มูลนิธิโครงการตำราฯ รำลึก 99 ปี ดร.ป๋วย เปิดตัว อี-ไลบรารี่ เข้าถึงข้อมูลฟรี
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ จัดรำลึก 99 ปี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดตัวเว็บ อี-ไลบรารี่ หวัง ปชช.เข้าถึงข้อมูลดิจิทัลฟรี
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คลังหนังสือเเละเอกสารดิจิทัล จัดเปิดตัวเว็บไซต์ อี-ไลบรารี่ ในงานแถลงข่าวรำลึก 99 ปี ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ มอบให้เป็นสาธารณสมบัติเเก่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลฟรี ณ โถงทางเข้าหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แผนกิจกรรมโครงการรำลึก 100 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ศ.ดร.ป๋วย เป็นสามัญชนที่ไม่ธรรมดา ท่านเป็นครูสอนหนังสือ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นวีรชน เป็นนักพัฒนา เป็นข้าราชการ และที่สำคัญคือเป็นนักมนุษยธรรม ดังนั้นความสนใจและผลงานของท่านจึงมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่วิชา ‘เศรษฐศาสตร’ หรือพรมแดนทาง ‘ภูมิศาสตร์’ เพียงแค่แผนที่ประเทศไทย/ขวานทอง และงานวิชาการไม่เพียงขยายครอบคลุม 'สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์' แต่ยังก้าวข้ามไปสู่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก้าวข้ามไปสู่ความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะให้วิชาการสร้างสันติประชาธรรมขึ้นมาให้จงได้
“เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันจัดงานรำลึก 99 ปี สู่ 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขึ้นเพื่อสดุดีและประกาศเกียรติคุณนักวิชาการที่มีผลงานทางวิชาการอันดีเด่นและมีความรับผิดชอบต่อสังคม” กรรมการและเลขานุการมูลนิธิฯ กล่าว และว่า งานดังกล่าวจะช่วยให้เห็นความรอบรู้ ความสนใจ และความกว้างขวางทางวิชาการ ทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็นตัวตนที่แท้จริง ของอาจารย์ป๋วย ผู้เป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญคนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย
ด้านผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิโครงการตำราฯ กล่าวว่า มูลนิธิโครงการตำราฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2509 ในพื้นที่ 8 แห่งของไทย และ 5 แห่ง อยู่ในกรุงเทพมหานคร อีก 3 แห่งเพิ่งก่อตั้งที่ จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น และมหาวิทยาสงขลานครินทร์ ทั้ง 8 แห่งนั้นผลิตจำนวนของผู้ที่สำเร็จสัมพันธ์ไมตรี 3 หมื่นคน ในจำนวนประชากร 30 ล้านคน
ทั้งนี้ การจัดทำหนังสือ การรวมเอกสาร ตำราต่าง ๆ นั้นมีน้อยมาก ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุเหตุผลเพราะคนที่เป็นอาจารย์ส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย คือ ข้าราชการประจำ เป็นราชการมาจากสายมหาดไทยซึ่งวิธีการเรียนการสอน คือ เปิดตำราแล้วก็สั่งให้นักศึกษาเปิดไปที่หน้าต่าง ๆ ตามบทเรียนเป็นวิธีการสอนที่ล้าหลังไม่น่าสนใจ
ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า จึงมีแนวทางการสำรวจการปฏิบัติราชการในระบบ ซึ่งได้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ อาจารย์ป๋วยได้เรียน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ให้ส่งคนรุ่นใหม่ไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์โดยเฉพาะ โลกของอาจารย์ป๋วย คือ การผลิตครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตตำราของประเทศ ไม่ใช่ผู้ที่ดูแลเกียรติอำนาจรัฐของใครทั้งสิ้น และอาจารย์ได้ก่อตั้งมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของมหาวิทยาธรรมศาสตร์
“พื้นฐานการเรียนการสอนเกี่ยวกับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ยังไม่มีความจริงแท้แน่นอน แต่มีการพิสูจน์และการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา จากการที่ข้าราชการบอกเล่าเรื่องผ่านการจดโน้ต คนที่เป็นอาจารย์มีความรู้แค่ไหน นักเรียนนักศึกษาก็จะมีความรู้ต่ำรองลงมาไปเรื่อย ๆ เฉพาะนั้นอาจารย์ป๋วยจึงบอกว่า “จะทำอย่างไรถึงจะผลิตตำราที่เหมาะกับสังคมไทย”
ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การผลิตตำราทำได้ 2 อย่าง คือ
1 การเอาตำราจากต่างประเทศมาแปลให้เป็นภาษาไทย เป็นการเอาความรู้จากที่อื่นมาแปลแล้วเผยแพร่ แต่สังคมไทยไม่ค่อยส่งเสริมด้านการแปลมากนั้น และยังไม่ส่งเสริมการผลิตตำราภายในประเทศอีก อาจารย์ป๋วยจึงส่งเสริมคนรุ่นใหม่และเป็นที่มาของ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ก่อตั้งเพื่อผลิตตำราให้ได้ครบถ้วนทุกสาขาวิชา
2. จะเผยแพร่อย่างไร ซึ่งในยุคนั้นการพิมพ์หนังสือ ในส่วนของการผลิตชุดความรู้ จะมีปัญหาในเรื่องของระยะเวลาในการแปล เพราะการแปลแต่ละเรื่องมีความละเอียดมาก การใช้เวลาก็ไม่เท่ากันและไม่สามารถกำหนดเวลาแปลเสียได้ตายตัว