ประชานิยมแบบอภิสิทธิ์ไม่เป็นภาระการคลัง ดันมาตรการลดค่าครองชีพถาวร
อภิสิทธิ์เมินเสียงวิจารณ์ประชานิยมบิดเบือนกลไกตลาด-สร้างภาระการคลังอนาคต บอกทั้งรถเมล์ รถไฟ กาซหุงต้ม 90 ยูนิตฟรีช่วยคนจนตรงเป้า ธ.ค.เตรียมดันเป็นมาตรการถาวร ยืนยันงบพอ พรุ่งนี้ได้ข้อยุติแก้ไข่แพง ด้าน ก.คลังเปิดสายตรงหนี้นอกระบบ 1689 ครม.อังคารลดพื้นที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ“เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุ กระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถึงการทำงานของรัฐบาลช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อังคารที่ผ่านมาได้ต่ออายุมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน คือรถเมล์ไม่ปรับอากาศ รถไฟชั้นสามฟรี และค่าไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 90 ยูนิต ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงสิ้นปี ส่วนการตรึงราคากาซหุงต้มคือแอลพีจีและเอ็นจีวีซึ่งจะหมดอายุสิงหาคมนี้ก็จะต่ออายุไปอีก 6 เดือน
ธันวาคมดันมาตรการถาวรรถเมล์-รถไฟ-ไฟฟ้าฟรี
นายกฯ กล่าวถึงมาตรการตรึงราคาก๊าซแอลพีจี-เอ็นจีวี-ค่า Ft ว่าก๊าซหุงต้มที่ใช้ในประเทศมาจาก 2 แหล่ง คือจากการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรในประเทศ และจากโรงกลั่นซึ่งมีต้นทุนเทียบเคียงราคาตลาดโลก ซึ่งปริมาณการใช้ส่วนเกินที่ต้องนำเข้านั้นเป็นผลมาจากการเติบโตของภาคปิโตรเคมี ส่วนการใช้กาซหุงต้มในครัวเรือน การขนส่ง และการใช้ในภาคอุตสาหกรรม มีปริมาณใกล้เคียงกับที่ขุดเจาะได้เอง ซึ่งกำลังศึกษาว่าถ้าแยกตลาดได้ชัดเจนจะทำเป็นมาตรการช่วยเหลือถาวร และไม่ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันที่เก็บจากภาษีประชาชนผู้ใช้น้ำมันไปชดเชย ซึ่งรวมทั้งมาตรการรถเมล์ รถไฟ ค่าไฟฟรีด้วย ซึ่งจะมีการตัดสินใจในเดือนธันวาคม มีเวลารับฟังความเห็นของฝ่ายต่างๆ
“เป็นการช่วยเหลือตรงเป้าหมาย ค่าไฟเดิมฟรีร้อยกว่ายูนิตก็ปรับลงมา เพื่อมั่นใจว่าช่วยเหลือคนจนจริง รถเมล์ไม่ปรับอากาศกับรถไฟส่วนใหญ่จะเป็นคนรายได้น้อยใช้ และถ้าทำเป็นมาตรการถาวรจะนำไปสู่ระบบที่ค่อนข้างโปร่งใส เป็นบริการเพื่อสังคมที่รัฐวิสาหกิจจะตกลงกับรัฐบาลว่าแต่ละปีใช้งบเท่าไหร่ ไม่ต้องต่ออายุเป็นระยะซึ่งมีการเมืองเข้ามาเกี่ยว ในอนาคตรัฐบาลชุดไหนเห็นว่าไม่เหมาะจะเลิกก็ได้”
ชี้ประชานิยมแบบรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่เป็นภาระการคลัง
ส่วนเสียงวิจารณ์เป็นประชานิยมบิดเบือนกลไกตลาด สร้างความเสียหายทางการคลังอนาคต นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้กระตุ้นให้เศรษฐกิจที่แย่มากฟื้นตัว ไม่จำเป็นต้องกู้เงินอีก 4 แสนล้านบาท ทำให้การเงินการคลังเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น ปีงบประมาณนี้ยังเก็บรายได้สูงกว่าเป้า 2 แสนล้าน ทำให้งบประมาณเกือบจะไม่ขาดดุล ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าการต่ออายุมาตรการหรือทำเป็นถาวรจะเป็นปัญหา
