11ปีอุ้มทนายสมชาย..รอลุ้นกฎหมายใหม่ - เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวน
อังคณา นีละไพจิตร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คของเธอในเช้าวันที่ 12 มีนาคม 2558 วันที่ครบ 11 ปีเต็มที่ สมชาย นีละไพจิตร สามีของเธอหายสาบสูญไป
"สมชาย นีละไพจิตร เป็นสามัญชน เป็นคนธรรมดา ที่ทำอะไรมามากมายในช่วงชีวิตของเขา สมชายไม่ใช่ 'วีรบุรุษ' ไม่ใช่ 'คนดี' ตามนิยามหรือความหมายที่บางคน บางสังคม หรือบางยุคสมัยกำหนด หลายต่อหลายครั้งที่เขารู้สึกเศร้าเสียใจในสิ่งที่ได้กระทำพลาดผิดไป คนในครอบครัวจะคุ้นชินกับภาพที่สมชายหมอบกราบ ยอมจำนน และขอการยกโทษต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นที่รักยิ่งของเขา
วันนี้ เมื่อ 11 ปีที่แล้ว สมชายถูกลักพาตัวและบังคับให้เป็นผู้สูญหายจากความอหังการ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคน
ในฐานะคนธรรมดา สิ่งเดียวที่เรายืนหยัดเรียกร้องตลอดมา คือ รัฐต้องคืนความเป็นธรรม คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้สมชายและครอบครัวของเขา รัฐต้องไม่ปิดบังความผิดของตัวเองโดยปล่อยให้วัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวลยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป"
11 นานเกินรอ...จี้เปลี่ยนตัว พงส.
วันพุธที่ 11 มี.ค.58 ก่อนวันครบรอบ 11 ปีการหายตัวไปของทนายสมชายเพียง 1 วัน อังคณาได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อทวงถามความคืบหน้าของคดีซึ่งเธอเชื่อว่าเป็นการฆาตกรรม และเจ้าหน้าที่ก็มีข้อมูลจากการสืบสวน แต่กลับไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม
"ดิฉันต้องการให้ดีเอสไอเปลี่ยนชุดพนักงานสอบสวนเดิมที่มี พ.ต.อ.นิรันดร์ อดุลยาศักดิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 เป็นหัวหน้าชุด เนื่องจากคดีไม่มีความคืบหน้าและใช้เวลาสอบสวนมานานถึง 11 ปีแล้ว ทำให้ดิฉันไม่เชื่อมั่นในการทำงาน เพราะคดีมีพยานหลักฐานจำนวนมาก หากดีเอสไอเดินหน้าทำคดีจริงจะสามารถคลี่คลายคดีได้"
อังคณา กล่าวต่อว่า ทราบมาว่าดีเอสไอไม่มีการประชุมคดีทนายสมชายมาหลายปีแล้ว พยานบางรายถูกข่มขู่ บางรายหายสาบสูญ รวมถึงจำเลยที่เป็นตำรวจ คือ พ.ต.ท.เงิน ทองสุก ก็หายตัวไประหว่างประกันตัวในชั้นอุทธรณ์
"คดีนี้หากดีเอสไอเดินหน้าทำจริง ก็น่าจะคลี่คลายได้ ที่ผ่านมาได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ (กรณีเชื่อว่ารัฐเป็นผู้กระทำให้เกิดความสูญเสีย จ่ายพร้อมผู้สูญเสียในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) เพราะเชื่อว่าเป็นกรณีที่ถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้ารัฐจริง และได้รับการคุ้มครองพยาน"
ยืนสงบนิ่งตรงจุดที่สามีถูกอุ้ม
อังคณา กล่าวด้วยว่า จากการพูดคุยกับดีเอสไอ เจ้าหน้าที่ยอมรับว่าทำคดีด้วยความยากลำบาก เพราะเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งการไม่มีศพทำให้ไม่สามารถทำเป็นคดีฆาตกรรมได้ จึงเสนอไปว่าไม่ควรยึดติดกับศพ แต่ควรเน้นตรวจสอบจากพยานหลักฐานแวดล้อม เช่น ข้อมูลการโทรศัพท์ ว่าหลังถูกนำตัวไปแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง หวังว่าถึงที่สุดแล้วจะมีการสรุปสำนวนและนำคดีขึ้นสู่ศาลได้จริงๆ
วันพฤหัสบดีที่ 12 มี.ค.58 วันครบรอบ 11 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย อังคณาได้ไปยืนแสดงสัญลักษณ์รำลึกถึงการสูญหาย ตรงจุดที่ทนายสมชายถูกอุ้มหายไป ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุริมถนนรามคำแหง ตรงข้าม สน.หัวหมาก
ย้อนรอย 11 ปีคดีอุ้ม"ทนายสมชาย"
ก่อนหายตัวไป สมชาย นีละไพจิตร เป็นทนาย และเป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ก่อนถูกลักพาตัวเป็นเพียง 1 วัน เขาได้ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหา 5 คนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในคดีปล้นปืน (คดีปล้นปืนจากค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.47)
นอกจากนั้น วันที่ทนายสมชายถูกอุ้มหาย ยังเป็นเพียง 13 วันหลังจากที่เขาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และไม่ถึงเดือนก่อนที่เขาจะหายตัวไป เขาได้ขึ้นเวทีร่วมอภิปรายปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
