เปิดคำสั่งศาลล้มละลาย ฟื้นฟู สคจ. ระบุชัด ความเสียหายเกิดจาก "อดีตปธ."
“...สาเหตุที่ลูกหนี้ผู้ร้องขอ มีหนี้สินล้นพ้นตัว เนื่องจากระหว่างปี 2552 ถึงปี 2555 มีการนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พุทธศักราช 2542 เป็นการกระทำของอดีตประธานดำเนินการขณะนั้น...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org: วันที่ 20 มี.ค.58 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งชี้ขาดในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.20/2557 กรณีมีผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด โดยศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการและตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นผู้ทำแผน ทั้งนี้ แม้คำสั่งศาลอย่างเป็นทางการยังไม่ปรากฏออกมา แต่จดหมายข่าวศาลล้มละลายกลางได้เผยแพร่บทสรุปของประเด็นการพิจารณาคดีดังกล่าวไว้ สำนักข่าวอิศรา ขอนำเสนอไว้ ดังนี้
วันที่ 20 มี.ค.2558 ศาลล้มละลายกลางได้อ่านคำสั่ง ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.20/2557 สืบเนื่องมาจากสหกรณ์ เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ผู้ร้องขอ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการและตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นผู้ทำแผน ศาลล้มละลายกลางไต่สวนพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้ว มีคำวินิจฉัยในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.10/2558 ในประเด็นดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียว หรือหลายคนรวมกันไม่น้อยกว่า สิบล้านบาทหรือไม่
ศาลวินิจฉัยว่าลูกหนี้ผู้ร้องขอ มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเป็นหนี้เจ้าหนี้หลายคนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท โดยฟังข้อเท็จจริงตามคำร้องขอที่ลูกหนี้ผู้ร้องขอนำพยานมาสืบได้ความว่าลูกหนี้ผู้ร้องขอมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินเป็นเงิน 19,533,963,864.64 บาท
ประเด็นที่ 2 มีเหตุสมควรและช่องทางให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือไม่
ผู้คัดค้านคัดค้านและนำสืบทำนองเดียวกันว่า ลูกหนี้ผู้ร้องขอ ประกอบกิจการโดยไม่สุจริต ไม่สมควรให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของอดีตประธานดำเนินการผู้ถูกกล่าวหา ไม่ได้เป็นการกระทำในขอบวัตถุประสงค์ของลูกหนี้ผู้ร้องขอประกอบกิจการโดยไม่สุจริต
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 65,66,76 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติ สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 50, 51 จึงต้องวินิจฉัยต่อไป ว่ามีเหตุสมควรที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ผู้ร้องขอหรือไม่
ศาลเห็นว่า สมาชิกสหกรณ์ได้รับประโยชน์ เป็นเงินจำนวนมากกว่าการนำเงินไปลงทุนกับสถาบันการเงินอื่นในช่วงที่เศรษฐกิจเจริญเติบโต สาเหตุที่ลูกหนี้ผู้ร้องขอ มีหนี้สินล้นพ้นตัว เนื่องจากระหว่างปี 2552 ถึงปี 2555 มีการนำเงินไปลงทุนในธุรกิจ ที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พุทธศักราช 2542 เป็น การกระทำของอดีตประธานดำเนินการขณะนั้น จึงไม่ควรให้ผลกระทบดังกล่าว มาเป็นเหตุสำคัญ ที่จะไม่ให้โอกาสลูกหนี้ผู้ร้อง ขอฟื้นฟูกิจการ เพราะเป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ ของลูกหนี้ผู้ร้องขอ แม้ผู้ร้องขอจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ลูกหนี้ผู้ร้องขอ ยังคงดำเนินกิจการอยู่ เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ ให้การสนับสนุน การฟื้นฟูกิจการ ของผู้ร้องขอ และมีหน่วยงานของรัฐเตรียมการช่วยเหลือเพื่อให้ลูกหนี้ผู้ร้องขอผ่านวิกฤติทางการเงิน ผ่านช่องทางการฟื้นฟูกิจการหากได้รับการปรับโครงสร้างหนี้และการบริหหารจัดการที่ดี กรณีนี้จึงมีเหตุสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องขอ
ประเด็นที่ 3 ลูกหนี้ผู้ร้องขอ ยื่นคำร้องขอโดยสุจริตหรือไม่
ศาลเห็นว่าหากปล่อยให้สมาชิกซึ่งเป็นเจ้าหนี้แต่ละรายบังคับคดี จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน และลูกหนี้ผู้ร้องขออาจถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือในที่สุดไม่มีทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะพึงยึดมาชำระหนี้เจ้าหนี้ได้ ลูกหนี้ผู้ร้องขออาจถูกฟ้องล้มละลายได้ ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของลูกหนี้ผู้ร้องขอ มิได้เป็นการหลีกเลี่ยงการบังคับคดีของบรรดาเจ้าหนี้อันจะถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต การให้เวลาแก่ลูกหนี้ผู้ร้องขอหรือผู้ทำแผนสำรวจความบกพร่องของกิจการจะสามารถนำไปวางแผน ปรับปรุง แก้ไขให้กิจการของลูกหนี้ผู้ร้องขอ ดำเนินการต่อไปได้
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ลูกหนี้ผู้ร้องขอ มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้หลายคนรวมกันไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท มีเหตุสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ผู้ร้องขอทั้งการร้องขอของลูกหนี้เป็นการยื่นคำร้องขอโดยสุจริต จึงฟังได้ว่าลูกหนี้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 90 /3 และศาลได้พิจารณาความจริง จนครบถ้วนตามมาตรา 90 / 10 แล้ว สมควรให้ลูกหนี้ผู้ร้องขอ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป
โดยในส่วนของผู้ทำแผน ลูกหนี้ผู้ร้องขอได้ขอให้ศาลตั้งลูกหนี้ผู้ร้องขอเป็นผู้ทำแผนเนื่องจากคณะกรรมการดำเนินการและบุคลากรมีความรู้ความสามารถในการบริหารงานและดำเนินกิจการลูกหนี้ผู้ร้องขอเป็นอย่างดี ประกอบกับการคัดค้านของผู้คัดค้าน ไม่ได้มีหนังสือยินยอมของผู้ทำแผนที่ผู้คัดค้านเสนอรายชื่อและคุณสมบัติ ตามบทบัญญัติ มาตรา 90/6 กรณีนี้จึงไม่ถือว่า เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอผู้อื่นเป็นผู้ทำแผนด้วย
เมื่อทางนำสืบของผู้คัดค้านยังไม่พอฟังได้ว่าคณะกรรมการชุดปัจจุบัน กระทำการโดยไม่สุจริต จึงเห็นสมควรตั้งลูกหนี้ผู้ร้องขอเป็นผู้ทำแผน
( อ่านประกอบ : ศาลล้มละลายฯ สั่งฟื้นฟูกิจการยูเนี่ยนคลองจั่น-เกษตรฯ ชงครม.ช่วย 5 พันล. )
ภาพประกอบจาก : www.manager.co.th ,www.oknation.net , www.google.co.th