“แก้วสรร”รับไม่ได้“ปู”เอาหีบเลือกตั้งเป็น กม.สูงสุด
แกนนำไทยสปริง ชี้คดีจำนำข้าวสำคัญที่มีผลต่อเสรีภาพจัดทำนโยบายรัฐ แนะควรมีเกณฑ์ให้ชัดผิดตรงไหน ฉะ “ยิ่งลักษณ์” คิดเอาหีบเลือกตั้งเป็นกฎหมายสูงสุดยอมรับไม่ได้ จวกโครงการ “ปู” มุ่งซื้อทุกเมล็ด เป็นนโยบายเถื่อน ไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ สวนศาล รธน.เคยยกฟ้องแค่กรณีอำนาจสั่งยกเลิกไม่ได้บอกว่าชอบด้วย กม.หรือไม่ หวั่นคนทำผิดกลับมามีอำนาจทำข้าราชการซวย เหน็บอย่าเอาคดีอดีตนายกฯ ไปเทียบ “ซูจี” เหตุจะทำเขาเสียเกียรติภูมิอย่างร้ายแรง
วันนี้ (21 มี.ค.) นายแก้วสรร อติโพธิ แกนนำไทยสปริง กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐฒนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างโครงการรับจํานําข้าวเปลือกเป็นนโยบายที่ประชาชนได้มอบหมายมาเป็น ฉันทามติที่ต้องการให้ กลไกตลาดเป็นธรรม สะท้อนความเป็นจริงและยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา และเป็นคดีที่จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนเกษตรกรและประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งยังมีผลต่อบรรทัดฐานและการตัดสินใจในการจัดทํานโยบายที่จะช่วยเหลือประชาชนในอนาคตว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเป็นคดีสําคัญที่จะมีผลต่อเสรีภาพในการจัดทํานโยบายของรัฐเป็นอันมาก หากศาลจะตัดสินจนลงเอยเช่นใดก็ต้องมีหลักมีเกณฑ์มาอธิบายให้ชัดเจนว่าผิดหรือไม่ผิดที่ตรงไหนเอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐาน ส่วนที่อ้างว่าเป็น “ฉันทามติ” ของประชาชนที่ได้มาจากการเลือกตั้ง อะไรที่เสนอเป็นนโยบายเลือกตั้งแล้วชนะเลือกตั้งย่อมศักดิ์สิทธิ์ กฎหมายเอาผิดไม่ได้ ความคิดที่ถือเอาหีบเลือกตั้งเป็นกฎหมายสูงสุดนี้ นักกฎหมายอย่างตนยอมรับไม่ได้
นายแก้วสรรกล่าวว่า โครงการรับจํานําข้าวเปลือกทํากันมาหลายรัฐบาล โดยมีการรับจํานําจริงเพื่อพยุงราคาข้าวในตลาด ไม่ใช่เข้าไปรับซื้อข้าวทุกเมล็ดในตลาดอย่างรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำคือประกาศว่ารับจํานํา ขณะที่ราคาข้าวเปลือกในตลาดไม่มีทางถึงเกวียนละ 1 หมื่นบาท แต่ไปประกาศรับจํานําทุกเมล็ดในราคาสูงถึง 1.5 หมื่นบาท จึงไม่ใช่เป็นการรับจํานําแต่เป็นการมุ่งรับซื้อทุกเมล็ดทั่วประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 ได้กําหนดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ให้ทุกรัฐบาลต้องยึดถือไว้ ในมาตรา 84 (1) ระบุว่ารัฐต้องสนับสนุนเศรษฐกิจเสรีที่อาศัยกลไกการตลาด คือถ้าไม่ใช่เรื่องรักษาความมั่นคง รักษาประโยชน์ส่วนรวม หรือให้บริการสาธารณะแล้ว รัฐอย่าเข้าไปประกอบการใดๆ การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้หน่วยงานไปซื้อข้าวทั้งประเทศจึงเป็นนโยบายเถื่อนที่กฎหมายไม่รับรอง และ 84 (8) ระบุให้รัฐดูแลประโยชน์ชาวนาในตลาด โดยส่งเสริมให้ชาวนาได้ผลตอบแทนสูงสุด ซึ่งรัฐทําได้แค่ช่วยส่งเสริมราคาในตลาด คือรับจํานําในราคาที่สูงกว่าตลาดตามสมควรพอที่จะดึงราคาในตลาดให้สูงขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ทิ้งตลาดคือไปรับซื้อข้าวทุกเมล็ดแทนตลาดอย่างที่ทําไป จนการเงินการคลังของประเทศเสียหายกว่า 7 แสนล้านเช่นทุกวันนี้
นายแก้วสรรกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินยกฟ้องคดีจํานําข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปแล้ว เพราะศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแต่เพียงว่าไม่มีกฎหมายให้อํานาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะสั่งระงับนโยบายใดของรัฐบาลได้ แต่ไม่ได้บอกว่านโยบายนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และหากมีการทํานอกเหนือรัฐธรรมนูญและเกิดความเสียหาย ในทางแพ่งถ้าพิสูจน์ ความรับผิดได้ต่อไปว่า มีพฤติการณ์เข้าข่ายจงใจหรือเลินเล่อร้ายแรง คนในรัฐบาลก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ซึ่งก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายและความรับผิดแล้ว
แกนนำไทยสปริงกล่าวว่า ส่วนพยานหลักฐานสามารถถือตามสํานวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็พอแล้ว เหลือแต่ความกล้าของกรรมการเท่านั้นว่ามีพอหรือไม่ เพราะหากบุคลเหล่านี้สามารถกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ข้าราชการประจําที่ไปทํางานเอาผิดพวกชินวัตรจะต้องซวยสิ้นความก้าวหน้าในราชการแน่นอน เหมือนที่ข้าราชการคลังที่ไปช่วยงาน คตส.โดนมาตลอดแล้ว
“ในส่วนคดีอาญาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใน มาตรา 157 การจะลงโทษคนถึงติดคุกได้ ต้องมีความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่งคือ ใช้อํานาจหรือละเว้นหน้าที่โดยจงใจกลั่นแกล้งให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือโดยทุจริต ตรงนี้ยังไม่ทราบฐานคําฟ้องของอัยการและ ป.ป.ช.ว่า ฟ้องตามฐานใดด้วยพยานหลักฐานที่ฟังได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้คือจุดชี้ขาดคดีอาญาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะหนีหรือไม่ ผมคิดว่าน่าจะต้องดูจุดชี้ขาดตรงนี้เป็นสําคัญ ซึ่งคดีนี้เป็นคดีคอร์รัปชัน คดีทําบ้านเมืองเสียหายเป็น 7 แสนล้าน ถ้าพยานหลักฐานถึงติดคุกได้ก็สมควรแล้ว และอย่าได้เอาคดีคุณยิ่งลักษณ์ไปเทียบกับการต่อสู้เผด็จการของอองซานซูจีเลย เพราะจะทําให้คุณซูจีเขาเสียหายเสียเกียรติภูมิอย่างร้ายแรงยิ่งทีเดียว” นายแก้วสรร ระบุ
ขอบคุณข่าวจาก