ส่อง 6 ช่องทีวีดิจิตอล สถานีไหนเนื้อหารุนเเรง ลามก หยาบคาย
สำรวจ 6 ช่อง ทีวีดิจิตอล มีเดียมอนิเตอร์พบ MCOT HD เเพร่เนื้อหารุนเเรง ภาษาหยาบคาย ส่อทางเพศ มากสุด ส่วนใหญ่พบใน 'ละครซิทคอม' นักวิชาการชี้กระทบพัฒนาการเด็ก 10-15 ปี
สื่อโทรทัศน์เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้กว้างขวางและมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะนำไปสู่พัฒนาการที่ดีสำหรับเด็ก จึงต้องระมัดระวังนำเสนอเนื้อหาสาระที่สุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อโต้แย้งว่า การผลิตสื่อโทรทัศน์ให้เป็นดินแดนบริสุทธิ์นั้น แลดูขัดแย้งกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เด็กสามารถเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายมากกว่า
มีเดียมอนิเตอร์ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ศึกษาประเด็น ‘จริยธรรมสื่อโทรทัศน์กับผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก’ ใน 4 ประเด็น คือ เพศ/พฤติกรรมการแสดงออกทางเพศ (S) ภาษาส่อทางเพศและภาษาหยาบคาย (L) ความรุนแรง ( V) และอคติ/การเลือกปฏิบัติผ่านภาพตัวแทน (R)
ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผอ.มีเดียมอนิเตอร์ เปิดเผยว่า จากการศึกษาประเด็นเพศรายการโทรทัศน์ 72 รายการ ของสถานีโทรทัศน์ 6 ช่อง ได้รับความนิยมสูงสุดช่วง ตุลาคม 2557 และมกราคม 2558 จากการวิเคราะห์ของ AC Nielsen คือ ช่อง HD ได้แก่ ช่อง 3 HD ช่อง 7 HD ช่อง MCOT HD ช่อง SD ได้แก่ ช่อง เวิร์คพ้อยท์ ช่อง 8 และช่อง MONO 29
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาสำหรับเด็ก (วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.00-18.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 7.00-9.00 น. และ 16.00-18.00 น.) และช่วงเวลาที่ต้องระมัดระวัง (18.00-20.00 น. ของทุกวัน) ตามประกาศ กสทช. และมีรูปแบบรายการที่ศึกษา กลุ่มรายการสำหรับเด็กและการ์ตูน กลุ่มละครและภาพยนตร์ และกลุ่มบันเทิง ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มเป้าหมาย อายุ 10-14 ปี รูปแบบละ 3 อันดับ
“ผลการศึกษาพบรายการที่ปรากฏเนื้อหาความรุนแรง 41 รายการ รายการที่มีการใช้ภาษาส่อทางเพศและภาษาหยาบคาย 24 รายการ รายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศ 14 รายการ และรายการอคติ/การเลือกปฏิบัติผ่านภาพตัวแทน 14 รายการ” ผอ.มีเดียมอนิเตอร์ ระบุ
ดร.เอื้อจิต ชี้ให้เห็นภาพรวมทุกช่องที่ศึกษาว่า ช่อง MCOT HD มีรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง การใช้ภาษาส่อทางเพศ ภาษาหยาบคาย จำนวนมากที่สุด แบ่งเป็น ใช้ภาษาส่อทางเพศและภาษาหยาบคาย 7 รายการ ความรุนแรง 10 รายการ อคติและการเลือกปฏิบัติผ่านภาพตัวแทน 7 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่มักพบใน ‘ละครซิทคอม’
ขณะที่ ช่อง MONO 29 มีรายการเนื้อหาความรุนแรงเท่ากับช่อง MCOT HD จำนวน 10 รายการ แต่ไม่พบเนื้อหาเกี่ยวกับอคติและการเลือกปฏิบัติผ่านภาพตัวแทน
ผอ.มีเดียมอนิเตอร์ ระบุภาพรวมยังพบว่า รายการประเภท ‘ละครไทย’ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศ 7 รายการ ภาษาส่อทางเพศและภาษาหยาบคาย 10 รายการ ความรุนแรง 18 รายการ ซึ่งมากกว่ารายการประเภทอื่น ๆ
ส่วนรายการประเภท ‘การ์ตูน’ มีเนื้อหาความรุนแรงค่อนข้างมาก 12 รายการ และกลุ่มรายการบันเทิงอื่น ๆ มีเนื้อหาเกี่ยวกับอคติและการเลือกปฏิบัติผ่านภาพตัวแทน 5 รายการ มากกว่ากลุ่มรายการอื่น ๆ
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาศึกษาเดือนตุลาคม 2557 และมกราคม 2558 ดร.เอื้อจิต กล่าวว่า ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญของเนื้อหา SLVR ที่สำคัญ ยังพบว่า มีหลายรายการและช่องสถานีที่มีการจัดระดับความเหมาะสม (เรตติ้ง) ของเนื้อหาไม่สอดคล้องกับระเบียบ กสทช.
