30 ก.ย. นี้ จะเป็นวันชี้ชะตาโว่า “แผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก” ที่ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นั้น คำตอบจะออกหัวหรือก้อย ซึ่งที่ผ่านมามีข่าวว่า ได้ออกคำสั่งชะลอนโยบายเอาไว้ และจะไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีหนังสือจากทางเขตพื้นที่การศึกษา สั่งการให้มียุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ตลอดเวลา
ทางโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่ง จึงลุกขึ้นมาจัดการเรียนการสอนในชุมชนเองโดยใช้องค์ความรู้
และการระดมทรัพยากรจากท้องถิ่น โดยไม่รอคำตอบจากกระทรวงฯ
ห้วยหินลาดนอก : โรงเรียนเล็กในป่าใหญ่
ทุกๆ เช้าตรู่ เด็กจำนวน 5 คน จากบ้านห้วยหินลาดนอก ต้องเดินทางไปเรียนหนังสือที่บ้านป่าตึงซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปกว่า 4 กิโลเมตร การเดินเท้าที่กินระยะเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง หมายความว่า หากเด็กๆ ต้องการไปถึงโรงเรียนก่อนเวลาเคารพธงชาติ 8 โมงเช้า พวกเขาจะต้องสตาร์ทฝีเท้าตั้งแต่ 6 โมง และตื่นนอนตั้งแต่ ตี 5
เสียงของ คำเจ๊ก จอเตะ สมาชิกอบต.บ้านห้วยหินลาด เล่าว่า การเดินทางขึ้นเขาลงห้วย ในระยะทาง 4 กม. ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเจอกับปัญหาสารพัน ทั้งยามฝนตก ถนนลื่นเป็นหลุมเป็นบ่อ เสี่ยงกับภาวะน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม หรือกิ่งไม้หักโค่นระหว่างทางเดิน จึงเป็นเรื่องห่วงความปลอดภัยลูกหลาน เพราะมีหลายครั้งที่ฝนตกระหว่างทาง เด็กๆ ต้องหันหลังกลับบ้านแทนการไปเรียนหนังสือ ด้วยสภาพที่เปียกปอน
“เคยเอารถกระบะขับไปรับ-ส่งนักเรียนเหมือนกัน แต่ทำได้แค่เดือนเดียวก็ต้องหยุด” คำเจ๊ก เล่า
ด้วยความเป็นห่วงลูกหลาน อบต. คำเจ๊ก ลงทุนควักกระเป๋าตนเองเป็นค่าน้ำมันรถ คอยรับ-ส่งเด็กนักเรียนอยู่พักใหญ่ แต่ด้วยราคาน้ำมันที่สูงกว่าพื้นราบ แตะลิตรละ 52 บาท กับรายได้หลักที่มาจากการขายข้าวโพดรายปี และเงินเดือนสมาชิกอบต.อันน้อยนิด ทำให้แบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว
ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ชาวบ้านไม่อยากให้ควบรวมโรงเรียน คือความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ชาวบ้านป่าตึงเป็นลีซอ ในขณะที่บ้านห้วยหินลาดนอก เป็นปาเกอะญอ จึงเกิดปัญหากระทบกระทั่งกัน อันเนื่องมาจากความเชื่อ และวิถีชีวิตที่แตกต่าง เช่นแนวคิดการจัดการป่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนเกรงว่าอาจจะเกิดความขัดแย้ง และส่งผลกระทบต่อลูกหลานในอนาคต
นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ชุมชนบ้านห้วยหินลาดนอก ได้ยื่นหนังสือขอจัดตั้งโรงเรียนในหมู่บ้านกับทางเขตการศึกษาไปแล้วรวม 4 ครั้ง แต่ได้รับคำตอบว่า ชุมชนไม่มีความพร้อม ทั้งอาคารสถานที่ และระยะทาง ซึ่งควรห่างจากโรงเรียนข้างเคียง 6 กม. เป็นอย่างน้อย และหากจะขอเป็นโรงเรียนสาขาของบ้านห้วยหินลาดใน ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ทางเขตฯ แจ้งมาว่า ไม่มีบุคลากรมาเพิ่ม
