreform และอีเมลล์ [email protected]อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน หรือส่งทางองค์กรที่สังกัด ทั้งตำบล เทศบาล สภาองค์กรชุมชนและอื่นๆ ซึ่งหลังจากนี้อีก 2 สัปดาห์ ในวันที่ 29 ก.ค. จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการอีกครั้งเพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงาน ของแต่ละบุคคล
“คาดว่าการทำงานต่างๆ ในระยะเวลา 5-6 เดือนต้องแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน ถือว่าเป็นยาแรงที่ลงไปจัดการดูแลเรื่องเฉพาะหน้าและบางเรื่องอาจต้องสร้าง เป็นกฎหมาย ตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ 3 ปี ให้เกิดความเป็นรูปธรรมในการปฏิรูปมากที่สุด”
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายการปฏิรูปว่า ต้องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น คนไทยทั้งประเทศต้องเป็นเจ้าของการปฏิรูปร่วมกัน ไม่ใช่คณะกรรมการหรือรัฐบาลเป็นเจ้าของ แม้จะมีการทำงานแบ่งเป็น 2 คณะ โดยคณะกรรมการสมัชชาฯ มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมในการ ปฏิรูปประเทศไทย โดยคณะกรรมการฯ พร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอและข้อเรียกร้องของภาคส่วนต่างๆในสังคม และการดำเนินงานจะเชื่อมโยงกับ คปร. ของนายอานันท์ ส่วน คสป.จะทำหน้าที่เปิดรับฟังความคิดเห็น ให้ คปร.จะทำหน้าที่สังเคราะห์ออกเป็นนโยบายเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้
“ปัญหาต่างๆเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน หากแก้ครั้งเดียวอาจติดหล่มได้ ดังนั้น ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง ส่วนข้อกังวลว่า ข้อเสนอ จะไม่นำไปสู่การปฏิบัตินั้นและคณะกรรมการชุดนี้ไร้น้ำยานั้น เชื่อว่า หากเป็นพลังของสังคม จะไม่มีปัญหาและภาครัฐจะเดินตาม”ศ.นพ.ประเวศ กล่าว และว่า ขณะนี้นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่ทุกภาคส่วนตื่นตัว ทั้งภาคธุรกิจ เอกชน และองค์กรทั่วไป ส่วนเรื่องการเมือง ต้องแยกให้ออกระหว่างภาคการเมืองกับนักการเมือง ศึกษากระบวนการแสดงออกทางการเมือง ขณะที่ข้อเรียกร้องจากกลุ่มเสื้อแดง ช่วยให้เกิดจิตสำนึกใหม่ ที่เป็นเรื่องใหญ่ ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดีขึ้น
ไพบูลย์เสนอช่วยคนกำลังจมน้ำก่อน
ในส่วนความคิดเห็นและข้อเสนอของกรรมการสมัชชาปฏิรูป นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วิธีลดความขัดแย้งและการปรองดองที่ดี ต้องนำไปสู่การคิดด้วยกัน ทำด้วยกัน เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า แต่ต้องยอมรับความจริงเรื่องปัญหาปากท้อง เพราะขณะนี้คนกำลังจมน้ำ การพูดเรื่องการปฏิรูปและวิถีชีวิต คนที่เดือดร้อนจะไม่สนใจ ดังนั้น ต้องมองผสมผสานเรื่องระยะสั้นและระยะยาว โดยช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนให้ได้รับการบรรเทา ผ่านเป็นสะพานเชื่อมเพื่อเกิดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าภายใน 6 เดือน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจและเกิดการสร้างจินตนาการร่วมกันในการวางแผนในระยะยาว
“นอกจากนี้ควรมีคณะทำงานเพื่อสังเคราะห์ความคิด นำเสนอออกสู่ภาคปฏิบัติ โดยหลักการทำงาน คือ ต้องนำพื้นที่เป็นตัวตั้ง ให้ประชาชนเจ้าของพื้นที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ส่วนองค์กรอื่น เช่น ราชการ หรือองค์กรจากส่วนกลาง เป็นเพียงผู้สนับสนุน และมีทีมจัดการความรู้ เพื่อร่วมถอดบทเรียนจากสิ่งที่ได้ทำของแต่ละพื้นที่”