ช่วงท้าย คณะผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการสื่อโทรทัศน์ทุกช่อง ตรวจสอบการนำเสนอเนื้อหารายการต่างๆ ให้เป็นไปตามระเบียบของ กสทช. อย่างคำนึงถึงจริยธรรมสื่อมวลชน ความรับผิดชอบต่อสังคม ที่สำคัญ คือผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก รวมถึงจัดระเบียบระดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการต่าง ๆ อย่างเป็นจริงตามประกาศ กสทช.
นอกจากนี้ กสทช.ต้องติดตาม ตรวจสอบ และบังคับใช้ระเบียบที่ประกาศอย่างจริงจัง เช่น จัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหา ระมัดระวังเนื้อหาที่นำเสนอในช่วงเวลาสำหรับเด็ก และช่วงเวลาที่พึงระมัดระวัง รวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ง่ายต่อการตรวจสอบ ติดตามเฝ้าระวัง และกำกับดูแล ทั้งเนื้อหา และจริยธรรมสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของผู้ได้รับใบอนุญาตทุกประเภท
ดร.นนทสรวง กลีบผึ้ง ผช.ผอ.ด้านสื่อสารองค์กร สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล วิเคราะห์อิทธิพลของสื่อโทรทัศน์ที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็กวัย 10-15 ปี ว่า จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการคิด เพราะเมื่อเด็กรับข้อมูลจากการนำเสนอเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื่อว่า สิ่งที่เห็นเป็นเรื่องจริง จนบางครั้งแยกแยะไม่ได้ระหว่างความรู้ ความจริง หรือความคิด และทำให้เข้าใจเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้
นอกจากนี้ยังส่งผลต่อทัศนคติหรือความเชื่อ เมื่อเนื้อหาเข้าไปสู่กระบวนการทางสมอง สะสมเป็นความรู้ให้เด็กซึมซับ กระทั่งสามารถคาดเดาได้ว่า หากมีอารมณ์โกรธต้องขว้างปาสิ่งของ ซึ่งค่านิยมเหล่านี้นำไปสู่พฤติกรรมของเด็กให้ถูกโน้มน้าวและชี้นำได้ ในช่วงที่กำลังขาดวุฒิภาวะ ใช้ความคิดอย่างมีวิจารณญาณ
เธอบอกอีกว่า ในฐานะผู้ใหญ่ตกเป็นทาสของสื่อโดยไม่รู้ตัว แม้จะคิดว่ารู้เท่าทันสื่อมากก็ตาม แล้วเด็กอายุ 10-15 ปี จะรู้เท่าทันได้มากน้อยเพียงใด อีกสิ่งหนึ่ง คือ ผลกระทบทางอารมณ์ ซึ่งสื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้ ด้วยการนำเสนอข้อมูลเชิงบวกที่ส่งเสริมการพัฒนาเด็ก
สำหรับอารมณ์เชิงลบนั้น ดร.นนทสรวง กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศร้าโศก เสียใจ หดหู่ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เราบอกได้หรือไม่ว่า อารมณ์เหล่านั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อเด็กไปอีกนานเท่าไหร่
ส่วนร่างกายเมื่อรับชมรายการโทรทัศน์ ผู้ใหญ่มักมีอาการจ้อง ลุ้น สนุก ตื่นเต้น เร้าใจ ร่วมกัน แต่เด็กที่มีวุฒิภาวะน้อย ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการนอนหลับ ซึ่งเกิดจากการวิตกกังวลของเด็ก และเก็บไปฝังในความทรงจำ
พร้อมกันนี้ เธอยกตัวอย่างการใช้ภาษาไม่เหมาะสมในเนื้อหารายการ เช่น เงินมาผ้าหลุด เงินสะดุดหลุดเเค่สะดือ หรือไปเตือนพวกยังไม่มีผัว เป็นต้น
หรือกรณีมีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศ เช่น ฉากซูมชุดเสื้อผ้ารัดรูป หรือร่องอก หรือเเม้กระทั่งผู้ชายนอนกอดกับผู้หญิงบนเตียง เป็นต้น
ไม่เว้นเเม้เเต่เนื้อหาเลือกปฏิบัติผ่านภาพตัวเทน ล่อเลียนด้านเพศ หรือเชื้อชาติ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก
สำหรับด้านความรุนเเรง พบมีฉากปืน เเม้จะเป็นภาพสีหรือขาวดำ เด็กก็สามารถจินตนาการได้ หรือสังเกตพฤติกรรมได้ จึงไม่เหมาะสม
ด้านเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผอ.สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน รู้สึกติดใจเรื่องความรุนแรง โดยกล่าวว่า ช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา สังคมไทยมีความรุนแรงมากขึ้น และสื่อมวลชนมีส่วนสำคัญสร้างสังคมเกิดความเกลียดชัง เลือกข้าง และเข้าใจผิด ซึ่งมิได้แสดงออกในมิติการเมืองเพียงด้านเดียว และนักรัฐศาสตร์หลายคนเคยระบุถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้แฝงเร้นในวิถีชีวิตของเรา
ทั้งนี้ SLVR นำไปสู่ความรุนแรงกับกลุ่มคนคิดต่างและไม่เหมือนกัน โดยการศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า รายการตลกบางรายการทำให้เราหัวเราะไปกับการดูถูกเรื่องภาษาพูดของคนบางภูมิภาคหรือชาวประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในมิติเชิงวัฒนธรรมที่แตกต่างจากไทยอาจไม่หัวเราะก็ได้ และเปลี่ยนกลายเป็นความรุนแรงแทน
ผอ.สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน มองมุขตลกดังกล่าวอาจเป็นความเคยชินหรือมายาคติเชื่อว่า ผู้ชมโทรทัศน์จะชื่นชอบรายการ จนมีเรตติ้งสูง แต่เป็นไปได้หรือไม่...ทำให้คนในสังคมไทยหัวเราะ แบบไม่ต้องดูถูกคนอื่น โดยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อยกระดับความรู้และนำไปสู่คุณค่าที่มากกว่า โดยผู้ชมโทรทัศน์ยังตลกได้
“ดิฉันเป็นแฟนละคร รับชมเกือบทุกคืน และในมิติที่กำลังรับชมได้รับประโยชน์อะไร ซึ่งขณะนี้มีหลายช่องยกระดับการผลิตละครขึ้น โดยใส่ข้อเสนอแนะแฝงไว้ในละคร โดยที่อรรถรสไม่เสีย ยกตัวอย่าง ฉากประสบอุบัติเหตุ ละครโรแมนติกเรื่องหนึ่ง คุณหมอสั่งห้ามเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บจากรถคว่ำ เพราะกระดูกอาจเคลื่อน จะต้องนำไม้มาดามรองก่อน เพียงแค่ใส่เนื้อหาเพิ่มเติมไป ก็สามารถยกระดับการเรียนรู้ของผู้ชมละครได้ ไม่เว้นแม้แต่ ‘ฉากเสียตัว’ มีได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกรายละเอียดทุกขั้นตอน ดังนั้น จะต้องเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น” เข็มพร อธิบาย
ดูละครเเล้วย้อนดูตัว พารู้จักมิติมืด-สว่าง ของมนุษย์
อาจารย์สุภาภรณ์ โพธิ์แก้ว คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงรายการใช้ระดับความเหมาะสม (ท-ทั่วไป) ค่อนข้างมาก พบว่า นิยามเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ความเข้าใจของบุคคลทั่วไป หมายถึง การปรุงอาหารที่ทุกเพศทุกวัยรับประทานได้ ไม่เป็นพิษภัย คล้าย ๆ ‘ส้มตำ’ ครกหนึ่ง ลูกอยากจะรับประทานด้วย หากเปรียบเป็นสื่อโทรทัศน์ นั่นคือ จานเดียวกัน และมีช้อนจ้วงคนละคำ ลักษณะเช่นนี้จะสั่งแม่ค้าตำครกนี้อย่างไร
