หนังตัวอย่าง! กองทุนพัฒนาฯสตรียุค"ยิ่งลักษณ์" จ.อุบลฯ งบรั่วไหลเพียบ
"...กลุ่มสตรีไม่ได้นำเงินกองทุนไปดำเนินการในรูปกลุ่ม จำนวน 165 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 72.37 ของโครงการประเภทเงินทุนหมุนเวียนที่ตรวจสอบทั้งหมด โดยนำเงินกองทุนไปแบ่งกันดำเนินการตามความต้องการของแต่ละคนหรือจัดซื้อวัสดุหรืออุปกรณ์ตามโครงการแล้วนำมาแบ่งกัน.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org :เป็นรายละเอียดในรายงานผลการตรวจสอบดำเนินงานโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานีของสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานี ตามแผนการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2557 ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
-------------
กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรดำเนินการภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ (คกส.) มุ่งเน้นเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้กับสตรีในการลงทุนสร้างงานสร้างรายได้ และเป็นเงินทุนส่งเสริมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสตรี การเพิ่มองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพสตรี
สำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ (สกพส.) ได้รับงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 7,120.00 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดสรรให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด(ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) ซึ่งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวนเงิน 130.00 ล้านบาท และได้รับจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนงานกองทุนจำนวนเงิน 2.27 ล้านบาท รวมงบประมาณที่ได้รับทั้งสิ้น 132.27 ล้านบาท
จากการตรวจสอบผลการดำเนินการตามโครงการ พบว่า การดำเนินกิจกรรมของโครงการยังมีปัญหาอุปสรรคที่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา หลักเกณฑ์และแนวทางของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การพิจารณาอนุมัติโครงการและการโอนเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีล่าช้ากว่าที่กำหนด
กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานีได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่1 จำนวน 20.00 ล้านบาท ครั้งที่ 2 จำนวน 110.00 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 130.00 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ (คกส.) กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด (คกส.จ.) อนุมัติโครงการที่สมาชิกเสนอขอรับการสนับสนุนและโอนเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้แก่กลุ่มสตรีครั้งแรกภายใน 28 ธันวาคม 2555
จากการตรวจสอบ ปรากฏว่า คกส.จ. ประชุมอนุมัติโครงการที่กลุ่มสตรีเสนอขอรับการสนับสนุนเงิน ครั้งแรกวันที่ 26 ธันวาคม 2555 จำนวน 93 โครงการ เป็นเงิน 3,269,561.00บาท คิดเป็นร้อยละ 16.35 ของวงเงินงวดแรกที่รับจัดสรร และโอนเงินงวดแรกให้กับกลุ่มสตรีใน
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 ล่าช้าไป 38 วัน นับจากวันที่ 28 ธันวาคม 2555 ส่งผลให้เพียงวันที่ 30 กันยายน 2556 คกส.จ. เบิกจ่ายเงินให้กลุ่มสตรีได้เพียง 73,471,579.00 บาท คิดเป็นร้อยละ 56.86 ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร 129,220,000.00 บาท (130,000,000.00 บาท – งบบริหาร780,000.00 บาท)และจากการตรวจสอบโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินกองทุน จำนวน 320 โครงการปรากฏว่า ขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการค่อนข้างมาก ได้แก่ ขั้นตอนการอนุมัติโครงการใช้ระยะเวลา 1-5 เดือน นับจากวันที่ คกส.ต. เสนอโครงการ ถึงวันที่ คกส.จ.อนุมัติโครงการ และขั้นตอนการโอนเงิน ใช้ระยะเวลา 1 – 8 เดือน นับจากวันที่ คกส.ต.รับเงินโอนจาก คกส.จ. ถึงวันที่คกส.ต. โอนเงินให้กลุ่มสตรี
