ชัดๆ ข้อกล่าวหา"พรเพชร-สนช."ปมตั้ง“เมีย-ลูก”ช่วยงาน เรียกเงินคืนแผ่นดิน!
"...หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวน หรือตรวจสอบพบเป็นการฝ่าฝืนหรือมีความผิดตามคำร้องนี้ ขอได้โปรดมีคำสั่งหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้มีการ “คืนเงิน” ประจำตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัว-ผู้ชำนาญการประจำตัว-ผู้ช่วยดำเนินงานของ สนช. ทั้งหมดคืนแก่แผ่นดินด้วย.."
ยังคงเป็นประเด็นที่สร้าง "ความสั่นสะเทือน" และ "รอยด่างพร้อย" ให้กับ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)" เป็นอย่างมาก สำหรับพฤติการณ์ในการแต่งตั้งเครือญาติและบุคคลใกล้ชิดเข้ามาช่วยงานในตำแหน่งต่างๆ กินเงินเดือนหลักหมื่น
ล่าสุด แม้ว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) จะมีมติให้ สนช.ที่ตั้งเครือญาติ ปรับเปลี่ยนบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งทั้งหมด หลังสังคมเกิดคำถาม และเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองและแบบอย่างแก่สภาฯ ไปแล้วก็ตาม
แต่ดูเหมือนว่าเรื่องจะยังไม่ยุติลงแค่นั้น เพราะปัจจุบันคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลตามร้องเรียนทุกราย โดยให้ดูรายละเอียดจากหลักเกณฑ์การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงาน สนช. ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อน และนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาโดยเร็วอีกครั้ง
หลังจากที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ร้องเรียนกล่าวหาสมาชิก สนช.เรื่องการแต่งตั้งเครือญาติใกล้ชิดเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิก สนช.เป็นการกระทำที่เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม และขัดต่อประกาศ สนช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานแก่สมาชิก สนช. และเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชน ได้เห็นภาพกระบวนการทำงานของ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำรายละเอียดในหนังสือร้องเรียนของ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ฉบับเต็มที่ยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ซึ่งมีรายละเอียดและข้อมูลเช่นเดียวกับที่สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอไปแล้ว มานำเสนออีกครั้ง ณ ที่นี้
--------------
เรื่อง ขอให้ไต่สวน ตรวจสอบการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและหรือการขัดหรือแย้งต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างร้ายแรง หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด
เรียน ท่านประธานและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสื่อสารมวลชนและโซเชียลมีเดียเป็นการทั่วไปว่า มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จำนวนมาก ได้เสนอชื่อบุคคลต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เข้ารับการแต่งตั้งเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” “ผู้ชำนาญการ” และ “ผู้ช่วยดำเนินงาน” ซึ่งปรากฏโดยชัดแจ้งว่า รายชื่อบุคคลที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามที่ปรากฏในสิ่งที่มาด้วยเหล่านั้น ได้เสนอชื่อบุคคลที่เป็นเครือญาติ อาทิ ภรรยา หรือบุตร หรือญาติพี่น้องของตนเข้ารับการแต่งตั้งเป็น “ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิก สนช.” “ผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิก สนช.” และ “ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิก สนช.” แล้วนั้น
การกระทำของสมาชิก สนช. ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกระทำหรือดำเนินการหรือมีพฤติกรรมเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือแสวงหาผลประโยชน์ ฯลฯ ซึ่งต้องห้ามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 และหรือประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ.2553 และเข้าข่ายเป็นการ “ทุจริตต่อหน้าที่” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม อันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 นั้น เหตุผลประการหนึ่งของการรัฐประหาร คือ พฤติการณ์และหรือการกระทำของนักการเมืองในรัฐสภาในอดีตที่ผ่านมาบางคน บางกลุ่ม บางพรรคการเมือง มีพฤติการณ์เล่นพรรคเล่นพวก โดยการสนับสนุน หรือนำบุคคลใกล้ชิด เครือญาติ ลูก เมีย พี่ น้อง ฯลฯ เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตนเองและหรือพรรคพวก จนนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมไทยมาโดยตลอด อันสะท้อนให้เห็นการไม่ยึดมั่นในหลักจริยธรรม คุณธรรม หรือหลักกฎหมาย จนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง อันนำไปสู่ความเดือดร้อนและเสียหายต่อประชาชน สาธารณชน และเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศเป็นจำนวนมากนั่นเอง
ดังนั้น การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 พร้อมกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและได้ทูลเกล้ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2557 พร้อมกำหนดให้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่เกินสองร้อยยี่สิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ ย่อมชี้ให้เห็นว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ล้วนเป็นบุคคลที่ทรงเกียรติ และเชื่อได้ว่าจะประพฤติปฏิบัติหรือกระทำการใด ๆ ที่จะไม่ฝ่าฝืนกฎหมายและหรือการขัดหรือแย้งต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อมุ่งหมายในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 บัญญัติได้อย่างครบถ้วนและสง่างาม และเชื่อว่าจะไม่มีการกระทำหรือพฤติกรรมที่นักการเมืองในอดีตได้เคยกระทำหรือเคยปฏิบัติจนนำมาสู่เสียงครหาและการติฉินนินทากันของสาธารณชน จนนำไปสู่การเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในที่สุด