ส่วนนายรัชฏะ ศรีบุญรัตน์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนอยากเสนอให้มีคณะทำงานของเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างฝันให้กับวัยรุ่นถึงแนวคิดในการสร้างประเทศ โดยใช้กลไกของสภาเด็กและเยาวชนในแต่ละจังหวัด เช่น การวาดฝันในอนาคตว่า ในปี 2020 เขาจะเป็นอะไร และตระหนักว่าพวกเขา คือ พลเมือง เติมพลังให้กับวัยรุ่นให้มีส่วนได้คิด มีส่วนร่วม และจำเป็นต้องสื่อสารอย่างง่ายๆให้เยาวชนเข้าใจ
ขณะที่ นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า สิ่งที่ชุมชน ประชาชนท้องถิ่นกังวล ไม่ได้อยู่ที่การผลักดันกฎหมายหรือนโยบายรัฐ แต่ห่วงในเรื่องการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ คณะกรรมการควรมีส่วนช่วยสังเคราะห์กระบวนการทำงานของชุมชน โดยเฉพาะการผลักดันการดำเนินงานของระบบราชการให้มีกระบวนการทำงานร่วมกับ ประชาชนอย่างมีความสุขและมีการรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน ความเดือดร้อนของแต่ละพื้นที่ที่เข้าถึงใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น
ปลัดยธ.ตั้งกรอบไว้กว้างปัญหาความไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในที่ประชุมมีการระดมความคิด ที่เห็นว่าสำคัญต่อการปฏิรูป มีการพูดถึงแนวทางในการปฏิรูปที่จะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะแนวคิดพยายามดึงนำภาคประชาชนมาร่วมกันในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งปัญหาความไม่เป็นธรรม ก็ได้ตั้งกรอบไว้กว้างไม่ใช่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นการปฏิรูประบบความยุติธรรม
ด้านนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ กล่าวถึงการประชุมวันนี้ยังไม่ได้มีการลงรายละเอียด แต่ก็ได้แสดงความคิดเห็นพื้นๆ คร่าวๆ มาทำความเห็นร่วมกัน เราจะเดินหน้าไป อย่างไร ไปตรงไหน ไปทางไหน ซึ่งตนได้เสนอรูปแบบของการประสานงานกับเครือข่ายชาวบ้าน รูปแบบสมัชชาประชาชน
สำหรับนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตส.ว.เชียงราย กล่าวว่า ในที่ประชุมมีการพูดถึงสถานภาพกรรมการปฏิรูป กับกรรมการสมัชชาปฏิรูป จะเข้าไปเชื่อมโยงกับกลไกที่มีอยู่ในสังคมอย่างไร เน้นว่า ไม่ได้เป็นองค์กรแก้ไขปัญหาแบบเก่าๆ แต่ต้องมาจิตนาการของอนาคตที่ทุกคนมีความหวังร่วมกัน ซึ่งก็มีคำถามต้องนำไปถามในเครือข่ายต่างๆ ในเรื่องของจิตนาการ และความฝันสังคมที่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้สรุปการดำเนินงาน แบ่งการปฏิรูปด้านต่างๆ ได้เป็น 7+9 กลุ่ม คือ 7 ประเด็นปฏิรูป ได้แก่ การสร้างพลังภาคส่วนที่ยังอ่อนแอ ,ดึงภาคธุรกิจร่วมสร้างธุรกิจเพื่อความเป็นธรรม , สร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น , ชุมชนเข้มแข็ง ,พัฒนากลไกราชการ ,มหาวิทยาลัย ,สื่อมวลชน และ 9 ด้าน คือ ระบบยุติธรรม, ปฏิรูปการศึกษา ,การกระจายรายได้,สวัสดิการสังคม ,คุณภาพชีวิตเกษตรกร,คุณธรรมของคนในสังคม,การจัดการทรัพยากร,การตรวจสอบโดย ภาคประชาชน,โครงสร้างอำนาจที่สมดุล สำหรับกระบวนการทำงานประกอบด้วย การสร้างพลังความร่วมมือของสื่อมวลชน การลงพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกับท้องถิ่น มีคณะทำงานสังเคราะห์ข้อมูล และการมีส่วนร่วม.