ตรวจมาตรการต้านโกง “รบ.ประยุทธ์” 6 เดือน ยังคืบหน้าไม่ถึงครึ่งทาง
“สิ่งที่เราทำเป็นเรื่องยาก และคงไม่มีแชมป์เปี้ยน เป็นเรื่องของสังคมทั้งสังคมที่จะลุกขึ้นมาทำ คุณประยุทธ์อาจเป็นผู้จุดประกาย แต่คุณประยุทธ์คนเดียวไม่น่าทำสำเร็จ”
18 มีนาคม ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดเสวนาเรื่อง “เกาะติดมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาลประยุทธ์” โดยมีการนำเสนอผลสำรวจความคืบหน้าการออกมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
“ธิปไตร แสละวงศ์” นักวิจัยสถาบันทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า จากการสำรวจมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาล 6 เดือนที่ผ่านมา (12 ก.ย.57-17 มี.ค.58) ในภาพรวม 4 ส่วนหลักสำคัญยังไปไม่ถึงครึ่งทาง ทั้งนี้ มาตรการจำกัดหรือควบคุมอำนาจการใช้ดุลพินิจของรัฐ มีความคืบหน้า 33 % , มาตรการกำกับและควบคุมการใช้เงินแผ่นดิน คืบหน้า 38% , มาตรการการใช้อำนาจผูกขาด คืบหน้า 25 % , และมาตรการเพิ่มต้นทุนและความเสี่ยงให้กับพฤติกรรมคอร์รัปชั่น คืบหน้า 35%
นอกจากนี้ยังพบว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น อาทิ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน( สตง.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน มีงบประมาณและบุคลากรไม่เพียงพอกับการตรวจสอบ รวมทั้งมีปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน
“ดร.มานะ นิมิตมงคล” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น ประเทศไทย เห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันมีผลงานในการออกมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ดีมากและคาดว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างกระบวนการต่อต้านคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ในอนาคต อาทิ การผลักดันพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ เข้าสู่การพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) รวมทั้งการออกมาตรการใหม่ในการแก้ไขปัญหาใบอนุญาต รง.4 ได้อย่างรวดเร็ว
กระนั้นก็ตาม ความท้าทายของรัฐบาลคือ ต้องคำนึงถึงทุกมาตรการที่มีผลในระยะยาว เช่น ผู้นำรัฐบาลออกมารณรงค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง หรือการออกพ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ เพื่อควบคุมการซื้อสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภาครัฐให้มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้
นอกจากนี้ยังระบุว่า รัฐบาลควรพิจารณายกเลิกกฎหมายของรัฐหรือการใช้อำนาจของรัฐที่หมดความจำเป็น โดยดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาคประชาชน นักธุรกิจเอกชน และนักวิชาการมาร่วมหารือถึงกระบวนการปรับปรุงหรือยกเลิก
“ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์” ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า หากรัฐบาลปรับกระบวนการจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย หรือ Regulatory Impact Analysis (RIA) อย่างจริงจังจะเป็นการช่วยลดคอร์รัปชั่นได้มากพอสมควร เพราะจะช่วยกลั่นกรองกฎหมายหรือกฏหมายลูกที่จะทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์
“ที่ผ่านมาทีดีอาร์ไอศึกษาพบว่ามีกฎหมายหลายฉบับออกมาโดยไม่เกิดผลกระทบด้านบวกต่อประชาชน แต่กลับเป็นการให้อำนาจดุลพินิจกับผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย แต่หากมีการประเมินโดยใช้ RIA จะช่วยกลั่นกรองกฏระเบียบที่ไม่เป็นประโยชน์กับสังคม โดยเฉพาะกฎที่กลายเป็นแหล่งหาเงินของผู้ที่มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจ”
“บรรยง พงษ์พานิช” กรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องของคนในสังคมทุกภาคส่วนที่จะต้องช่วยกันผลักดันและต้องมีความอดทน เพราะพลเอกประยุทธ์คงทำคนเดียวไม่สำเร็จ
“สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือความอดทนของสังคม เพราะการปฏิรูปทุกอย่างมีผลกระทบ แต่เป็นผลกระทบจากการปฏิรูปเพื่อให้เติบโตในอนาคตอย่างแข็งแรง ดังนั้นสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องยาก และคงไม่มีแชมป์เปี้ยน เป็นเรื่องของสังคมทั้งสังคมที่จะลุกขึ้นมาทำ คุณประยุทธ์อาจเป็นผู้จุดประกาย แต่คุณประยุทธ์คนเดียวไม่น่าทำสำเร็จ”
ขอบคุณภาพจาก http://www.innnews.co.th