สาเหตุการเบิกจ่ายเงินงวดแรกให้กับกลุ่มสตรีล่าช้ากว่าที่กำหนด เนื่องจากเป็นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาลและเป็นโครงการใหม่ สมาชิกและคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแต่ละระดับยังขาดความพร้อมเพราะต้องศึกษาระเบียบ ข้อบังคับ หนังสือสั่งการ ไปพร้อม
กับการดำเนินการของกองทุน และการประสานงานที่ขาดความต่อเนื่องและล่าช้าระหว่าง สพจ.อบ.กับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานีตั้งอยู่ที่พรรคเพื่อไทย แต่สำนักงานพัฒนาชุมชนตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีส่งผลให้กลุ่มสตรีสูญเสียโอกาสในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพื่อนำไปพัฒนาอาชีพเพิ่มรายได้ตามเจตนารมณ์ของโครงการ
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการ ดังนี้
1. กรณีหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีหลายขั้นตอนทำให้เกิดความล่าช้า ให้จัดทำแนวทางและวิธีการดำเนินการโดยกำหนดผู้รับผิดชอบและวิธีการปฏิบัติงานของแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน ตลอดจนให้กำหนดช่วงเวลาของแต่ละขั้นตอนเพื่อเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานให้สามารถควบคุมได้ทุกขั้นตอน
2. กรณีการกลั่นกรองโครงการมีความล่าช้าให้กำหนดแนวทางการกลั่นกรองโครงการให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร และประชุมชี้แจงทุกฝ่ายให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และควรมอบหมายให้ คกส.จ.แต่ละอำเภอเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองโครงการที่กลุ่มสตรีนำเสนอขอรับงบประมาณในเขตความรับผิดชอบของอำเภอนั้น โดยให้นำโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองจาก คกส.จ.แต่ละอำเภอแล้ว เสนอที่ประชุม คกส.จ.เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการ ซึ่งหากที่ประชุมมีข้อคิดเห็นหรือข้อโต้แย้งที่จะไม่อนุมัติโครงการ ให้ คกส.จ.ของอำเภอนั้นดำเนินการชี้แจงเป็นรายโครงการไป และกรณีโครงการขอรับการสนับสนุนเงินมีจำนวนมากควรกำหนดให้มีการประชุมมากกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อให้การพิจารณาโครงการและการเบิกจ่ายเงินกองทุนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
3. จัดระบบการรับ-ส่งโครงการของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานีพร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ลงรับเอกสารโครงการทุกครั้ง เพื่อป้องกันการสูญหายและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะได้นำเอกสารโครงการบันทึกข้อมูลให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน และกำชับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบให้จัดทำหนังสือแจ้งการโอนเงินให้ คกส.ต. ทราบทุกครั้งที่มีการโอนเงินเข้าบัญชี คกส.ต. เพื่อให้เป็นไปตามคู่มือกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด ตำบล ต่อไป
4. กรณีการประสานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานีกับ สพจ.อบ. ที่ขาดความต่อเนื่องและเกิดความล่าช้า เห็นควรให้กองทุนฯและ สพจ.อบ.พิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยให้พิจารณาขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติงาน การประสานงานระหว่างกัน
