คำถามถึงมืออาชีพสื่อกับสารพัดเว็บข่าวใหม่ ทำไมโดนใจต้องแชร์!
“…ต้องแยกระหว่างเว็บที่เป็นเว็บเฉพาะกิจและเว็บสำนักข่าวหลัก แต่ในภาพรวมคนจะมองว่าองค์กรสื่อ ทุกวันนี้ค่อนข้างเบลอ เพราะสื่อหลักก็ลงไปเล่นข่าวแบบนี้บ้าง ในด้านปัญหาจริยธรรม สื่อถูกตั้งคำถามมากขึ้น มืออาชีพกับมือสมัครเล่นแยกกันไม่ได้ ทำให้คนมองภาพรวมของวิชาชีพสื่อไม่ค่อยดี…”
ถ้าสังเกตดูปัจจุบันมีหลายเว็บไซต์ข่าวที่ถูกนำมาแชร์กันสนั่นโลกออนไลน์ !
ไม่ว่าจะเป็นของสื่อกระแสหลัก หรือสื่อกระแสรอง ก็ตามที เนื่องจากขณะนี้สื่อออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลกับสังคมไทยค่อนข้างมาก จนอาจเรียกได้ว่า “สมาร์ทโฟน” นั้นถือเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายไปแล้ว
และเร็ว ๆ นี้ พบว่า มีกระแสเว็บไซต์ข่าวที่กำลังมาแรงอยู่หลายแห่ง ที่มีคนในโลกออนไลน์นำไปแชร์กันอย่างเอิกเกริก เช่น
เว็บไซต์เพชรมายา , โอ้โหซ่าส์ ดอท คอม , คิดดู , หมีขาว มีข่าวมาเล่าให้ฟัง , สำนักข่าวแมวเหมียว เป็นต้น
ทำไมเว็บไซต์เหล่านี้ถึงดังขึ้นมาได้ โดยใช้ระยะเวลาไม่นาน ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบเนื้อหาของเว็บไซต์ข้างต้น พบว่า แม้ชื่อจะแตกต่างกัน แต่รายละเอียดปลีกย่อยภายในเว็บเหล่านั้น กลับคล้ายคลึงกันแบบแทบถอดพิมพ์เดียวกันมา !
โดยเว็บไซต์เหล่านี้มักจับกระแสนำคลิปวีดีโอ หรือข่าวที่เน้นสนุกสนานผ่อนคลายมา “เขียนใหม่” โดยดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ยอดฮิตของต่างประเทศคือ “Buzzfeed”
สำหรับ Buzzfeed เป็นเว็บไซต์รวมข่าวกระแสไร้สาระที่เน้นปั่น “ยอดวิว” ของเมืองนอก ที่ผู้คนในหลากหลายต่างประเทศให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก เห็นได้จากมียอดกดถูกใจในแฟนเพจเฟซบุ๊กกว่า 4 ล้านคน
และ Buzzfeed นี้เองก็นำข่าวและบทความจากเว็บต่างๆมาลงเช่นกัน ไม่ว่าจะคัดลอกมาจากเว็บไซต์ของสำนักข่าวต่างๆ หรือแม้แต่เรื่องที่มีการแชร์กันในโซเชียลเน็ตเวิร์คหรือเว็บบอร์ดต่างๆ
ทำให้เกิดข้อสงสัยที่ว่า ในปัจจุบันนี้ผู้คนเลือกที่จะเสพข่าวที่เป็นกระแสในโลกออนไลน์ไม่ว่าจะมีสาระและข้อเท็จจริง มากกว่าที่จะเสพจากสื่อหลักที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าเมื่อก่อน
โดยต้นตอของข่าวลือตามโลกออนไลน์ต่างๆบางครั้งก็มาจากการที่เว็ปข่าวกระแสใหม่ๆในไทยลอกข่าวและบทความมาลงโดยที่ไม่มีการตรวจสอบถึงที่มาและข้อเท็จจริง ซึ่งถือว่าเป็นข่าวมักข่าวของคนที่นำข่าวมาลงโดยไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาและที่มา
กรณีนี้ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย และนักวิชาการด้านสื่อออนไลน์ อธิบายว่า ต้องดูก่อนว่าเว็บไซต์สื่อเหล่านั้นเป็นเว็บไซต์รูปแบบไหน เป็นเว็บไซต์เฉพาะกิจหรือว่าเว็บไซต์หลักของสำนักข่าว และต้องดูตามความเหมาะสมด้วยว่าจุดประสงค์ของเว็บไซต์เหล่านั้นคืออะไร
“ซึ่งโดยปกติแล้วนักข่าวหรือคนทำเว็บไซต์เหล่านั้นไม่ได้เป็นผู้เขียนหรือหาข่าวเอง แต่จะหยิบเอาเรื่องราวในโลกออนไลน์มาใช้ ซึ่งก็อาจจะทำให้ดูไม่มีความน่าเชื่อถือ”
ส่วนสาเหตุที่เว็บไซต์เหล่านี้ได้รับความนิยมค่อนข้างมากนั้น ดร.มานะ ระบุว่า เพราะว่ามีเนื้อหาที่ตรงใจ มีวิธีดึงเข้าเรื่องที่น่าสนใจ โดยการใช้พาดหัวที่ไม่เหมือนการเขียนข่าวทั่วไปที่จะเป็นการนำเนื้อข่าวมาสรุป แต่การเขียนพาดหัวของเว็บเหล่านี้จะเป็นการเขียนแบบทิ้งไว้เพื่อให้อยากรู้ เพราะต้องการที่จะเพิ่มยอดวิวให้กับเว็บไซต์
“ต้องแยกระหว่างเว็บที่เป็นเว็บเฉพาะกิจและเว็บสำนักข่าวหลัก แต่ในภาพรวมคนจะมองว่าองค์กรสื่อ ทุกวันนี้ค่อนข้างเบลอ เพราะสื่อหลักก็ลงไปเล่นข่าวแบบนี้บ้าง ในด้านปัญหาจริยธรรม สื่อถูกตั้งคำถามมากขึ้น มืออาชีพกับมือสมัครเล่นแยกกันไม่ได้ ทำให้คนมองภาพรวมของวิชาชีพสื่อไม่ค่อยดี” ดร.มานะ ทิ้งท้าย
ดังนั้น ใครที่เสพย์ข้อมูลจากสื่อทำนองนี้ ก็ต้องใช้วิจารณญาณให้ดี ก่อนที่จะปักใจเชื่อ
มิฉะนั้นอาจพลาดพลั้งตกเป็นหนึ่งใน “ยอดวิว” ที่ถูกปั่นเป็นกระแสเพื่อขายโฆษณา
หรือตกเป็น “เหยื่อ” จากบรรดาข่าวลือทั้งหลายอีก !