พิศ(ษ) ผู้หญิงในชีวิตของสันติวิธี
"ในยามที่เขาไปปาฐกถา ข้าพเจ้าอดรู้สึกไม่ได้ว่า ชัยวัฒน์เหมือนนักมายากลที่ผู้ชมรอดูว่า สิ่งของที่เขาจะหยิบจากหมวกนักมายากล คืออะไร จะน่าอัศจรรย์ใจเพียงไหน หากเขาทำให้ผู้ชมทึ่ง งงงวยได้ ก็เกิดคำถามต่อไปว่า ชัยวัฒน์/นักมายากลทำสิ่งนั้น/คิดอย่างที่เขาคิดได้อย่างไร"
ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนถึงศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มธ. ไว้ในหนังสือการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 14 เรื่องพิศ (ษ) ผู้หญิงในชีวิตของสันติวิธี จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สำหรับหัวใจสำคัญของปาฐกถา ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งนี้ มีคำถามหลักที่ว่า บทบาทที่โดดเด่นของผู้หญิงส่งผล อย่างไรต่อการเข้าใจชีวิตของสันติวิธี ซึ่งศ.ดร.ชัยวัฒน์ เลือกเล่นมายากล โดยแสวงหาคำตอบมาสนทนากับผู้ฟัง ด้วยชีวิตของสันติวิธีผ่านเรื่องราวชีวิตจริงของผู้หญิง 4 คน
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ เล่าเรื่องชีวิตของผู้หญิง 4 คน ซึ่งทั้ง 4 สำคัญและก็เป็นที่รู้จัก แต่กลับไม่ใช่ชื่อแรกๆ ที่ใครๆ จะนึกถึง เช่น อองซาน ซูจี หรือมาลาลา ยูซัฟไซ เมื่อคิดถึงเรื่องผู้หญิงกับสันติภาพ และสันติวิธี
คนแรก ใช้ชีวิตปฏิเสธสงคราม "Jeannette Rankin"
คนที่สอง เผชิญกับภัยร้ายแรงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ก็ต้องสู้ดินรนช่วยชีวิตผู้บริสุทธิ์ "Irena Sendler"
คนที่สาม ลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ ที่ปกแผ่คุกคามทำลายสิทธิของชนส่วนน้อยในแผ่นดินที่ถูกรัฐยึดครอง "Aminatou Haidar"
และคนสุดท้าย อุทิศชีวิตทั้งหมดของตัว เพื่อความเป็นธรรม และช่วยให้ผู้คนที่มีทุกข์ยากจนได้ต่อสู้ช่วงชิงสิทธิแห่งการเป็นพลเมืองของตนคืนมา "วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์"
ทั้ง 4 คนมาจาก 4 ทวีป อเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันออก อัฟริกาเหนือ และเอเชีย
"ผมคิดว่า สังคมไทยและอาจรวมถึงโลกด้วย ยังได้ยินเรื่องราวของผู้หญิง 4 คนนี้ น้อยเกินไป ผมเห็นว่า เรื่องราวชีวิตของทั้ง 4 คนมีความสำคัญต่อการ พิศผู้หญิงในชีวิตของสันติวิธี"
(1890-1973) โลกรู้จัก Jeannette Rankin ในฐานะสมาชิกรัฐสภาคนแรกของสหรัฐฯ ที่สำคัญเธอเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ลุกขึ้นต่อต้านการเข้าร่วมสงครามโลกของสหรัฐฯ ทั้ง 2 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 2 เพราะเธอเป็นคนเดียวในสภาที่ยืนขึ้น และออกเสียงไม่เข้าร่วมสงคราม
ผลการตัดสินใจของเธอทำให้เธอแพ้เลือกตั้งในการเลือกตั้งในปี 1918
เธอพยายามสมัครรับเลือกตั้งอีก แต่ก็ไม่ได้รับชัยชนะ จึงหันไปทำกิจกรรมทางสังคมมากมาย โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสตรี จนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาคองเกรสอีกในปี 1941 อันเป็นช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นมาได้แล้ว 2 ปี
หลังวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ฐานทัพอเมริกันที่เกาะฮาวาย-อิ ของสหรัฐ ถูกญี่ปุ่นโจมตี จนคำถาม สหรัฐฯ ควรจะเข้าร่วมรบในสงครามโลกนี้ตกไป ไม่มีการถกเถียงสาธารณะอีก ในวันที่สภาคองเกรสจะต้องลงมติเข้าร่วมสงคราม เธอพยายามลุกขึ้นอภิปราย แต่ไม่ได้รับโอกาสใดๆ กระทั่งถึงเวลา เธอถูกขานชื่อ Rankin ยืนขึ้นและกล่าวคำว่า "NO" ท่ามกลางเสียงโห่ไล่อื้ออึงในสภา
เธอประกาศชัดถ้อยชัดคำ "ในฐานะที่เป็นผู้หญิง ฉันไม่อาจเข้าร่วมสงครามได้ และฉันปฏิเสธที่จะส่งใครอื่นไปสงครามทั้งนั้น" ในวันนั้นสภาคองเกรสลงมติ 388 เสียง เป็นเสียงส่วนใหญ่เด็ดขาดเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเสียงค้านเพียงหนึ่งเดียวของผู้หญิงที่ชื่อ Jeannette Rankin
นับจากนั้นมา Rankin ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกต่อไป แต่ได้เดินทางไปทั่วโลก โดยเฉพาะไปศึกษาเรื่องสันติวิธีแบบคานธีเพิ่มเติมในอินเดีย เมื่อถึงยุคสงครามเวียดนาม เธอกลายเป็นบุคคลสำคัญในขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม
เดือนมกราคม 1968 Rankin ได้นำกองพลน้อยแร๊งกิน (Jeannette Rankin Brigade) จำนวนกว่า 5 พันคน ร่วมในการเดินขบวนครั้งใหญ่ในกรุงวอชิงตันด้วย
และเธอเสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1973 โดยเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สินที่มีเพื่อช่วยเหลือผู้หญิง และเป็นที่มาของ Jeannette Rankin Women's Scholarship Fund ในปัจจุบัน
Irena Sendler
เธอตายปี 2008 อายุ 98 ปี
ผมเล่าเรื่องนี้ ไม่ได้เริ่มที่วอร์ซอ แต่เริ่มที่แคนซัส สหรัฐฯ ปี 1999 หรือ 54 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เมื่อนักเรียนอายุ ประมาณ 14 ปี ต้องทำโครงการศึกษาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน พวกเธอได้อ่านเรื่องราวของผู้หญิงชาวโปแลนด์นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกคนหนึ่ง ซึ่งช่วยเด็กชาวยิวให้รอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้กว่า 2 พันคน
พวกเด็กๆ ค้นคว้าต่อไปและงานค้นคว้าของพวกเธอกลายเป็นละครชื่อ "ชีวิตในไห" (Life in a Jar) เพราะผู้หญิงคนนี้เก็บหลักฐานชื่อจริงของเด็กๆ ชาวยิวที่เธอช่วยได้ ไว้ในไห
ละครของเด็กชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนด์เดินทางจากแคนซัสไปแมรีแลนด์ นิวยอร์ก และที่สุดไปถึงนครวอร์ซอ โปแลนด์
ละครของพวกเด็กๆ อเมริกันทำให้โปแลนด์ค้นพบ และรู้จักผู้หญิงชาวโปแลนด์นับถือคาทอลิก ผู้ก่อวีรกรรมช่วยชีวิตเด็กชาวยิวให้รอดจากภัยนาซีกว่า 2 พันคน
ฟากยุโรป โดยเฉพาะในโปแลนด์ ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ไม่ได้คัดค้านสงครามในสภา แต่เธอกำลังสู้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ที่วอร์ซอ
