ทูตเดนมาร์กโชว์ตัวเลขจีดีพี โตได้เดินคู่รักษาสิ่งแวดล้อม
เอกอัครราชทูตเดนมาร์ก โชว์การพัฒนาโคเปนเฮเกน เมืองน่าอยู่ ตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2015 ย้ำชัด แม้มีโครงการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่การเจริญเติบโคทางเศรษฐกิจไม่ได้ลดลง
วันที่ 17 มีนาคม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ปฏิรูปเมือง...บนเส้นทางการปฏิรูปประเทศและการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพ ภายในงานมีการมอบรางวัลเชิดชุเกียรติ “Thailand Green Label Award รางวัลวิจัยดีเด่นกองทุนสุขภาพกับสภาวะโลกร้อน พร้อมกันนี้มีการนำเสนองานวิจัยเรื่อง เมืองเปลี่ยนร่วมเปลี่ยนเมือง, ถอดรหัสเมืองน่าอยู่ และการเพิ่มศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคณะนักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
นายไมเคิล เหมนิธิ วินเทอร์ เอกอัครราชทูตเดนมาร์ก ประจำประเทศไทย กล่าวถึงภาพอนาคตเมืองแบบที่เราต้องการโดยยกตัวอย่างการพัฒนาเมืองโคเปนเฮเกน ซึ่งถือเป็นเมืองน่าอยู่ มีประชากรอาศัยประมาณ 1.5 ล้านคน รัฐบาลเดนมาร์กได้ดำเนินหลายๆ มาตรการเพื่อให้เมืองปราศจากมลพิษ ทั้งการรักษาแม่น้ำให้ได้มาตรฐานสหภาพยุโรป การรักษาความสะอาด สร้างศูนย์รีไซเคิลชานเมือง และฟาร์มกังหันลมขนาดใหญ่ พร้อมกับตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2015 (Copenhagen – carbon neutral in 2025)
สำหรับเรื่องมลพิษทางอากาศนั้น นายไมเคิล กล่าวว่า เดนมาร์กมีมาตรการควบคุมรถยนต์ รถบรรทุกต่างๆ ที่จะวิ่งเข้ามาในตัวเมือง นอกจากนั้นมีการสนับสนุนใช้จักรยาน มีการสร้างทางด่วนจักรยานเชื่อมถนนจากชานเมืองเข้ามาในตัวเมือง เป็นต้น
เอกอัครราชทูตเดนมาร์กฯ กล่าวถึงตัวเลขจีดีพีของเดนมาร์กด้วยว่า แม้จะมีโครงการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่จีดีพีก็ยังเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าปริมาณการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศลดลง ซึ่งเดนมาร์กพิสูจน์ให้เห็นว่า การรักษาสิ่งแวดล้อมสามารถทำควบคู่ไปได้กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ด้านดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวถึงกฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทย ถือเป็นกฎหมายที่ล้าสมัยที่สุด และตามไม่ทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่รวมเร็ว รวมไปถึงไม่มีโทษปรับผู้ก่อมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อม
“ปฏิรูปเมือง ไม่ว่าจะทำด้วยวิธีใดก็ตามต้องบริหารจัดการให้ได้ จุดอ่อนประเทศไทย คือเรื่องการบริหารจัดการ เหมือนไม่มีระบบ ดูได้จากการจัดการเรื่องน้ำเน่า น้ำเสีย ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถเก็บได้ เพราะหน่วยงานราชการทำงานแยกส่วน การประปาอยู่หน่วยงานหนึ่ง เมื่อจะเก็บน้ำเสีย กลับไปอยู่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ”
ดร.สุเมธ กล่าวถึงปัญหาการจราจรกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีรถมากกว่าถนน 7 เท่า ถึงวันนี้ก็ไม่มีมาตรการมาจำกัดการใช้รถ ไม่มีระบบขนส่งมวลชลที่ดี ดังนั้น “ผมฝัน กรุงเทพฯ พ้นนรกจะกลับมาเป็นเมืองสรรค์ เป็นเมืองของนางฟ้าเสียที”
ขณะที่ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงประชากรประเทศสมาชิกอาเซียน รวมกันแล้วมีประมาณ 600 ล้านคน ร้อยละ 49 กระจายอยู่ในเขตเมือง ขณะที่ประเทศไทยมีประชากรในเมืองร้อยละ 44 คาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 52 ในอีก 5 ปีข้างหน้า สถานการณ์ดังกล่าว คือ ความไม่สมดุลในการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และระดับประเทศ
สำหรับสถานการณ์โดยรวมเรื่องสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ดร.ขวัญฤดี กล่าวว่า ปี 2557 พบว่า ที่น่าเป็นห่วง พบว่า 20 เรื่อง มีดีขึ้นเพียง 2 เรื่อง คือมีปริมาณป่าชายเลยเพิ่มขึ้น และการเพิ่มขึ้นของพลังงานทดแทน ขณะเดียวกันในประเทศอาเซียน ปัญหาเดียวที่แก้ไม่ตก คือเรื่องธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยทั่วโลกจะบอกเลยว่า ภูมิภาคนี้ธรรมาภิบาลอ่อนแอ
“มีสิ่งที่ห่วงใยมีเรื่องเดียว คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทบความหลากหลายทางชีวภาพ ความยากจน เศรษฐกิจ และความเป็นเมือง ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาลที่ปีหนึ่งๆ เสียไปกว่าแสนล้านบาท”