ขณะเดียวกัน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายสำคัญและเร่งด่วนในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบโดยชัดแจ้งอยู่แล้ว จึงได้มีคำสั่ง คสช.ที่ 127/2557ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ และคำสั่ง คสช. ที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตามองค์ประกอบคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เพื่อดำเนินการจัดทำผลการดำเนินการและเสนอแนะความเห็นหรือกลไกในการดำเนินการที่จำเป็นในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเพื่อมีมติสั่งการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ และอื่น ๆ
แต่ทว่าเมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่งตั้งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2557 จำนวน 200 คน แต่ต่อมาลาออกจากตำแหน่ง 8 คน และได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกเพิ่มเติม 28 คนในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2557 นั้น พบว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังกล่าวจำนวนมาก ตามหนังสือแนบท้ายคำร้องนี้ กลับได้กระทำการหรือเสนอรายชื่อบุคคลให้สำนักงานวุฒิสภาแต่งตั้งหลายกรรม หลายวาระ เข้าข่ายการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและหรือการขัดหรือแย้งต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างร้ายแรง ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นตามประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2557 ประกาศเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2557 ซึ่งมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ในฐานะประธาน สนช. ลงลายมื่อชื่อกำกับนั้นพบว่า สำหรับผู้เชี่ยวชาญประจำตัว-ผู้ชำนาญการประจำตัว-ผู้ช่วยดำเนินงานของ สนช. จะต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
1)ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิก สนช.
-มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์
-สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
-มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์กับสมาชิก สนช.
2)ผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิก สนช.
-มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์
-ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
-มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายประกอบการดำเนินงานของสมาชิก สนช. ศึกษาสภาพปัญหาและข้อร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อรวบรวม จัดทำญัตติ กระทู้ถาม ข้อหารือ หรือข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.
3)ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิก สนช.
-มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
-สำเร็จการศึกษาปริญญาโทขึ้นไป หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือได้รับใบประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี หรือได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ) และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี
-มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามที่สมาชิก สนช. กำหนด
โดยทั้ง 3 ตำแหน่งจะต้องมีสัญชาติไทย เป็นผู้เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต ไม่สมประกอบ ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เป็นข้าราชการัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างของส่วนราชการในสังกัดรัฐสภา
และหากเป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องมีหนังสือยินยอมจากส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจที่ผู้สังกัดนั้น แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติงานให้แก่ สนช. คนหนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่งตามข้อ 1), 2) หรือ 3) ได้เพียงตำแหน่งเดียว และบุคคลดังกล่าวจะต้องไม่เป็นผู้ปฏิบัติงานให้แก่ สนช. คนอื่นในตำแหน่งตามข้อ 1), 2) หรือ 3) อีก
ขณะที่ในบทเฉพาะกาลตามข้อบังคับการประชุมของ สนช. พ.ศ.2557 ข้อที่ 219 ระบุว่า ให้นำข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ.2553 มาใช้บังคับเป็นการอนุโลม
โดยข้อบังคับประมวลจริยธรรมฯ พ.ศ.2553 ข้อที่ 25 ระบุว่า สมาชิกและกรรมาธิการพึงระมัดระวังการปฏิบัติงานหรือการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญประจำตัว-ผู้ปฏิบัติงาน-ที่ปรึกษา-ผู้ชำนาญการ-นักวิชาการ และเลขานุการ มิให้กระทำการใด ๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สมาชิกกรรมาธิการและวุฒิสภา
ข้อ 26 ระบุว่า สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องละเว้นจากการแสวงหาผลประโยชน์ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่และไม่กระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน และจะต้องดูแลให้คู่สมรสและบุตรของสมาชิกและกรรมาธิการปฏิบัติตามเช่นเดียวกันด้วย