วิธีที่เธอใช้ช่วยเด็กชาวยิวน่าสนใจ
Sendler ใช้วิธีการต่างๆ สารพัด เช่น นำเด็กออกมาจากโลงศพ และซ่อนไว้ในรถพยาบาล หรือแม้กระทั่งผ่านทางท่อระบายน้ำเสีย ทำสูจิบัตรปลอม ใช้ชื่อปลอมแบบอารยันแก่เด็กเหล่านั้น และนำไปฝากไว้ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าของชาวคริสต์ที่ให้ความสงสาร
ที่น่าทึ้งคือเธอเขียนชื่อจริงของเด็กๆ เหล่านั้นไว้ในขวดแล้วฝังดินไว้ เพื่อรอวันที่พวกเด็กๆ โตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะได้รู้ชื่อที่แท้จริงของเขา
Sendler ถูกตำรวจ Gestapo จับเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 1943 พวกนาซีทรมาณเธอเพื่อให้บอกที่ซ่อนของเด็กๆ ชาวยิว แต่แม้ถูกทรมานเพียงไร ถึงขั้นที่พวกนั้นจับเธอทุบขาและเท้าทั้งสองจนแตก เธอก็ไม่ได้ปริปากบอกความลับเกี่ยวกับเด็กๆ ที่เธอช่วยเอาไว้
เธอถูกตัดสินประหารชีวิต แต่เพื่อนๆ สมาชิกขององค์กร Zegota ติดสินบนทหารนาซี จนเธอสามารถหนีออกมาได้ในท้ายที่สุด โดยชื่อเธอปรากฏอยู่ในรายชื่อผู้ที่ถูกประหารไปแล้ว หลังจากหนีความตายมาได้ เธอก็ใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ เช่นเดียวกับเด็กที่เธอเคยให้การช่วยเหลือ จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เธอจึงเริ่มขุดไหที่เขียนชื่อจริงของเด็กๆ เอาไว้ และเริ่มตามหาครอบครัวของพวกเขา
ปี 2007 เธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ปีนั้นรองประธานาธิบดี Al Gore ได้รับรางวัลนี้
"ผมเห็นการกระทำของ Sendler เป็นสันติวิธี ทั้งในระดับวิธีการและเป้าหมาย แม้ว่าเธอจะไม่ได้ใช้สัจจะ เป็นหลักการกำกับวิธีไม่ใช้ความรุนแรงก็ตาม เพราะกล่าวถึงที่สุด "สี" ของสันติวิธีไม่ใช่ดำ หรือขาว แต่พร่าเลือนกว่าที่เราคิด"
Aminatou Haidar
เราพาท่านไปซาฮาราตะวันตก (Western Sahrawi) ทุกวันนี้โมร็อกโกปกครองดินแดนอยู่ ปัญหาก็คือชาวซาห์ราวี (Sahrawi) เรียกร้องสิทธิในการปกครอซางตนเองมาโดยตลอด
ผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวซาห์ราวี เธอชื่อ Aminatou Haidar ถูกเรียกว่า คานธีแห่งซาห์ราวี เพราะเธอเป็นหนึ่งในผู้ปกป้องสิทธิมนุษยนชนโดยเด่นที่สุดในซาฮาราตะวันตก เกิดที่เมือง Akka โมร๊อกโก 1966
1987 เธอเข้าร่วมกับผู้คนอีกนับร้อยในการจัดการชุมนุมอย่างสันติ เพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยนชนอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลโมร๊อกโก ที่ยึดดินแดนซาฮาราตะวันตกตั้งแต่ตุลาคม 1975 เป็นต้นมา เธอถูกสลายการชุมนุม ถูกจับ ถูกกุมขังในคุกลับ 4 ปี ถูกทรมานหลายอย่าง เช่น การช็อตด้วยไฟฟ้า การยัดปากด้วยผ้าชุบน้ำยาเคมี
จากนั้น 14 ปีต่อมา เธอร่วมประท้วงถูกตำรวจทำร้ายร่างกายบาดเจ็บที่ศีรษะ ต้องเย็บ 12 เข็ม กระดูกซี่โครงหัก 3 ซี่ ออกจากโรงพยาบาลก็ถูกจับกุมในข้อหา ปลุกปั่นยุยงและมีส่วนร่วมในการประท้วงที่ใช้ความรุนแรง