บุคลากร และสถานที่ตั้งกองทุนฯ หากที่ตั้งสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานีเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญในการประสานงานหรือการให้ความช่วยเหลืองานกองทุนฯ ของ สพจ.อบ.ให้พิจารณาทบทวนสถานที่ตั้งสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานีไปรวมที่ สพจ.อบ.เพื่อให้เกิดความรวดเร็วคล่องตัวและเหมาะสมในการปฏิบัติงานต่อไป
ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินการตามโครงการของกลุ่มสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ตามระเบียบกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีกำหนดให้สมาชิกที่จะขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนต้องรวมตัวกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อดำเนินการในรูปกลุ่มยื่นเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งแบบเสนอโครงการที่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายการใช้จ่ายเงินที่ชัดเจนมีผลต่อการพัฒนาอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้และสมาชิกที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน ต้องดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานโครงการที่ได้ยื่นขอรับเงินสนับสนุน โดยจะนำเงินไปใช้จ่ายในกิจกรรมนอกจากแผนงานโครงการไม่ได้
จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการประเภทเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มสตรี จำนวน228 โครงการ ปรากฏว่า
1. กลุ่มสตรีไม่ได้นำเงินกองทุนไปดำเนินการในรูปกลุ่ม จำนวน 165 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 72.37 ของโครงการประเภทเงินทุนหมุนเวียนที่ตรวจสอบทั้งหมด โดยนำเงินกองทุนไปแบ่งกันดำเนินการตามความต้องการของแต่ละคนหรือจัดซื้อวัสดุหรืออุปกรณ์ตามโครงการแล้วนำมาแบ่งกัน
2. กลุ่มสตรีไม่ได้นำเงินกองทุนไปดำเนินการภายใต้โครงการที่ขอรับการสนับสนุนไว้จำนวน 8 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 3.51 ของโครงการประเภทเงินทุนหมุนเวียนที่ตรวจสอบทั้งหมดและนำเงินกองทุนไปดำเนินการภายใต้โครงการที่ขอรับสนับสนุนบางส่วน จำนวน 46 โครงการคิดเป็นร้อยละ 20.17 ของโครงการประเภทเงินทุนหมุนเวียนที่ตรวจสอบทั้งหมด เช่น โครงการเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ หมู่ 28 ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จำนวนเงิน 90,000.00 บาท กลุ่มสตรีนำไปเลี้ยงสุกร เพียง 18,750.00 บาท และเงินที่เหลือจำนวน 52,500.00 บาท นำไปปล่อยกู้ให้กับสมาชิกกองทุนในหมู่บ้าน เป็นต้น
สาเหตุที่กลุ่มสตรีไม่ได้นำเงินกองทุนไปดำเนินการในรูปกลุ่มและไม่ได้นำเงินกองทุนไปดำเนินการภายใต้โครงการที่ขอรับการสนับสนุนไว้ เนื่องจากก่อนเข้าร่วมโครงการกลุ่มสตรีไม่ได้ประกอบอาชีพที่ดำเนินการในรูปกลุ่ม และจำนวนเงินที่ได้รับจัดสรรจากกองทุนไม่เพียงพอจะ
ดำเนินการในรูปกลุ่มหรือนำไปดำเนินการตามแผนงานโครงการที่กลุ่มสตรีขอรับการสนับสนุนได้ ส่งผลให้การดำเนินงานของกองทุนยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างงานสร้างรายได้และส่งผลให้กลุ่มสตรีไม่สามารถส่งเงินคืนกองทุนได้ตามกำหนด เป็นเงินจำนวน 670,000.00 บาท
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการดังนี้