“ถ้าเราจะไม่บิดเบือนกลไกตลาด ก็หมายความว่าเราก็ไม่ต้องเก็บภาษี ไม่ต้องมีงบประมาณ แต่ว่าการเลือกว่างบประมาณแผ่นดินจะไปที่จุดไหนอย่างไร แน่นอนดีที่สุดนะครับ”
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวว่า ประชานิยมที่ไม่ต้องการเห็นคือ 1.ทำกันจนรัฐบาลล้มละลาย ซึ่งรัฐบาลระมัดระวังเรื่องการเงินการคลังอยู่แล้ว 2.พยายามให้ตรงกลุ่มคนที่สมควรจะได้รับ 3.ไม่อยากให้ผูกกับการเมือง โดยยกตัวอย่างเบี้ยผู้สูงอายุ 500 บาทซึ่งไม่เพียงพอ ทั้งที่มีผู้สูงอายุแค่ 7 ล้านคน แต่รัฐบาลก็ไม่ให้เพิ่ม เพราะถ้าเพิ่มเพียงเท่าตัวก็ต้องใช้เงินอีกหลายหมื่นล้าน แต่สิ่งที่กำลังทำต่อคือขยายประกันสังคม ทำกองทุนสวัสดิการชุมชนให้คนออมเองแล้วรัฐบาลสมทบ จึงไม่ใช่คิดแต่จะแจกอย่างเดียว
“มาตรการใดซึ่งมันดี ช่วยเหลือประชาชน ไม่ต้องคิดได้ไหมว่านี่รัฐบาลนี้ นายกฯคนนั้น เป็นหน้าที่รัฐที่จัดสวัสดิการให้ ถ้าทำเป็นระบบอย่างนี้ ที่เรียกว่าประชานิยมที่ผมเคยวิพากษ์วิจารณ์มันก็จะไม่เกิด”
โชว์แก้หนี้ต่อ พรุ่งนี้มีข้อยุติไข่ไก่แพง ลดการส่งออกชั่วคราว
ปัญหาไข่ไก่แพง นายกฯ กล่าวว่า นอกจากปัจจัยเรื่องดินฟ้าอากาศ ยังเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือราคาไข่ตกต่ำก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบันราคาสูงเกินไป ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการที่รับผิดชอบ เตรียมเสนอมาตรการทั้งเฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาว เฉพาะหน้าซึ่งจะทำให้ราคาลดลงในเวลาอันใกล้คือการปรับระบบให้ปริมาณไข่ไก่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น เช่น บริหารการส่งออก ยืดอายุไก่ไข่ พร้อมกับการศึกษาปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การนำเข้าแม่ไก่พันธุ์ ฯลฯ
ส่วนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ประสบความสำเร็จมากที่สุดตั้งแต่มีการแก้ปัญหาหนี้สินมา เป็นการเดินหน้าแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้ประชาชนที่เดือดร้อนที่สุดในประเทศได้ โดยแก้ไขไปแล้ว 2 แสนกว่าราย และกำลังแก้ปัญหาลูกหนี้ไม่มีคนค้ำประกัน โดยอาจให้สถาบันรัฐช่วยค้ำประกัน เพื่อช่วยเหลือให้ได้อีก 2 แสนรายภายในสิ้นเดือนนี้ และจะมีโครงการต้นกล้าอาชีพเข้าไปส่งเสริมเรื่องรายได้ รวมทั้งติดตามอย่างใกล้ชิดว่ารายที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วสามารถประกอบอาชีพลดภาระหนี้สินได้มากน้อยแค่ไหน
6 วัน 63 ล้านความคิด สานต่อทุกเรื่องร้องเรียน