ปี 2009 หลังจากเดินทางไปรับรางวัล Civil Courage Prize ที่สหรัฐ ซึ่งมอบให้เป็นเกียรติสำหรับการต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเอง ของชาวซาห์ราวี Aminatou Haidar ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลโมร๊อกโกกักตัวไว้ที่สนามบิน EL Aaiun ในซาฮาราตะวันตก
เมื่อเธอระบุที่อยู่ ในแบบฟอร์มตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าว่า Western Sahara หรือซาฮาราตะวันตก แทนที่จะเป็น Moroccan Sahara หรือ ซาฮาราโมร๊อกโก
รัฐบาลโมร๊อกโกเสนอที่จะปล่อย Haidar หากเธอยอมรับกับสาธารณชนใน "อำนาจอธิปไตย" ที่โมร๊อกโกมีเหนือชาฮาราตะวันตก แต่เธอปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เธอถูกไม่ให้เข้าประเทศ และส่งตัวไปยังสนามบินเมืองลันซาโรเต ในหมู่เกาะคานารี ของสเปน
เธอตัดสินใจอดอาหารที่สนามบินที่สเปน การอดอาหารครั้งนั้นมีความสำคัญมาก Haidar ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย หลังจากถูกกดดันจากหลายทิศทาง
รัฐบาลสเปนจึงเสนอให้สถานะพลเมือง หรือสถานะผู้ลี้ภัยแก่ Haidar แต่เธอก็ยังปฏิเสธ หลังจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศสเปนเสนอให้เธอถือหนังสือเดินทางสเปน แต่เธอก็ปฏิเสธอีกเช่นเคย
ขณะนั้นร่างกายเธอทรุดหนัก แพทย์เข้ามาตรวจดูอาการ ระบุว่า เวลานั้นเธออาจมีชีวิตอยู่ได้เพียง 5 ชั่วโมง
กระทั่ง Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ติดต่อไปยังรัฐมนตรีต่างประเทศโมร๊อกโก เพื่อให้รีบทำตามข้อเรียกร้องของเธอ ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากลได้ส่งจดหมายถึง Ban Ki-moon เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เพื่อกระตุ้นการดำเนินการช่วยเหลือของสหประชาชาติ Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศสขณะนั้น ก็ได้เข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์อีกแรงหนึ่ง
หลังอดอาหารผ่านไป 32 วัน Haidar อาการหนักไม่สามารถกลืนของเหลวได้ เธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล วันนั้นรัฐบาลโมร๊อกโกยอมให้เธอเดินทางกลับสู่บ้านเกิดอีกครั้งหนึ่ง โดยระบุว่า เห็นด้วยกับการร้องขอของมิตรประเทศ
ปี 2012 Aminatou Haidar ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ผู้หญิงคนเดียวจากซาฮาราตะวันตกผู้นี้ไม่ได้รับรางวัล เพราะผู้ได้รางวัลนี้ในปีนั้น คือ สหภาพยุโรป
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
ผู้หญิงคนแรกๆ ที่ลุกขึ้นค้านการสร้างเขื่อนปากมูลชื่อ "แม่สมปอง" หรือสมปอง เวียงจันทร์ เล่าว่า
"เมื่อเสียงคัดค้านไม่สามารถหยุดการก่อสร้างและเสียงระเบิดได้ ต้นมีนาคม 2536 ชาวบ้านกว่า 400 คน จึงบุกเข้ายึดเครื่องมือก่อสร้าง และนอนขวางลูกระเบิด เพราะพวกเธอคิดว่า ต้องทำอะไรสักอย่าง อากาศก็หนาว ผู้ชุมนุมก็เดือดร้อนหนัก เมื่อเห็นว่า อยู่ก็ตาย กลับก็ตาย เพราะไม่มีอะไรจะกิน อีกทั้งสะเก็ดระเบิดก็กระเด็นใส่บ้านทุกวัน พวกเธอจึงตกลงกันว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มีเครื่องเจาะอยู่ 3 เครื่อง เอาผู้หญิงสักร้อยไปยึดเครื่องเจาะ น่าจะทำได้