ดังนั้นการที่ สนช. แต่งตั้ง “ภรรยา-บุตร-เครือญาติ” เข้ามาช่วยงาน โดยรับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนตั้งแต่ 15,000 -24,000 บาทนั้น ผู้ร้องใคร่ขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่าได้เข้ามาช่วยงานจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การ “กรอกชื่อ” ไว้เพื่อรับเงินเดือนอย่างเดียว
เพราะจากการรายงานของสื่อสารมวลชนต่าง ๆ พบว่ามี “บุตร” ของ สนช. บางรายยังคงศึกษาในระดับชั้นมหาวิทยาลัย หรืออายุอานามบางคนเพียงแค่ 20 กว่า ๆ เท่านั้น จะสามารถเข้ามาช่วยเหลืองานในสภา ซึ่งล้วนจำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ในการวิเคราะห์ข้อกฎหมาย หรือข้อร้องเรียนจากประชาชนได้อย่างไร
นอกจากนั้นตามข้อบังคับประมวลจริยธรรมฯ ระบุชัดเจนว่า สมาชิกจะต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ หรือไม่กระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน แล้วการที่ สนช. แต่งตั้ง “ภรรยา-บุตร-เครือญาติ” ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
และตามประกาศ สนช. เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลปฏิบัติงานให้ สนช. นั้น ระบุว่า หากแต่งตั้งคนใดดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยดำเนินงานแล้ว จะดำรงได้เพียงตำแหน่งเดียว แต่มี สนช. บางราย เช่น พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ แต่งตั้ง พล.ร.ต.หญิง พวงพลอย ขจิตสุวรรณ คู่สมรส ดำรงทั้ง 3 ตำแหน่ง สามารถทำได้หรือไม่ และขัดกับประกาศ สนช. ด้วยหรือไม่ อย่างไร ฯลฯ
ทั้งนี้ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามรายชื่อที่ปรากฏในเอกสารแนบท้ายคำร้องนี้ มีการกระทำหรือดำเนินการหรือมีพฤติกรรมเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือแสวงหาผลประโยชน์ ฯลฯ ซึ่งต้องห้ามตามข้อ 6(4) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 และหรือข้อ 25 และข้อ 26 แห่งประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ.2553 และเข้าข่ายเป็นการ “ทุจริตต่อหน้าที่” ตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2554 อันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยชัดแจ้ง
ผู้ร้องจึงใคร่กราบเรียนมายังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้โปรดใช้อำนาจหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามอำนาจหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2554 บัญญัติไว้ในการไต่สวน ตรวจสอบ และลงโทษหรือเอาผิดผู้ถูกร้องทั้งหมด ดังนี้
1)นายพรเพชร วิชิตชลชัย ในฐานะประธาน สนช. ผู้ลงลายมื่อชื่อในประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2557 ประกาศเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2557 และมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ดูแล มิให้ผู้ใดฝ่าฝืนในการเสนอชื่อแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัว-ผู้ชำนาญการประจำตัว-ผู้ช่วยดำเนินงานของ สนช. ในลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งการกำกับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมฯ แต่กลับละเลยเสียเอง
2)สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้งหมดที่ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำร้องฉบับนี้ที่ได้กระทำการหรือดำเนินการหรือมีพฤติกรรมเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือแสวงหาผลประโยชน์ ฯลฯ ตามข้อ 25 และข้อ 26 แห่งประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ.2553 และเข้าข่ายเป็นการ “ทุจริตต่อหน้าที่” ตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2554
3)เลขาธิการสำนักงานเลขาฯวุฒิสภาและหรือรองเลขาธิการสำนักงานเลขาฯวุฒิสภา ในฐานะผู้ที่ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัว-ผู้ชำนาญการประจำตัว-ผู้ช่วยดำเนินงานของ สนช. ในลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว และไม่เป็นไปตามประมวลจริยธรรมฯ ซึ่งต้องห้ามตามข้อ 6(4) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551
นอกจากนี้ขอได้โปรดดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 19 (7) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2554 ในการกำกับดูแลคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวอย่างเคร่งครัดด้วย เพื่อมิให้เกิดกรณีดังกล่าวอีกต่อไป
อนึ่งหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวน หรือตรวจสอบพบเป็นการฝ่าฝืนหรือมีความผิดตามคำร้องนี้ ขอได้โปรดมีคำสั่งหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้มีการ “คืนเงิน” ประจำตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัว-ผู้ชำนาญการประจำตัว-ผู้ช่วยดำเนินงานของ สนช. ทั้งหมดคืนแก่แผ่นดินด้วย
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลที่อยู่ในมือ ป.ป.ช. ซึ่งมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง ทั้งพฤติการณ์และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
จากนี้ไปก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการและวิธีการทำงานของ ป.ป.ช. ว่าจะมี "ศักยภาพ" และ "ความกล้าหาญ" เพียงพอ ที่จะทำความจริงเรื่องนี้ ให้กระจ่างต่อคนไทยทั้งประเทศได้มากน้อยเพียงใด
อ่านประกอบ :
เปิดชื่อ! สนช.กว่าครึ่งร้อยตั้ง“เมีย-ลูก-ญาติ”ช่วยงาน-เงินเดือน 1.5-2 หมื่น
ชัด ๆ คำสั่ง“ธราธร”ตั้ง “เมีย”ช่วยงานควบ 3 ตำแหน่งรับเงินเดือน 5.9 หมื่น
เผยมติวิปสนช.เห็นควรให้สมาชิกเชิญ"เมีย-ลูก-ญาติ"ออกจากตำแหน่ง ผช.
กางระเบียบ-ประมวลจริยธรรมเทียบคำพูด“พรเพชร”ปม สนช.ตั้งเมีย-ลูกช่วยงาน?