1. กำชับและทำความเข้าใจกับ คกส.ต. และ คกส.จ. ในการพิจารณาโครงการของกลุ่มสตรี ให้พิจารณาถึงศักยภาพของกลุ่มสตรีว่าจะสามารถนำเงินทุนไปดำเนินการตามแผนงาน วัตถุประสงค์ของโครงการและดำเนินงานในรูปกลุ่มได้หรือไม่เป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการที่ต้องการให้สมาชิกมีความรับผิดชอบและทำกิจกรรมร่วมกันในรูปกลุ่ม ซึ่งหากสมาชิกต้องการทำอาชีพเป็นรายบุคคล ควรกู้เงินกองทุนอื่นที่มีการสนับสนุนแล้วภายในหมู่บ้าน เช่น กองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระหนี้สินของสมาชิกกรณีนำเงินกองทุนไปแบ่งกันรายบุคคล รวมทั้งให้พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้คืนของกลุ่มสตรีด้วย และให้นำผลการดำเนินงานของกลุ่มสตรีในงวดปีที่ผ่านมา มาประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการด้วย เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกองทุนเกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด
2. กรณี คกส.ต.ได้รับเงินทุนจากกองทุนฯ แล้ว แต่กลุ่มสตรียังไม่เปิดบัญชีธนาคารหรือทำสัญญาเงินกู้ สัญญาค้ำประกันกับ คกส.ต. เพื่อนำเงินไปดำเนินการตามแผนงานโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินไว้ ให้ คกส.ต. สอบถามกลุ่มสตรีอีกครั้งว่ายังต้องการเงินกองทุนหรือไม่ หากกลุ่มสตรียังต้องการที่นำเงินกองทุนไปดำเนินการต่อให้กลุ่มสตรีเปิดบัญชีธนาคารและทำสัญญาเงินกู้และสัญญาค้ำประกันกับ คกส.ต.ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และหากกลุ่มสตรีไม่ต้องการจะดำเนินการต่อให้ คกส.ต. นำเงินส่งคืนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานีโดยด่วน
3. กรณีที่สัญญาของกลุ่มสตรีครบกำหนดชำระแล้ว ให้เร่งรัดกลุ่มสตรีชำระหนี้โดยด่วน และให้ คกส.จ. สร้างความเข้าใจกับ คกส.ต. และกลุ่มสตรี เกี่ยวกับเงื่อนไขของการยืมเงินทุนหมุนเวียนไปดำเนินการ หลักเกณฑ์การชำระเงินคืนว่าเมื่อสัญญาการยืมเงินครบกำหนดแล้วจะมีค่าปรับ เพื่อให้กลุ่มสตรีที่ยืมเงินไปแล้วตระหนักถึงภาระค่าปรับหากไม่ส่งเงินคืนตามกำหนดสัญญา และเพื่อไม่ให้กลุ่มสตรีที่ยังไม่ได้กู้ยืมเสียโอกาสในการขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนต่อไป
ข้อตรวจพบที่ 3 การจัดทำเอกสาร รายงาน และทะเบียนต่างๆ ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไม่ครบถ้วนถูกต้องเป็นปัจจุบัน
การดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กลุ่มสตรี คกส.ต. คกส.จ. และคณะกรรมการติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด ต้องมีการจัดทำเอกสาร รายงานทะเบียนต่าง ๆ ให้ครบถ้วนถูกต้องเป็นปัจจุบัน ซึ่งจากการตรวจสอบ ปรากฏว่า
1. กลุ่มสตรี ตรวจสอบการจัดทำเอกสารและรายงานต่าง ๆ จำนวน 10 รายการ ของโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน จำนวน 320 โครงการ แยกตามประเภทเงิน ได้ดังนี้
1.1 ประเภทเงินอุดหนุน ตรวจสอบ 92 โครงการ ปรากฏว่า มีเอกสารและรายงานจำนวน 3 รายการ ที่กลุ่มสตรีดำเนินการยังไม่ครบถ้วนเป็นปัจจุบัน ได้แก่ สรุปงบหน้าแบบเสนอโครงการ จำนวน 17 โครงการ ใบสำคัญรับเงิน จำนวน 90 โครงการ และแบบรายงานผลการ
ปฏิบัติงานและการใช้จ่ายเงิน แบบ กส 3/1 จำนวน 72 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 18.48 ร้อยละ97.83 และร้อยละ 78.26 ของโครงการประเภทเงินอุดหนุนที่ตรวจสอบทั้งหมด ตามลำดับและกลุ่มสตรีมีการใช้จ่ายเงินอุดหนุนไม่เป็นไปตามคู่มือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ
กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด/กรุงเทพมหานคร จำนวน 65 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 70.65 ของโครงการประเภทเงินอุดหนุนที่ตรวจสอบทั้งหมด รวมทั้ง คกส.ต. ถอนเงินสดให้กลุ่มสตรีแทนการโอนเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 28 โครงการ คิดเป็นเงิน 1,042,548.00 บาท
1.2 ประเภทเงินทุนหมุนเวียน ตรวจสอบ 228 โครงการ ปรากฎว่า มีเอกสารและรายงาน จำนวน 3 รายการ ที่กลุ่มสตรีดำเนินการยังไม่ครบถ้วนเป็นปัจจุบัน ได้แก่ สรุปงบหน้าแบบเสนอโครงการ จำนวน 42 โครงการ ใบสำคัญรับเงิน จำนวน 217 โครงการ และแบบรายงานผลการ
ปฏิบัติงานและการใช้จ่ายเงิน แบบ กส3/2 จำนวน 211 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 18.42 ร้อยละ95.18 และร้อยละ 92.54 ของโครงการประเภทเงินทุนหมุนเวียนที่ตรวจสอบทั้งหมด ตามลำดับ
2. คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล ตรวจสอบการจัดทำเอกสารรายงาน และทะเบียนต่าง ๆ จำนวน 15 รายการ ของ คกส.ต. จำนวน 84 แห่ง ปรากฏว่า ไม่มี คกส.ต. ใดจัดทำเอกสาร รายงาน และทะเบียนต่าง ๆ ได้ครบถ้วนถูกต้องเป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรค และรายงานการเงิน ไม่มี คกส.ต.ใดดำเนินการ คิดเป็นร้อยละ 100.00ของ คกส.ต.ที่ตรวจสอบทั้งหมด
3. คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด ตรวจสอบการจัดทำเอกสาร รายงานและทะเบียนต่าง ๆ ของ คกส.จ. จำนวน 22 รายการ ปรากฏว่า คกส.จ. จัดทำเอกสาร รายงาน และทะเบียนต่าง ๆ ไม่ครบถ้วนถูกต้องเป็นปัจจุบัน จำนวน 19 รายการ แยกเป็นยังไม่ดำเนินการ 12
รายการ เช่น งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2556 งบรายได้และค่าใช้จ่าย สำหรับปีสิ้นสุด 30 กันยายน 2556 เป็นต้น ดำเนินการไม่เป็นครบถ้วนถูกต้องเป็นปัจจุบัน จำนวน 7รายการ และดำเนินการครบถ้วนเป็นปัจจุบัน จำนวน 3 รายการและเพียงวันที่ 23 มิถุนายน 2557 กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานีใช้จ่ายเงินงบบริหารกองทุนไปแล้ว จำนวน 776,850.00 บาท จากที่ได้รับจัดสรรทั้งหมด 780,000.00 บาท คงเหลือ จำนวน 3,150.00 บาท ซึ่งการใช้จ่ายงบบริหารฯบางรายการ ไม่มีหลักฐานการจ่ายให้ตรวจสอบ คิดเป็นเงินจำนวน 567,976.00 บาท หรือมีหลักฐานการจ่ายให้ตรวจสอบแต่ไม่ครบถ้วน คิดเป็นเงิน 163,719.00 บาท
4. คณะกรรมการติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด ตรวจสอบจำนวน 3 รายงาน เพียงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ปรากฏว่า คณะกรรมการติดตามฯ จัดทำรายงานการติดตามประเมินผลประจำปีงบประมาณ 2556 เสนอต่อคณะกรรมการประเมินผลแล้ว สำหรับปีงบประมาณ 2557 ยังไม่มีการติดตามประเมินผล เนื่องจากยังไม่ได้รับงบประมาณจากกองทุนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามประเมินผลสำหรับรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรค และรายงานการเงินของ คกส.ต. และคกส.จ. และรายงานผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายเงิน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานี แบบ กส 5/1 และ แบบ กส 5/2 ยังไม่เสนอต่อคณะกรรมการประเมินผล เนื่องจากกลุ่มสตรีไม่รายงานผลการดำเนินงาน และ คกส.ต. ไม่รายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และรายงานการเงิน ส่งผลให้ คกส.จ. ไม่สามารถจัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการติดตามฯ ต่อไปได้
สาเหตุที่กลุ่มสตรี คกส.ต. คกส.จ. จัดทำเอกสาร รายงาน และทะเบียนต่าง ๆ ไม่ครบถ้วนถูกต้องเป็นปัจจุบัน เนื่องจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นใหม่และเป็นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเห็นผลในระยะเวลาอันสั้น การดำเนินงานของกองทุนจึง