ทนายสมชายได้ล่ารายชื่อประชาชน 50,000 คนเพื่อให้ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ชายแดนใต้ นอกจากนั้นเขาได้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน จ.นราธิวาส 5 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและถูกซ้อมทรมาน พร้อมทั้งได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
หลังถูกอุ้มหายเมื่อ 12 มี.ค.47 ปรากฏว่าในเดือน เม.ย.47 เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายถูกจับกุมฐานเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชาย แต่เนื่องจากกฎหมายไทยไม่มีฐานความผิดกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย จึงไม่มีการตั้งข้อหาดังกล่าว และเนื่องจากไม่สามารถหาศพของทนายสมชายได้ จึงทำให้ไม่สามารถตั้งข้อหาฆาตกรรมต่อตำรวจทั้ง 5 นาย คงตั้งข้อหาเพียงปล้นทรัพย์ ใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย และกักขังหน่วงเหนี่ยว
เดือน ม.ค.49 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 ใน 5 นาย คือ พ.ต.ต.เงิน ทองสุข ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี เพราะมีพยานจำหน้าได้ว่าเป็นคนผลักทนายสมชายขึ้นรถ ส่วนตำรวจอีก 4 นายศาลยกฟ้อง และสามารถกลับเข้ารับราชการได้
วันที่ 11 มี.ค.54 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้อง พ.ต.ต.เงิน โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีประเด็นสงสัยว่าพยานจำหน้าจำเลยได้จริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ฝ่ายอังคณาได้ยื่นฎีกา แต่ พ.ต.ต.เงิน หายตัวไปอย่างเป็นปริศนาจากอุบัติเหตุโคลนถล่มที่ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ตั้งแต่เมื่อกลางเดือน ก.ย.51 ท่ามกลางความกังขาของผู้เสียหายในคดี เพราะไม่มีใครพบศพ ปัจจุบันคดีอยู่ในศาลฎีกา
ส่วนคดีฆ่าและอุ้มหาย แม้ดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ขณะที่คดีแพ่งที่ครอบครัวยื่นขอต่อศาลให้ทนายสมชายเป็นบุคคลสาบสูญ ปรากฏว่าปี 52 ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทนายสมชายเป็นบุคคลสาบสูญตามที่ร้องขอ เพื่อให้ครอบครัวสามารถจัดการทรัพย์สินได้
ลุ้นรัฐคลอดกฎหมายสกัดอุ้มฆ่า
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คดีทนายสมชายไม่คืบหน้า และไม่สามารถฟ้องอาญาฐาน "อุ้มฆ่า" หรือบังคับบุคคลให้สูญหายกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยได้ แต่ต้องใช้กฎหมายมาตราข้างเคียงเท่านั้น ก็เพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง แม้ว่าจะเข้าเป็นภาคี อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และร่วมลงนามใน อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ แล้วก็ตาม
แต่ความหวังก็ยังพอมี เมื่อกระทรวงยุติธรรมกำลังเร่งจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... เรียกสั้นๆ ว่า ร่างกฎหมายทรมานและสูญหายฯ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ก็ได้
ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาในระดับกระทรวงยุติธรรม และเปิดเวทีประชาพิจารณ์ไปเรียบร้อยแล้ว เตรียมส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนนี้ หากไม่มีปัญหา ก็จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทาน และบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการอนุวัตกฎหมายภายใน หลังจากไทยได้เข้าเป็นภาคีและร่วมลงนามในอนุสัญญาฯทั้งสองฉบับ
ที่ผ่านมาการไม่มีกฎหมายกำหนดความผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะ "อุ้มหาย" คงมีแต่เพียงบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการกักขังหน่วงเหนี่ยว และฐานความผิดข้างเคียงเท่านั้น ถือว่าไม่เพียงพอต่อการรับมือกับการกระทำความผิดในลักษณะ "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" โดยเฉพาะหากเกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐ กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ "ลอยนวล" ของผู้กระทำผิดมากมายหลายกรณี
และคดีทนายสมชายก็คือกรณีตัวอย่างอันแสนเจ็บปวด...มิใช่แค่ของอังคณาและครอบครัว แต่เป็นของสังคมไทย!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพอังคณาเดินทางไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยผู้สื่อข่าวพีพีทีวี