นักวิชาการหนุนใช้ระบบสารสนเทศเคลื่อนนโยบายการศึกษา
นักวิชาการชี้ข้อมูล-ระบบสารสนเทศ หัวใจสำคัญปฏิรูปการศึกษายุคดิจิตอลเอ็ดดูเคชั่น ย้ำเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และวางแผนอนาคตการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ“ระบบสารสนเทศเพื่อการสร้างหลักประกันโอกาสการเรียนรู้เชิงพื้นที่”เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนงานของกลไกความร่วมมือในจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ โดยผู้ร่วมประชุมประมาณ 120 คน จาก 14 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต อำนาจเจริญ สุรินทร์ ตราด ชลบุรี นครราชสีมา กระบี่ น่าน ยะลา ลำปาง สุโขทัย สุราษฏร์ธานี เชียงใหม่และพิษณุโลก
ศ.ดร.สุจินต์ จินายนอธิการบดีม.นเรศวร ประธานในที่ประชุม กล่าวว่า โลกแห่งการเรียนรู้ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็น“ดิจิตอล เอ็ดดูเคชั่น”แต่ศาสตร์ในการเรียนรู้ยังติดอยู่เฉพาะรายวิชาและขาดการบูรณาการ การใช้“ระบบสารสนเทศ”ซึ่งเป็นศาสตร์สมัยใหม่ประยุกต์ใช้ในระบบการศึกษาให้เกิดประโยชน์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดย“ข้อมูล”เป็นหัวใจสำคัญในการได้มาซึ่ง“ปัญหาเชิงพื้นที่”เพื่อเป็นกระจกสะท้อนประเด็นที่พื้นที่ต้องเร่งแก้ไขให้สอดรับกับความต้องการของจังหวัด
ด้านดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้วผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการวางแผนการเรียนต้องวิเคราะห์และมอง “ข้อมูล” จากโลกภายนอกเข้าสู่โรงเรียน เริ่มจาก 1) อัตราการจ้างงาน ซึ่งสะท้อนสิ่งที่เด็กควรเรียนรู้ 2) ทักษะที่จำเป็น เพื่อจะรู้ว่าควรพัฒนาหลักสูตรอย่างไร และ 3) ควรจัดกระบวนการสอนอย่างไร แต่ปัจจุบันโรงเรียนมักใช้โจทย์ที่เริ่มจากความหวังดีและศักยภาพที่มีอยู่ของครู โดยที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ข้อมูลจึงเป็นผู้ช่วยคนสำคัญเพื่อใช้ในการตัดสินใจและขับเคลื่อนนโยบายได้ดีที่สุด เช่น ประเทศออสเตรเรียเกิดวิกฤต “แรงงานเหมืองแร่” ล้นตลาด นักศึกษาที่จบในปี1990ได้งานเพียงร้อยละ10เนื่องจากละเลยผลวิเคราะห์จากกระทรวงแรงงานและการศึกษาธิการที่ระบุว่า ออสเตรเรียจะไม่ได้ผูกขาดการผลิตแรงงานเหมืองแร่เพียงเจ้าเดียวอีกต่อไป นักเรียน ผู้ปกครองและครูจึงพลาดโอกาสในการใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวในการวางแผนอนาคตการศึกษา
ขณะที่ดร.ไกรยส ภัทราวาทผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค.กล่าวว่า “ระบบสารสนเทศ” นี้จะไม่สร้างภาระเพิ่มให้ผู้ใช้ เพราะออกแบบให้คล้ายคลึงเอกสารที่ครูต้องบันทึกอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนจากการบันทึกในกระดาษเป็นการบันทึกในระบบออนไลน์ เช่น การเข้าเรียน ผลสัมฤทธิ์ ความถนัด และคุณลักษณะต่างๆของผู้เรียน เป็นต้น แต่มีความพิเศษกว่าตรงที่ระบบออนไลน์นี้สามารถประมวลข้อมูลที่ได้ทุกมิติ ทั้งพื้นฐานทางครอบครัว ร่างกายและข้อจำกัดต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังสามารถส่งต่อข้อมูลจากชั้นประถมศึกษาสู่มัธยมศึกษาตอนปลาย ฐานข้อมูลรายบุคคลเหล่านี้จึงช่วยผู้เรียนได้เป็นรายกรณี ซึ่งจะยังประโยชน์ต่อทีมแนะแนวของโรงเรียนในการให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนในการเลือกสาขาอาชีพ และวางแผนอนาคตทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนอาจารย์สุจิตต์ ไตรพิทักษ์กรรมการกำกับทิศทางโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ กล่าวว่า จากผลสำรวจทิศทางสังคมโลกในอีก 10 ข้างหน้า ของสสส.และTDRIพบว่า มีแนวโน้มที่ตรงกัน 5 ประการได้แก่ 1) ต้องมีการกระจายอำนาจสู่พื้นที่มากขึ้นและลดทอนอำนาจส่วนกลางลง 2) ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 32 3) ลักษณะวิถีชีวิตจะเปลี่ยนเป็นสังคมเมืองมากกว่าสังคมชนบท 4) มีการใช้เทคโนโลยีในการทำงานมากขึ้น และ 5) มีการแข่งขันกันสูงขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียน ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ให้เร็วที่สุด 2 ประการ ได้แก่ 1) กลไกในการขับเคลื่อนจังหวัดในลักษณะจิตอาสา ไม่ยึดติดกับอำนาจ 2) ระบบสารสนเทศ ที่ต้องไม่เป็นภาระและต่อยอดงานให้เกิดประโยชน์คืนกลับสู่ระบบงานเดิม
“ผมอยากให้กำลังใจคณะทำงานทุกท่านว่า เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่จะเกิดการงอกงามในพื้นที่ การเรียนรู้ครั้งนี้จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่มีใครได้หรือใครเสียทั้งหมด ก้าวต่อไปที่ควรทำร่วมกันคือ 1) ประมวลจุดแข็งของรูปแบบการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ว่าแบบใดเหมาะสมกับการขับเคลื่อนงานจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้2) กลไกจังหวัดต้องตอบโจทย์ภาระหน้าที่และมีกระบวนการทำอย่างไร และใครเป็นผู้ทำ และ 3) ควรมีการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน ซึ่งเชื่อว่า ข้อมูลและเครื่องมือที่ทาง ม.นเรศวรได้พัฒนาขึ้นครอบคลุมเครือข่ายทั้งจังหวัด ฉะนั้นการทำงานอย่าทำงานคนเดียว ต้องทำทั้งจังหวัดจึงจำสำเร็จ”