เปิดชื่อขรก.-เอกชนยกจ.บึงกาฬ! ป.ป.ช.ลุยสอบพันปมจัดซื้อสารป้องเชื้อราข้าว
เปิดละเอียดมติ ป.ป.ช. ตั้งอนุฯไต่สวน “ผู้ว่าฯบึงกาฬ-ขรก.ระดับสูง-เอกชน” เกือบยกจังหวัด 41 ราย พันจัดซื้อสารป้องกันเชื้อราในข้าวแพงเกินจริง ไฟเขียวงบ 48 ล้าน ประกาศพื้นที่โรคระบาดปลอม-ตั้ง กก.ต่อรองราคา 7 อำเภอ ฮั้วราคาเอกชน-เบิกจ่ายเงินเป็นเท็จ
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างสารป้องกันเชื้อรา (คาร์เบนดาซิมหรือแมนโดเซน) ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโรคระบาดในข้าว ในท้องที่จังหวัดบึงกาฬ
(อ่านประกอบ : ผู้ว่าฯบึงกาฬย้ายที่อยู่! หลังป.ป.ช.ตั้งอนุฯไต่สวนจัดซื้อยาปราบศัตรูพืช)
----
พฤติการณ์ในการกระทำความผิด
นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ มีประกาศจังหวัดบึงกาฬ เรื่อง ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (โรคระบาดในนาข้าว) ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 โดยประกาศแยกเป็นรายอำเภอ ทั้งที่มิได้เกิดโรคระบาด หรือเกิดความเสียหายรุนแรงจนเกษตรกรต้องการความช่วยเหลือ หรือมีภัยพิบัติฉุกเฉินจริง
วันที่ 19 กรกฎาคม 2554 นายสมพงศ์ แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง สารเคมีคาร์เบนดาซิม ประกอบด้วย นายอรรถนนท์ โนสุวรรณ ปลัดจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานกรรมการ นายเฉลิมพล เขตบุรี รักษาการเกษตรจังหวัดบึงกาฬ เป็นกรรมการ และนายปริญญา สายสุพรรณ์ รักษาการป้องกันจังหวัดบึงกาฬ เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการกำหนดราคากลางดังกล่าว กำหนดราคากลางที่ควรจัดซื้อผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช (คาร์เบนดาซิมหรือแมนโคเซน) 50% ระหว่าง 400-500 บาท/250 ซีซี หรือ 1,600-2,000 บาท/1,000 ซีซี ซึ่งมีนายสมพงศ์ เห็นชอบตามราคาที่เสนอ ทั้งที่ราคาดังกล่าวสูงเกินจริง
ต่อมาสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบึงกาฬ มีบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ถึงคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด เสนอความเห็นให้อำเภอที่เกิดสถานการณ์โรคระบาด เป็นหน่วยงานดำเนินการให้ความช่วยเหลือ จัดสรรวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ จัดซื้อสารป้องกันเชื้อรา งบประมาณช่วยเหลือทั้งสิ้น 48,300,228 บาท ซึ่งนายสมพงศ์ เห็นชอบให้ดำเนินการ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554
ระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2554 เสมียนตราอำเภอ จำนวน 7 อำเภอ ได้แก่นางเอื้อจิตร พิมพะนิตย์ เสมียนตราอำเภอศรีวิไล น.ส.สุชาดา หมื่นท้าว เสมียนตราอำเภอโซ่พิสัย นางพูนศรี ดวงปาโคตร เสมียนตราอำเภอปากคาด นางราตรี อึ้งตระกูล เสมียนตราอำเภอเซกา นางสุปราณี มิระสิงห์ เสมียนตราอำเภอเมืองบึงกาฬ และนายราเชนทร์ กมลคราม เสมียนตราอำเภอบึงโขงหลง ได้ขออนุมัติจัดซื้อสารเคมีคาร์เบนดาซิม 50% ราคา 856 บาท/500 ซีซี หรือ 1,712 บาท/1,000 ซีซี และมีการจัดทำเอกสารของผู้เสนอราคาและหลักฐานประกอบการขออนุมัติเบิกจ่ายเงินอันเป็นเท็จ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ขายได้ทำสัญญาซื้อสารเคมีคาร์เบนดาซิม 50% ราคา 856 บาท/500 ซีซี หรือ 1,712 บาท/1,000 ซีซี กับอำเภอต่าง ๆ ตามที่กำหนดราคาไว้
ในขั้นตอนการจัดซื้อสารเคมีคาร์เบนดาซิม 50% นั้น คณะกรรมการต่อรองราคาและตกลงราคาแต่ละอำเภอ จำนวน 7 อำเภอ ได้แก่
1.คณะกรรมการต่อรองราคา ตามคำสั่ง อ.ศรีวิไล ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นางจินตนา แสงทองอร่าม ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นประธานกรรมการ นายชาติชาย คีรีพันธ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ เป็นกรรมการ และนายเติม เชื้อดวงผุย เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน เป็นกรรมการ
2.คณะกรรมการต่อรองราคาและตกลงราคา ตามอำสั่งอำเภอโซ่พิสัย ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นายธีระพล ขุนพานเพิง ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นประธานกรรมการ พันจ่าเอกฐิราเชษฐ เลื่อมใส ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ) เป็นกรรมการ และนายวงศกร มองเพชร ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ) เป็นกรรมการ
3.คณะกรรมการต่อรองราคา ตามคำสั่งอำเภอปากคาด ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นายทฤษฎี วิเศษ ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นประธานกรรมการ นายสมศักดิ์ สาลี ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นกรรมการ และนายสุทิน คำเพชร ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นกรรมการ