ดำเนินการไปพร้อมกับการศึกษาทำความเข้าใจกับระเบียบ คู่มือการปฏิบัติงาน หนังสือสั่งการต่างๆ ทำให้กลุ่มสตรี คกส.ต. และ คกส.จ. ขาดความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้องชัดเจนส่งผลให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานีขาดข้อมูลการดำเนินงานกองทุนที่ถูกต้องเป็นปัจจุบัน ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินงานแต่ละขั้นตอนได้ และไม่ทราบผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกองทุน และไม่สามารถจัดทำรายงานต่าง ๆที่ถูกต้องเสนอกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความยั่งยืนของกองทุนในอนาคตได้
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการ ดังนี้
พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี
กรณีงบบริหารของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานีไม่มีหลักฐานการจ่ายให้ตรวจสอบหรือมีแต่ไม่ครบถ้วน ให้สำนักงานพัฒนาชุมชนดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และในโอกาสต่อไปการใช้จ่ายงบบริหารของกองทุนให้ถือปฏิบัติหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ ที่ นร 0414/ว29 ลงวันที่ 6 มกราคม 2557 เรื่อง การจัดซื้อจัดจ้างของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด โดยเคร่งครัด
ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานี
1. กำชับ คกส.จ.แต่ละอำเภอ และ คกส.ต. ให้ตรวจสอบแบบเสนอโครงการและเอกสารประกอบของกลุ่มสตรีให้ครบถ้วนถูกต้องก่อนนำส่งขอรับการสนับสนุนเงิน และให้กลุ่มสตรีจัดทำเอกสารและรายงานตามที่กองทุนกำหนดโดยเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาอนุมัติ
โครงการ และ คกส.จ. จะได้จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายเงินเสนอคณะกรรมการประเมินผลต่อไป
2. กรณี คกส.ต. ถอนเงินสดให้กลุ่มสตรีแทนการโอนเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร ให้กำชับคกส.ต. และกลุ่มสตรีให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กองทุนโดยเคร่งครัดต่อไป
3. กรณีการใช้จ่ายเงินอุดหนุนแต่ไม่มีหลักฐานการจ่ายให้ตรวจสอบ ให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินอุดหนุนที่ได้อนุมัติไปแล้วทุกโครงการ โดยถือปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด/กรุงเทพมหานคร หากดำเนินการแล้วกลุ่มสตรีใดไม่มีหลักฐานการจ่ายให้ตรวจสอบให้พิจารณาเรียกเงินคืนกองทุน
4. กรณีกลุ่มสตรีใช้จ่ายเงินอุดหนุนไม่เป็นไปตามโครงการและแผนการใช้จ่ายเงินที่เสนอไว้หรือไม่เป็นตามคู่มือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ให้ชี้แจงหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินอุดหนุนให้กับกลุ่มสตรีที่จะขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนให้ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไป
5. ให้เร่งรัด คกส.ต. ทั้ง 221 ตำบล จัดทำเอกสาร ทะเบียน และรายงานต่าง ๆ ให้เป็นปัจจุบันโดยเร็ว และจัดส่งให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อที่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานีจะได้นำข้อมูลมาจัดทำทะเบียนและรายงานต่างๆ ให้ถูกต้อง เป็นปัจจุบันต่อไป
6. ให้เร่งรัดเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานีจัดทำเอกสาร ทะเบียนและรายงานต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบันโดยเร็ว รวมทั้งการจัดเก็บเอกสาร ทะเบียน และรายงานต่าง ๆ และการนำเสนองานให้เป็นระบบ เพื่อให้กองทุนสามารถดำเนินงานได้อย่างมี
ประสิทธิภาพต่อไป และกรณีระเบียบ คู่มือการปฏิบัติงาน หนังสือสั่งการต่าง ๆ ขาดความชัดเจนในการนำไปปฏิบัติ ให้ติดต่อประสานงานกับ สกพส. หรือ สพจ.อบ.