ที่สุดพวกแม่หญิงเลยจับแขนล้อมเป็นวง ยึดเครื่องเจาะเอาไว้
อดีตกำนันรวมลูกบ้านจำนวน 100 คน มาชุมนุมสนับสนุนการสร้างเขื่อน ที่สุดก็เกิดความรุนแรงขึ้น ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านเขื่อนบาดเจ็บ 31 คน เพราะถูกทำร้าย ผลประการหนึ่งการคัดค้านเขื่อนครั้งนี้ ทำให้การสร้างเขื่อนต้องชะงักลง
แม่สมปองเล่าความรู้สึกที่ทำไมต้องทำเช่นนั้นไว้ว่า
"ตอนนั้นเจ็บปวดมาก ตั้งปฏิญาณไว้กับตัวเอง มึงเอาแม่น้ำกูไป มึงทำลายชีวิตกู กูไม่ยอมมึงแน่ จะแลกด้วยชีวิตก็ยอม แต่มึงต้องเอาแม่น้ำของพวกกูคืนมา ตอนนั้นคิดอย่างนั้นจริงๆ ทุกวันนี้ก็ยังคิดอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง"
ตอนนั้นผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่มาจากกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยที่ชาวบ้านจะไปนอนขวางระเบิด เธอเห็นว่า เสี่ยงเกินไป เพราะตอนนั้นระเบิดกำลังถูกวาง ชนวนกำลังเตรียมจะจุด
ผู้หญิงอีกคนนี้ ชื่อ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือที่ใครๆ เรียกเธอว่า "มด"
วนิดา เรียนเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ทำกิจกรรมหลายอย่าง อายุ 20 ร่วมประท้วงกับกรรมกรโรงงานยีนส์ฮาร่า เพื่อขอขึ้นค่าแรง คนงานยึดโรงงาน 5 เดือน และตัดสินใจเปิดเครื่องจักรผลิตกางเกงยีนส์ออกขายเอง จนถูกตำรวจเข้าปราบปราม สมัยม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เธอจึงไปรวมตัวกับผู้ชุมนุมที่บ้านนายกฯ เรียกร้องให้นายกฯ สัญญาว่าจะไม่ทำร้ายคนงานฮาร่า
หลังเหตุการณ์ 9 ตุลาคม 2515 เธอตัดสินใจเข้าป่าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เช่นเดียวกันนักศึกษาปัญญาชนอีกมากมาย เมื่อป่าแตกเธอกลับมาเรียนธรรมศาสตร์ในคณะรัฐศาสตร์ จนจบปริญญาตรี
เธอกล่าวถึงชีวิตของเธอว่า "ฉันเป็นนักสังคมนิยมที่ล้มเหลว ส่วนพ่อเป็นนายทุนล้มละลาย"
จากนั้นวนิดาก็ทำงานเพื่อสังคมเยอะแยะ เช่น ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ ส่งเสริมมิตรภาพไทย-ลาว สนับสนุนนักศึกษาพม่าที่ลี้ภัยในประเทศไทย หรือแม้กระทั่งคัดค้านรัฐประหารปี 2535 เมื่อรสช.ยึดอำนาจ
เธอทำงานอย่างหนักร่วมกับผู้คนที่ยากจนในประเทศ เพื่อต่อต้านคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล และทำงานร่วมกับสมัชชาคนจน จนเกิดการชุมนุม 99 วันหน้าทำเนียบรัฐบาล ในฐานที่ปรึกษาเครือข่ายสมัชชาคนจน
"ผมอ่านประวัติของวนิดา แล้วพบความยิ่งใหญ่ของสามัญชนคนธรรมดา แต่อดสงสัยไม่ได้ว่า ผู้หญิงคนนี้ที่จริงเป็นคนอย่างไร"
วิธีหนึ่งจะตอบคำถามนี้ สำหรับทุกคน คือ คนคนนั้นมองมนุษย์คนอื่นและเห็นอะไร
วนิดามองผู้คนเพื่อนมนุษย์ เช่นชาวบ้านปากมูน แล้วเห็นความทุกข์ของมนุษย์...