4.คณะกรรมการต่อรองราคา ตามคำสั่งอำเภอเซกา ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นายกิตติ อึ้งตระกูล ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นประธานกรรมการ พันจ่าเอกไพฑูรย์ สายสุวรรณ ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นกรรมการ และนางประเสริฐ วรสิงห์ เจ้าหน้าที่ปกครองชำนาญงาน เป็นกรรมการ
5.คณะกรรมการต่อรองราคา ตามคำสั่งอำเภอบุ่งคล้า ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นายวิชิต มหัตกุล ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นประธานกรรมการ นายวัชรพล กมลวัชรพันธุ์ ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ) เป็นกรรมการ และนายทาดร เดโชรัมย์ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญการ เป็นกรรมการ
6.คณะกรรมการต่อรองราคา ตามคำสั่งอำเภอเมืองบึงกาฬ ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นายสุรชัย สุริยะ ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นประธานกรรมการ นายภูมินทร์ ศรีโฉม ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ) เป็นกรรมการ และนางสุวภรณ์ พลบุตร เจ้าหน้าที่ปกครองชำนาญการ เป็นกรรมการ
7.คณะกรรมการต่อรองราคาและตกลงราคา ตามคำสั่งอำเภอบึงโขงหลง ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นายขจรศักดิ์ พรมเทศ ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ) เป็นประธานกรรมการ นายราเชนทร์ กมลคราม เสมียนอำเภอบึงโขงหลง เป็นกรรมการ และนายอดิศักดิ์ คำสงค์ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญการ เป็นกรรมการ
คณะกรรมการต่อรองราคาและตกลงราคาดังกล่าว ได้จัดทำบันทึกหลักฐานการต่อรองราคาและบันทึกยืนยัน/ต่อรองราคา เสนอนายอำเภอ โดยเห็นควรอนุมัติซื้อสารป้องกันเชื้อรา (คาร์เบนดาซิม) จากผู้เสนอราคา 856 บาท/500 ซีซี หรือ 1,712 บาท/1,000 ซีซี ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง โดยที่มิได้พบหรือต่อรองราคากับผู้เสนอราคารายใดแต่อย่างใด
สำหรับนายอำเภอ จำนวน 7 อำเภอ ได้แก่ นายกรณ์ เจนศุภวงศ์ นายอำเภอศรีวิไล นายนิวัฒน์ โฆสิตาภา นายอำเภอโซ่พิสัย นายโอภาส ชูฤทธิ์ นายอำเภอปากคาด นายสาธิต ทองศรี นายอำเภอเซกา นายเปรมศักดิ์ กีรานนท์ นายอำเภอบุ่งคล้า นายชัยวัฒน์ สารสมบัติ นายอำเภอเมืองบึงกาฬ และนายกรณ์ มาตย์นอก นายอำเภอบึงโขงหลง ในฐานะประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับอำเภอ
ทราบว่ามีการระบุพื้นที่ความเสียหาย โดยไม่มีการสำรวจให้ตรงกับข้อเท็จจริง และระบุราคาสารเคมีคาร์เบนดาซิม 50% ราคา 856 บาท/500 ซีซี หรือ 1,712 บาท/1,000 ซีซี ก่อนการกำหนดราคากลาง รวมทั้งราคาที่เจ้าหน้าที่พัสดุจัดซื้อสารเคมีคาร์เบนดาซิมดังกล่าว สูงกว่าความเป็นจริง มิใช่ราคาที่ซื้อขายในท้องตลาด อีกทั้งมิได้มีการเสนอราคากันจริง
ซึ่งนายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ ในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่พิจารณาอนุมัติการจัดซื้อสารเคมีคาร์เบนดาซิม ได้ละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคา แต่กลับอนุมัติและลงนามในสัญญาซื้อขายสารเคมีคาร์เบนดาซิม
การกระทำดังกล่าวข้างต้น มี น.ส.นัติชดา สายทองคำ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.นัติชดา นายศุภชัย ศุภสรรพตระกูล หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.โชติชนิด น.ส.เพ็ญวิไล ด้านคำมี หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.เมืองเลยเพิ่มทรัพย์รุ่งเรือง และ น.ส.ศิริพร อุดมทรัพย์ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.รับทรัพย์รุ่งเรือง จ.กาฬสินธุ์ เป็นผู้สนับสนุน
โดยเหตุการณ์ทั้งหมด เกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน 2554 ถึงสิงหาคม 2554 ที่จังหวัดบึงกาฬ
ฐานความผิด
กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
สำหรับกรณีนี้ มีข้าราชการเกี่ยวข้องทั้งหมด 37 คน โดยมีข้าราชการระดับสูงอย่าง ผู้ว่าฯ-ปลัดจังหวัด รวมถึงนายอำเภอ และปลัดอำเภอหลายแห่ง ขณะที่มีเอกชนผู้เกี่ยวข้อง 4 แห่ง
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เคยเกิดกรณีคล้าย ๆ กัน คือ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดการทุจริตสอบโรงเรียนนายอำเภอ เมื่อปี 2552 ส่งผลให้ อธิบดีกรมการปกครอง และข้าราชการจำนวนกว่า 119 คน ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ให้ไล่ออกจากราชการ