7. ควรจัดฝึกอบรมให้กับสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี คกส.ต. และ คกส.จ. อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นการทบทวนและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อกองทุนจะสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ข้อสังเกตอื่นจากการตรวจสอบ การบริหารจัดการเงินสนับสนุนการบริหารงานของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับตำบล
คกส. ได้จัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการบริหารงานของ คกส.ต. ทั้ง 25 อำเภอ 221 ตำบล จำนวน 2 ครั้ง ดังนี้
1. แจ้งตามหนังสือกรมการพัฒนาชุมชนที่ มท 0407.7/ว 0355 ลว. 4 มี.ค.2556 ให้สพจ.อบ. เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ คกส.จ. และ คกส.ต. จัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อม และสร้างความเข้าใจแก่สมาชิกในการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยจัดสรรเงินให้ คกส.จ.จำนวน 33,000.00 บาท และ คกส.ต. ๆ ละ 5,000.00 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,138,000.00บาท และให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มีนาคม 2556
จากการตรวจสอบ ปรากฏว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอจัดประชุมเป็นไปตามกำหนดเวลา ยกเว้นการส่งใช้คืนเงินยืมของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอที่ส่งใช้คืนเงินยืมหลังวันครบกำหนดในสัญญายืมเงิน จำนวน 15 อำเภอ จากทั้งหมด 25
อำเภอ เป็นเงิน 657,900.00 บาท เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงินและการนำส่งคลัง พ.ศ. 2551 หมวด 5 การเบิกจ่ายเงินยืม ข้อ 60 (3)
2. แจ้งตามหนังสือกรมการพัฒนาชุมชน ที่ มท 0407.3/ว 0981 ลงวันที่ 11 มิถุนายน2556 เป็นค่าวัสดุสำนักงานและค่าใช้จ่ายประสานงานของ คกส.ต. ๆ ละ 5,000.00 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,105,000.00 บาท โดยให้สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ยืมเงินและรวบรวมหลักฐานการใช้จ่ายเงิน ส่งให้ สพจ.อบ. ภายใน 20 สิงหาคม 2556
จากการตรวจสอบ ปรากฏว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอส่งหลักฐานการจ่ายให้สพจ.อบ. หลังวันที่ 20 สิงหาคม 2556 จำนวน 11 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอ และส่งใช้คืนเงินยืมหลังวันครบกำหนดในสัญญายืมเงิน จำนวน 6 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอ เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงินและการนำส่งคลัง พ.ศ. 2551 หมวด 5การเบิกจ่ายเงินยืม ข้อ 60 (3)
และจากการสัมภาษณ์ คกส.ต.ทั้ง 84 ตำบล มีความเห็นตรงกันว่าค่าใช้จ่ายในการประสานงานของ คกส.ต.ไม่เพียงพอ เนื่องจากต้องนำเงินที่ได้รับจัดสรรบางส่วนหรือทั้งหมดไปจัดซื้อวัสดุสำนักงานซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเริ่มดำเนินงานกองทุนใหม่ ทำให้ คกส.ต. ต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการประสานงานเอง ส่งผลให้ คกส.ต. ขาดแรงจูงใจ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการ ดังนี้
พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี
กรณีการส่งใช้คืนเงินยืมที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ ในโอกาสต่อไปให้พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี กำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบถือปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อทางราชการ และให้พิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีกับผู้รับผิดชอบ
กรณีดังกล่าวต่อไป
ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานี
กรณีค่าใช้จ่ายวัสดุสำนักงานและค่าใช้จ่ายในการประสานงานของ คกส.ต. ไม่เพียงพอ ให้คกส.จ.พิจารณาการจัดทำกรอบการใช้จ่ายดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ ที่ สกพส. (ยศ.น.) ว 170ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2557 เพื่อจัดสรรสนับสนุนการบริหารงานของ คกส.ต. (ในวงเงินที่จัดสรรไว้ร้อยละ 30) ให้มีความชัดเจน โดยให้นำความเห็นของ คกส.ต. มาประกอบการจัดทำกรอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระต่อ คกส.ต. ต่อไป