เธอสงสารเห็นใจผู้ได้รับทุกข์
ขณะเดียวกันเธอก็มิได้มองโลกอย่างไม่ประสีประสา แต่มองความเป็นจริงด้วยสายตาวิพากษ์คมคายบนฐานประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา
ผู้คนไม่น้อยรู้สึกว่าเธอเป็นตัวปัญหา เพราะเป็นผู้สนับสนุนการรวมตัวของประชาชน ในการต่อสู้รณรงค์เรื่องต่างๆ นักหนังสือพิมพ์จึงถามเธอว่า "มด" วนิดา คือความรุนแรง ม็อบใช่หรือเปล่า ? เธอตอบว่า "ไม่ใช่ หากพูดถึงความรุนแรงหรือเปล่า องค์กรชาวบ้านไม่เคยกำหนดตัวเองได้ ลองคิดดูว่า ชาวบ้านไม่มีอะไรในมือเลย กฎหมาย ทหาร ตำรวจ หรือเทศกิจ หรืออาวุธ ไม่ว่ากรณีใด ชาวบ้านไม่ได้สร้างความรุนแรง คุณไม่ต้องคิดว่าจะเผาหรือไม่เผาหรอก แค่นั่งคุยกันเรื่องโครงการหรือความไม่ชอบธรรมก็ถูกจับเสียแล้ว สมัยก่อนชาวบ้านปากมูนจะพูดคุยกันเรื่องเขื่อนต้องไปนั่งพูดคุยกันในทุ่ง แอบๆ กัน"
"ผมคิดว่า มรดกสันติวิธีของผู้หญิงคนนี้ลึกซึ้งและหลากหลาย
หลังการชุมนุมต่อสู้เรื่องต่างๆ กับรัฐมาหลายปี วนิดาเห็นว่า ขบวนการประชาชนที่มุ่งต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมควรยึดแนวทางของสัจจะ แนวทางของอหิงสา และแนวทางแห่งตบะหรือความอดทน
กล่าวได้ว่า แนวทางทั้งสามไม่เพียงเป็นการต่อสู้ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงสำหรับชาวบ้าน แต่ใกล้แนวทางอหิสาของคานธีเป็นอันมาก เพราะสำหรับคานธีนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสัจจะกับอหิสา เปรียบดังสองด้านของเหรียญเดียวกัน แม้คานธีจะไม่ได้กล่าวถึงความอดทนตรงๆ แต่เขาให้ความสำคัญกับการที่ผู้ใช้อหิสาต้องยอมรับความทุกข์เสียเอง
ดูเหมือนว่า ในสังคมไทย ผู้คนจำนวนหนึ่งมองหาผู้นำในแนวทางของคานธี
สำหรับผมคานธีไทยเป็นผู้หญิงชื่อ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์"
|
ทั้งหมดเป็นภาพชีวิตสันติวิธีจากเรื่องของผู้หญิง 4 คน ที่อาจารย์ชัยวัฒน์ เลือกมาเล่าในแง่หนึ่งพวกเธอเป็นผู้หญิงธรรมดา แต่ชีวิตพวกเธอน่าอัศจรรย์ "กล้าหาญ ความเอื้ออาทร การยอมเสียสละ และการให้ความสำคัญกับชีวิตแม้เพียงชีวิตเดียว"
และนี่เป็นเพียงบางช่วงบางตอนที่สำนักข่าวอิศรา ตัดทอนนำมาเสนอ ทั้งนี้ ผู้อ่านสามารถหาอ่านฉบับเต็มได้ในหนังสือ การแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้ง 14
ขอบคุณภาพประกอบ :https://www.facebook.com/Puey100?fref=ts