ความเป็นไป คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องได้รับรสชาติส้มตำที่อร่อยน้อยลง เพื่อหวังให้ทุกคนมีโอกาสลิ้มรสส้มตำได้ ในดีกรีที่ลูกรับประทานได้ เเต่หากเมื่อไหร่กลายเป็นเมนูเด็ด ทำเฉพาะวัยเด็ก ทั้งนี้ หากผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์คิด SLVR เชิงกลไกมาก จะขาดความคิดเชิงองค์รวม ฉะนั้น ต้องมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บ่อยครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนสูตรอาหาร
สำหรับละครนั้น ในฐานะนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ไม่ปฏิเสธที่จะรับชม เพราะเป็นการเกิด เติบโต และเรียนรู้ของมนุษย์ ยกตัวอย่างคำโบราณ ดูละครแล้วย้อนดูตัว ซึ่งกำลังบอกให้เราทะลุบางอย่างอยู่ และถ้ามองนัยยะเช่นนี้ ย่อมเกิดคุณค่าสำหรับรายการที่พาให้รู้จักมิติด้านมืดและสว่างของความเป็นมนุษย์
“อารมณ์เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบุคลิกภาพและความเป็นคนด้วยหรือไม่ และหากเป็นส่วนหนึ่งจริงต้องมีอารมณ์ด้านมืดและสว่างหรือไม่” อาจารย์สุภาภรณ์ ตั้งคำถาม และว่า ลูกหลานนั่งชมละครร้องไห้ เพราะสงสาร อารมณ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งทางจิตวิทยาที่ต้องส่งเสริมหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องถกเถียงกัน และถือเป็นงานสร้างสรรค์ที่ท้าทายของผู้ผลิตสื่อมากขึ้น
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล อธิบายถึงจุดอ่อนของการพัฒนาเด็กว่า เด็กไม่รู้อารมณ์ของตัวเอง อะไร คือ เศร้า หรือไม่เศร้า และแปลงอารมณ์สะท้อนออกมาในรูปแบบใด ซึ่งผ่านมาไม่มีพื้นที่ในการแปลงอารมณ์เหล่านี้ออกมาด้วย ดังนั้นเราต้องช่วยเด็กโดยการสอดแทรกเนื้อหาบางอย่าง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และใช้อารมณ์ด้านบวก แทนที่จะใช้อารมณ์ด้านลบ
“เมื่อละครกลายเป็นวิถีชีวิตของคนไทย จะทำอย่างไรไม่ให้รับชมแบบหลงงมงาย วัน ๆ รับชมเรื่อย ๆ เพื่อรื่นรมย์เท่านั้น แต่ไม่เกิดกระบวนการคิดเลย ฉะนั้นต้องนำเนื้อหาในละครมาเป็นกรณีศึกษาและฝึกเหลาความคิดร่วมกัน” ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กฯ กล่าว
ขณะที่ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีเด็กไทยร้อยละ 45 ที่ประสบปัญหาจัดการตนเอง ฉะนั้นต้องผลักดันให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อ นอกจากนี้ ยิ่งเติบโตยิ่งอารมณ์เปราะ ควบคุมอารมณ์และตัดสินใจถูกผิดไม่ได้ ซึ่งการจัดเวทีเรียนรู้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอมีส่วนสำคัญเพิ่มทักษะดูแลตัวเองได้จริง อีกทั้ง อยากเห็นช่องทางเท่าทันสื่อเรียลไทม์ เมื่อมีเหตุการณ์จะต้องถกเถียงกันได้ เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม .