กูรูกู้บึ้ม ยัน ข่าวคนร้ายทิ้งมิสคอลล์ลวงจุดระเบิดป่วนใต้ไม่จริง
เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด หรืออีโอดี ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันว่า ข้อมูลที่แชร์ต่อกันในโซเชียลมีเดีย เตือนเรื่องเบอร์มิสคอลล์ ลวงให้โทรกลับเพื่อจุดระเบิดทำร้ายเจ้าหน้าที่นั้น ไม่เป็นความจริง
ข้อความดังกล่าวถูกส่งต่อ (แชร์) กันอย่างกว้างขวางในแอพพลิเคชั่นไลน์ แอพพลิเคชั่นคุยออนไลน์ยอดนิยมในเมืองไทย เนื้อหาระบุทำนองว่า หากมีมิสคอลล์ (miss call) หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่ได้รับสายถูกโทรเข้ามาทิ้งไว้คาเครื่อง ห้ามโทรกลับไปที่เลขหมายดังกล่าว เพราะอาจเป็นเลขหมายของคนร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลวงให้โทรกลับเพื่อจุดระเบิดทำร้ายเจ้าหน้าที่ หรือก่อวินาศกรรมในเขตเมือง หากใครโทรกลับอาจทำให้ผู้โทรมีความผิดฐานเป็นผู้ร่วมจุดชนวนระเบิด
ทั้งนี้ เมื่อข้อความดังกล่าวถูกแชร์ออกไปในวงกว้าง ทำให้หลายคนตื่นตระหนก และไม่รู้ว่าข้อความนี้เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ หรือเกิดจากความรูท่าไม่ถึงการณ์
"ทีมข่าวอิศรา" ได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดรายหนึ่งถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ดังที่แชร์ข้อมูลกัน ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รายนี้ซึ่งเป็นอีโอดีในพื้นที่ชายแดนใต้ บอกว่า การใช้วิธีโทรเข้ามือถือของบุคคลอื่นให้เป็น miss call แล้วสุ่มให้คนที่ไม่ได้รับสายนั้นโทรกลับเพื่อการจะจุดระเบิดนั้น ในความเป็นจริงไม่สามารถกระทำได้
ทั้งนี้เพราะระเบิดแสวงเครื่องที่ถูกประกอบขึ้นและพบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทบทุกลูกจะมีตัวป้องกัน หรือ "เซฟตี้" เป็น "อาร์มสวิทช์" (arm switch) หรือสวิทช์ที่ต้องกดเปิดระบบเพื่อเตรียมพร้อม หากจะนำระเบิดไปใช้งานต้องเปิดสวิทช์ตัวนี้ก่อน ระเบิดถึงจะทำงานได้
สวิทช์ดังกล่าวนี้ถูกทำขึ้นเพื่อป้องกันอันตรายสำหรับผู้ที่นำระเบิดไปวาง ดังนั้นหากใช้การโทร miss call เพื่อสุ่มให้โทรกลับไปจุดระเบิด จะไม่สามารถกำหนดเวลาได้ หากมีการโทรมาผิดจังหวะ ยังไม่ได้เปิดอาร์มสวิทช์ ระเบิดก็ไม่ทำงาน
"แต่ที่ผ่านมาในพื้นที่ยังไม่เคยพบว่าคนร้ายที่ก่อเหตุระเบิดจะเลือกใช้วิธีนี้ในการจุดระเบิด เพราะหากมองในมุมของคนร้ายแล้ว การใช้วิธีโทรสุ่มให้โทรกลับมันจะคุมเวลาไม่ได้ miss call ไปแล้วจะโทรมาตอนไหนก็กำหนดไม่ได้ โอกาสที่ระเบิดของคนร้ายจะพลาดจากเป้าหมายมีสูงมาก"
"เช่น หากคนร้ายนำระเบิดไปวางไว้เพื่อก่อเหตุกับยานพาหนะของเจ้าหน้าที่บนถนน ถ้าใช้วิธีนี้จะกำหนดให้ระเบิดทำงานในจังหวัดที่ยานพาหนะผ่านจุดที่วางระเบิดรอไว้ไม่ได้ ก็ทำให้เสียระเบิดไปโดยงานไม่สำเร็จ หากผมเป็นคนร้าย ผมจะไม่นำวิธีนี้มาใช้"
ส่วนที่หลายคนกังวลว่า หากคนร้ายใช้วิธีทิ้ง miss call แล้วผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์โทรกลับไปจุดระเบิด จนตัวเองต้องตกเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดนั้น เจ้าหน้าที่อีโอดีรายนี้ บอกว่า ขอให้สบายใจได้เลย เพราะการคลี่คลายคดีระเบิดมีกระบวนการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แค่โทรกลับจุดระเบิดแล้วจะต้องกลายเป็นคนร้าย แต่มีการสืบสวนหาพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุระเบิดรถตำรวจที่ อ.เทพา จ.สงขลา