ชาวบ้านจึงตัดสินใจเปิดโรงเรียนบ้านห้วยหินลาดนอก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือของคนชุมชน แม้จะมีนักเรียนเพียง 7 คน (อนุบาล 3 ประถม 4 คน) สวนกระแสการยุบโรงเรียนขนาดเล็กของรัฐบาล ที่ต้องการยุบโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน ภายในปีนี้
เพื่อให้เยาวชนในหมู่บ้าน ได้การเรียนรู้สืบทอดความรู้ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของ ชาวปาเกอะญอ “โรงเรียนชุมชน” แห่งนี้ จึงจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต โดยใช้หลักการที่ว่า แม้โรงเรียนจะเล็ก แต่ห้องเรียนนั้นกว้างใหญ่ เช่น สอนการทำนาที่ให้เด็กฝึกเรียนรู้การทำนาจริง การสีข้าว การจัดการป่า ทำแนวกันไฟ และการใช้ยาสมุนไพร เพื่อให้เด็กได้นำไปใช้ในอนาคต
ครูอาสา วิถีแห่งครูของชุมชน
ชรินทร์ มหายศยันท์ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไร่น้ำหิน ต.สถาน อ.นาน้อย จ.น่าน เล่าว่า โรงเรียนแห่งนี้เคยถูกควบรวมกับโรงเรียนบ้านนา ที่อยู่ห่างออกไปถึง 11 กิโลเมตร เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ต้อนรับการเปิดเทอมใหม่ของเด็กๆ ในหมู่บ้าน
หนังสือคำสั่งจากทางการ เดินทางมาถึงโรงเรียนก่อนวันเปิดเทอมเพียง 5 วัน ผู้ปกครองเล่าว่า ต่างก็ตั้งตัวไม่ติด เด็กนักเรียน 14 คน ต้องเดินทางออกจากหมู่บ้านแต่เช้าตรู่ เพื่อไปโรงเรียนให้ทันเวลา ทำให้ไม่มีโอกาสได้ช่วยเหลืองานพ่อแม่ อันเป็นวิถีชีวิตของคนชนบท
“เด็กๆ ต้องตื่นเช้ากว่าปกติ ส่วนถนนหนทางก็เป็นหลุมเป็นบ่อ ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางของลูกหลานเพิ่มขึ้น แม้รัฐบาลให้งบค่าเดินทางมา วันละ 10 บาท ต่อวัน ต่อคน แต่ก็ไม่เพียงพอเพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง” รักษาการผู้อำนวยการฯ สะท้อนปัญหา
เป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน 10 วัน เมื่อชาวบ้านไม่อาจแบกรับภาระได้ จึงรวมตัวกันเรียกร้อง ให้ย้ายกลับคืนมาที่โรงเรียนบ้านไร่น้ำหินเหมือนเดิม แม้ว่าเศรษฐกิจชุมชนจะค่อนข้างฝืดเคือง แต่ชุมชนก็เต็มใจที่จะจ้างครูอาสา เดือนละ 4 พันบาท จากการเรี่ยไรเงินของผู้ปกครอง แม้จะเป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นกว่าเดือนละ 300 บาท แต่ยังถือว่าคุ้มหากเทียบกับการปล่อยให้ลูกหลานออกไปเสี่ยงอันตรายไกลหูไกลตา
“เราต้องช่วยตนเองก่อน เพราะแนวโน้มที่รัฐบาลจะช่วยเหลือเรามีน้อยมาก และชาวบ้าน ต้องการให้เกิดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน โดยใช้หลักการ บวร หรือ บ้าน-วัด - โรงเรียน เพื่อให้ลูกหลานมีจิตสำนึกรักษ์ชุมชน”
