บสย.ผนึก สวทช. ส่งเสริม SMEs กลุ่มนวัตกรรม หนุนใช้เทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจ
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม จับมือ สวทช. เชื่อมโยงจุดแข็ง 2 หน่วยงานรัฐ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต่อยอดธุรกิจ เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน
นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
โครงการความร่วมมือครั้งนี้ แสดงถึงการประสานการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐในมิติใหม่ ตอบสนองแผนงานรัฐ อย่างรวดเร็ว และมุ่งประโยชน์สูงสุดสู่กลุ่มเป้าหมายเดียวกัน คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs โดยมี บสย. ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อ ถ่ายทอดโนว์ฮาวด้านการค้ำประกัน เอื้อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการ SMEs อาทิ เมื่อปีที่ผ่านมา บสย. ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานด้านค้ำประกัน จากสาธารณรัฐเกาหลี(เกาหลีใต้) มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการต่อไป เช่น การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งถือเป็นโนฮาวด์ ใหม่ในประเทศไทย
“ผู้ประกอบการ SMEs เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ ของระบบเศรษฐกิจไทย ด้วยสัดส่วนถึง 37.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือ GDP หรือคิดเป็นมูลค่า 4.5 ล้านล้าน บาท ขณะที่สินเชื่อ SMEs คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 36% ของสินเชื่อรวม ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อ SMEs ยังมียอดคงค้างราว 4.4 ล้านล้านบาท ดังนั้นการเติบโตของ SMEs จึงเป็นกลไกการขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ความร่วมมือครั้งนี้ บสย. มั่นใจว่า จะก่อเกิดประโยชน์ในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน“ นายญาณศักดิ์ กล่าว
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า สำหรับโครงการความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือครอบคลุมเรื่องต่างๆ ดังนี้
1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดย บสย. ได้นำเสนอโครงการค้ำประกันเพื่อผู้ประกอบการนวัตกรรมและเทคโนโลยี วงเงินค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยกระทรวงการคลัง
2. เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดกลไกและความร่วมมืออื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ระบบค้ำประกันสินเชื่อ การสนับสนุนทางการเงิน การร่วมลงทุน ระบบการประเมินมูลค่าเทคโนโลยี และอื่นๆ ที่จำเป็น
3. เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือในโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ หรือโครงการศึกษาวิจัยเพื่อผู้ประกอบการ SMEs ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับต่างประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ประกอบการ SMEs หน่วยงานและประเทศชาติโดยรวม
4. เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs ที่มี เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำความโดดเด่นของทั้ง 2 หน่วยงาน มาสานต่อภารกิจที่ตอบโจทย์ของประเทศ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการต่อยอดทางธุรกิจเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ
บทบาทของ สวทช. จะทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้ได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งคัดกรองผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น
นอกจากนี้ อาจมีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง 2 หน่วยงาน เนื่องจาก สวทช. มีหน่วยงานให้บริการและสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงการลงทุนต่างๆ เช่น การสนับสนุนการบ่มเพาะผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ โดยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาและฝึกอบรมทางธุรกิจ รวมถึงการหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้แก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อการค้นคว้า วิจัยและพัฒนา หรือเพื่อใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต ตลอดจนการให้บริการสนับสนุนทางการเงิน อาทิ กลไกการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคเอกชน และการรับรองโครงการวิจัยและพัฒนา เพื่อหักลดหย่อนภาษี โดยผู้ประกอบการสามารถหักค่าใช้จ่ายสำหรับการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมได้เป็น 3 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง เป็นต้น