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงโครงการ 6 วัน 63 ล้านความคิด ผ่านสายโทรศัพท์ 02 304 9999 และ 02 304 9999 ว่าขณะนี้มีเข้ามาวันละประมาณ 6-7 หมื่นสาย ปัญหาที่มากที่สุดคือเศรษฐกิจครัวเรือน รายได้ หนี้สิน สวัสดิการ การศึกษา นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะทางการเมือง โดยปัญหาที่เข้ามามากสะท้อนว่าเป็นเรื่องที่ต้องคิดเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่พรุ่งนี้กระทรวงการคลังยังจะเปิดสายตรง 1689 รองรับเรื่องหนี้นอกระบบ ทั้งนี้ปัญหาอาจแก้ไม่หมดแต่จะมีการวางระบบขับเคลื่อนต่อ นอกจากส่งไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จะส่งไปที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดนายอานันท์ ปันยารชุน และ นพ.ประเวศ วะสี และส่งไปที่สำนักงานปฏิรูปประเทศที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ซึ่งระดมนักวิชาการและอาสาสมัครมาวิเคราะห์เชิงนโยบาย รวบรวมสภาพปัญหา แนวทางแก้ไขที่มีการเสนอแนะ และประสบการณ์ต่างประเทศเข้ามาประกอบ และวางแนวทางที่ภาคเอกชนซึ่งสนใจเรื่องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR) องค์กรท้องถิ่น จะเข้ามาร่วม ซึ่งได้ทำไปบ้างแล้ว เช่น เรื่องการศึกษา กระบวนการยุติธรรม และเรื่องน้ำ
“ตอนนี้หน่วยงานเรื่องน้ำเยอะมาก กระทรวงนั้นกระทรวงนี้ก็ทำ มีคณะกรรมการระดับชาติอยู่ แต่การแก้ปัญหานี้แต่ละยุคทั้งช้าบ้างไม่ประสานข้อมูลบ้าง ศูนย์ที่หอศิลป์ฯก็ลองไปตั้งแนวทางมาแล้วว่าจะต้องจัดระบบข้อมูลและส่งต่ออย่างไร ที่สำคัญคือน่าจะให้ภาคเอกชนกับองค์กรท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร ในต่างประเทศเขาจัดการกันอย่างไร บางทีไม่ได้เป็นโครงการขนาดใหญ่”
ทำความเข้าใจต่างชาติ ต้านกระแสทักษิณล็อบบี้ยิสต์
ส่วนความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่จะไปตั้งล็อบบี้ยิสต์ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ทำมาต่อเนื่องนานแล้ว ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเพราะไม่ต้องการให้สร้างความเสียหายต่อประเทศ เช่น สร้างความเข้าใจผิดว่าระบบยุติธรรมใช้ไม่ได้ หรือเอาเรื่องเท็จไปพูด ซึ่งปกติรัฐบาลมีช่องทางของกระทรวงการต่างประเทศ แต่จะหาช่องทางเพิ่มเติมในการเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศ ทั้งนี้โดยภาพรวมความเข้าใจของต่างประเทศโดยเฉพาะระดับรัฐบาลค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง อาเซียน ซึ่งเห็นด้วยกับแผนปรองดอง รัฐสภาสหรัฐอเมริกาก็ลงมติสนับสนุน ในช่วงปลายสัปดาห์ผู้อำนวยการองค์กรท่องเที่ยวโลกมาเยือนยังยืนยันว่าไทยยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และเล็งเห็นมาตรการรัฐและความสามารถของภาคธุรกิจในการฟื้นตัว
ส่วนเรื่องพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกฯกล่าวว่า วันอังคารนี้ ครม.จะพิจารณาปรับลดในหลายพื้นที่ที่ไม่จำเป็น และแม้ในพื้นที่ซึ่งมี พ.ร.ก.อยู่ก็จะยกเลิกข้อกำหนดบางประการที่จำกัดสิทธิ์ .