ศฤงคาร เรืองการินทร์ ครูอาสาโรงเรียนดังกล่าว เล่าว่า ที่โรงเรียนมีครูเพียง 3 คน รวมผู้บริหาร อีกคนเป็นครูราชการ ส่วนเขาเป็นครูที่ชาวบ้านออกเงินจ้างกันเอง บอกเล่าการเรียนการสอนในโรงเรียนว่า ส่วนใหญ่ที่นี่จะใช้สื่อการสอนจากโทรทัศน์ทางไกลจากโรงเรียนไกลกังวลเป็นหลัก ซึ่งเด็กๆ ก็ชอบ เพราะสอนสนุก นอกจากนี้ยังให้ใบงานและเน้นการเรียนการสอนผ่านกิจกรรม
ส่วนปัญหาในตอนนี้ ยังมีเรื่องอุปกรณ์สื่อการสอน อย่างทีวี กำลังหมดสภาพ เป็นอุปสรรคในการเรียนการสอน ขณะที่งบประมาณในโรงเรียนมีจำกัดไม่สามารถจัดซื้อได้
“ที่น่าห่วงคือ ในปีหน้าจะมีนักเรียนจบการศึกษา 8 คน และรับเพิ่มอีก 2 คน จะเหลือนักเรียนไม่ถึง 10 คน น่าเป็นห่วงอนาคตทางการศึกษาของนักเรียน” ครูอาสา กล่าว
โรงเรียนเล็ก จัดการตนเอง
ถัดมาในตัวเมืองน่าน ยังมีโรงเรียนประจำตำบลนาซาว ที่แม้จะมีนักเรียนเพียง 39 คน แต่ถือว่า มีการบริหารจัดการที่ดีไม่แพ้้โรงเรียนขนาดใหญ่และถ้าจะเอาไม้บรรทัดการศึกษา หรือ ผลสอบโอเน็ต มาวัด คุณภาพโรงเรียน ก็ถือว่าโรงเรียนแห่งนี้ ผ่านการประเมิน ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียน อาจารย์สมบูรณ์ ยังให้ข้อมูลว่า
“ผลการสอบวัดระดับมาตรฐานโรงเรียนประถมใน จ. น่าน 10 อันดับแรก เป็นของโรงเรียนขนาดเล็ก 8 โรง แล้วอย่างนี้ จะว่าโรงเรียนเล็ก ไม่มีประสิทธิภาพทั้งหมดไม่ได้”
แม้จะเป็นชุมชนขนาดเล็ก แต่น้ำใจชาวบ้านที่นี่ ไม่ได้เล็กตาม ผู้บริหารโรงเรียนเล่าว่า เมื่อใดที่ร้องขอให้ชุมชนมาช่วยเหลืองานโรงเรียน ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแข็งขัน
ส่วนงบประมาณที่รัฐบาลให้เป็นรายหัวนั้น อ.สมบูรณ์บอกว่า แทบไม่พอ แต่งบประมาณที่นำมาพัฒนาโรงเรียนส่วนใหญ่ มาจากภายนอกด้วย เช่น จัดระดมทอดผ้าป่าการศึกษา งบจากแปรญัตติจากสส. งบจากการประกวดโรงเรียนดีประจำตำบล และงบอื่นๆ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ช่วยครู ซึ่งเป็นชาวบ้านที่มีจิตอาสามาช่วยดูแลลูกหลานอีกทางหนึ่ง
ส่วนการเรียนการสอน เน้นการถ่ายทอดสดจากโรงเรียนไกลกังวล เป็นวิชาการ นอกจากนี้ยังนิมนต์พระสอนศีลธรรม ครูท้องถิ่นมาสอนองค์ความรู้ทักษะชีวิต เช่นการปลูกพืชสมุนไพร การทำน้ำยาอเนกประสงค์ และงานฝีมือต่างๆ
ระหว่างรอความชัดเจนของนโยบายยุบโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนนาซาวกล่าวว่า จะยังคงเปิดการเรียนการสอน เช่นนี้ต่อไป และจะคัดค้านการยุบโรงเรียนให้ถึงที่สุด และฝากทิ้งท้ายให้กับชุมชนที่กำลังประสบชะตากรรมเดียวกันว่า
“ปัญหาของโรงเรียน อยู่ที่ชุมชนต้องร่วมมือกัน เพราะครูมาอยู่แล้วเขาก็ไป แต่ชุมชนจะต้องอยู่ต่อไป”
ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นการนำร่อง แผนการจัดการโรงเรียนเล็ก ที่เน้นย้ำว่า เรื่องของชุมชน ควรให้ชุมชนเป็นผู้กำหนด ส่วนรัฐมีหน้านที่สนับหนุน ไม่ใช่มาขีดเส้น และการวัดคุณภาพทางการศึกษา ควรวัดที่ทักษะการใช้ชีวิต การรู้จักรากเหง้าทางวัฒนธรรมตนเอง มากกว่าความรู้ในตำรา