นายกฯ สั่งขยายโมเดล “การศึกษาเคลื่อนที่” จ.ลพบุรี ไปยังพื้นที่น้ำท่วม
กำชับทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ยึดหลัก 2p 2r ในการทำงาน หนุนปักธงเขียวบ้านผู้ประสบภัยพิเศษ ในจังหวัดน้ำท่วม เพื่อการช่วยเหลือที่ตรงจุด
28 ก.ย. 54 เวลา 9:00 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประชุมทางไกลผ่านระบบ VDO Conference ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) โดยมี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ลพบุรี และอุทัยธานี
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหลัก Preparation (การเตรียมการแก้ปัญหาล่วงหน้า) เพื่อแจ้งเตือนภัยให้พื้นที่เสี่ยงได้เตรียมความพร้อมรับมือ ส่วนสิ่งที่คาดหวังในการทำงานตามหลัก Prevention (การป้องกันล่วงหน้า) คือ ผู้รับผิดชอบจะต้องรู้ขอบเขตรับผิดชอบการทำงาน และสิ่งที่พื้นที่ต้องการรับการสนับสนุน โดยทำรายงานให้ส่วนกลางทราบเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ขอให้นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยอาศัยการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดูแลให้ความช่วยเหลือได้อย่างเสมอภาค
สำหรับชุด Recovery (ฟื้นฟู ดูแลชดเชย เยียวยา) ให้สำรวจความเสียหายระบบสาธารณูปโภค และจัดคาราวานสร้างบ้านให้กับประชาชนที่บ้านเสียหาย ทำการซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว
นายกรัฐมนตรีย้ำให้มีการ Check list การทำงานทุกครั้งกับผู้รับผิดชอบตามหลักการทำงานแบบ 2p 2r อย่างชัดเจน และได้มอบหมายให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดกำหนดผู้รับผิดชอบการทำงานตามหลัก 2p 2r และให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการมายังส่วนกลางรับทราบ
ต่อมา นายกรัฐมนตรีและคณะได้ประชุมทางไกลผ่านระบบ VDO Conference ร่วมกับผู้ว่าราชการที่ประสบอุทกภัย
ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี รายงานว่า ปริมาณน้ำยังคงไหลลงพื้นที่ จ.ลพบุรี อย่างต่อเนื่อง พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 110,000 ไร่ และทางจังหวัดได้ให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยการจัดหาที่อยู่ จัดเตรียมอาหาร และสุขา และแจ้งเตือนภัยให้ทราบตลอดเวลา นอกจากนี้ยังจัดส่งทีมแพทย์ และ อสม.ให้คำปรึกษา พุดคุยกับประชาชนเพื่อลดสภาวะเครียด พร้อมจัดเตรียมกระสอบทรายเพื่อทำคันกั้นน้ำ และเครื่องสูบน้ำ หากมีน้ำทะลักเข้าไปในพื้นที่ ที่ยังไม่ท่วม
ส่วนโรงเรียนยังไม่สามารถเปิดทำการได้ ทางจังหวัดจึงได้ดำเนินการ 1.จัดตั้งศูนย์เรียนบริเวณข้างโรงเรียน 2. ข้างที่พัก หรือบริเวณถนน และ 3. สอนหนังสือแบบเคลื่อนที่ถึงบ้านพัก และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในคณะทำงาน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มประกอบอาหาร และจัดเตรียมอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือ 2. กลุ่มดูแลเด็ก คนพิการ คนชรา และคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 3. กลุ่มเครือข่ายรับข้อมูล และแจ้งเตือนข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบ
ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยา รายงานว่า จากสถานการณ์น้ำที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ทางจังหวัดได้จัดเตรียมที่พักไว้ 80 แห่ง เพื่อรองรับผู้อพยพ และจัดเตรียมเต็นท์ที่พัก สุขาเคลื่อนที่ให้กับประชาชนทุกครัวเรือน และสร้างคันกั้นน้ำเตรียมป้องกันพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ได้ดำเนินการปักธงสีเขียวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่ามีบุคคลที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ ให้ดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้สัญจรไปมาได้แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมเยียน ส่วนพื้นที่การเกษตรที่เสียหาย จะเร่งคืนพื้นที่ให้กับเกษตรกรภายในเดือนธ.ค.นี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำนาได้ทันที
นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี ขยายโมเดลการทำงานของ จ. ลพบุรี และอยุธยา เรื่องการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน และการทำสัญลักษณ์ธงเขียวปักไว้หน้าบ้าน เพื่อให้ทราบว่ามีผู้อาศัยที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษไปสู่จังหวัดต่างๆ พร้อมกำชับให้ผู้ว่าราชการที่ประสบอุทกภัยรายงานสถานการณ์ให้ ศอส. ได้รับทราบเพื่อจะได้ดำเนินการช่วยเหลือต่อไป ตลอดจน เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายบูรณาการการทำงานตามหลัก 2p 2r มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดหาเรือ และสุขาเคลื่อนที่ให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งในวันที่ 29 ก.ย. จะมีการประชุมทางไกลผ่านระบบ VDO Conference เพื่อรับทราบ และติดตามผลการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกครั้ง