ขดดะรี : ค้นโรงเรียนสอนศาสนาทำไม แนะรัฐส่งข้อมูลให้ พร้อมดูแลกันเอง
เป็นที่น่าสังเกตว่าการปิดล้อม ตรวจค้น หรือแม้กระทั่งยิงปะทะในปอเนาะ เกิดขึ้นบ่อยครั้งและต่อเนื่องในปีนี้
วันที่ 9 ม.ค.58 เจ้าหน้าที่ทหารยิงปะทะและวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง 3 รายในโรงเรียนยุวอิสลามวิทยา อ.มายอ จ.ปัตตานี
วันที่ 18 ก.พ.เจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจค้นสถาบันปอเนาะแห่งหนึ่งใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี สามารถยึดอาวุธสงครามและวัตถุระเบิดได้เป็นจำนวนมาก
วันที่ 1 มี.ค. มีการเผยแพร่คลิปปลุกระดมให้คนมลายูปัตตานีแบ่งแยกดินแดนและขับไล่คนไทยพุทธออกจากพื้นที่ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แถลงระบุว่าบุคคลต้องสงสัยที่จัดทำคลิปและเผยแพร่อาจเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ชายแดนใต้
วันที่ 2 มี.ค. เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าปิดล้อมตรวจค้นสถาบันปอเนาะแห่งหนึ่งใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี แล้วได้เชิญตัวผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ไปซักถามโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก พร้อมยึดซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์อื่นๆ ไปด้วยจำนวนหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีประเด็นคำถามซ้อนกันอยู่ 2 ประเด็นซึ่งเป็นเงื่อนแง่ย้อนแย้งกัน และต่างฝ่ายต่างนำมาทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารตอบโต้กัน คือ
1.ทำไมฝ่ายรัฐจึงต้องเข้าไปกระทำความรุนแรงในสถานบันปอเนาะ หรือสถาบันการศึกษาที่มีความเชื่อมโยงกับวิถีอิสลามและวิธีคนมลายูมุสลิม
2.เหตุใดสถาบันการศึกษาเหล่านี้บางแห่งจึงยังถูกใช้เป็นสถานที่หลบซ่อนตัว ซ่อนอาวุธ หรือแม้แต่บ่มเพาะแนวคิดต่อต้านรัฐโดยใช้ความรุนแรง
ทั้งสองประเด็นเป็นความจริงที่ยากจะปฏิเสธ และคงหาทางออกร่วมกันมิได้ถ้าผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐ กับผู้ที่เกี่ยวข้องในสถาบันการศึกษาเหล่านั้น (ซึ่งอาจรวมถึงพี่น้องประชาชนทั่วไปอีกจำนวนมากด้วย เพราะสถาบันลักษณะนี้โยงกับหลักศาสนาและวิถีของประชาชนในพื้นที่) เอาแต่ชี้หน้าโทษกัน กลายเป็นข้อเท็จจริงบนเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบ
ความรู้สึกของฝ่ายรัฐก็มองสถาบันการศึกษาในแง่ลบ ทั้งๆ ที่สถาบันปอเนาะก็มีคุณูปการมากมาย ขณะที่ฝ่ายประชาชนคนในพื้นที่ก็มองว่ารัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ รวมทั้งในบางปฏิบัติการอาจเข้าข่ายลบหลู่สิ่งที่พวกตนเคารพศรัทธา
ขดดะรี บินเซ็น ประธานสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงสภาพปัญหาและทางออกที่น่าจะเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย
"กอ.รมน. ทหาร ไม่เคยไว้ใจพวกเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไร เมื่อทหารเข้ามาบริหารประเทศ จึงมีโอกาสทำอะไรมากมาย ตอนนี้ตาดีกา ปอเนาะ โรงเรียนเอกชนโดนหมด และที่ผ่านมาก็โดนมองแง่ลบมาตลอด"
อย่างไรก็ดี ขดดะรี ในฐานะประธานสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามฯ ซึ่งมีสมาชิกมากถึง 300 กว่าโรง ยอมรับว่า มีสถานศึกษาบางแห่งในพื้นที่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือเป็นแหล่งพักพิงบ่มเพาะกลุ่มก่อความไม่สงบจริง แต่ต้องเข้าใจว่าเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ไม่ใช่เปิดโรงเรียนขึ้นมาเพื่อสิ่งนี้ ฉะนั้นฝ่ายความมั่นคงไม่ควรมองแบบเหมารวม
"อย่างปัญหาคอร์รัปชันที่พูดๆ กันทุกวันนี้ว่าต้องปฏิรูปเป็นวาระแห่งชาติ ถามว่าคนที่คอร์รัปชันจบจากโรงเรียนในประเทศไทยหรือเปล่า แล้วทำไมไม่โทษโรงเรียนเหล่านั้นว่าไม่ดี แต่พอเป็นเรื่องภาคใต้ ใครไปทำอะไรไม่ดี กลับโทษโรงเรียนของคนคนนั้น"
"โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ดูแลเด็กถึง 80% รัฐดูแล 20% บางคนอาจจะเป็นโจร แต่ที่เป็นผู้ว่าฯ นายอำเภอ ก็เยอะแยะ ทำไมไม่มองมุมนี้บ้าง"
"ยอมรับว่าสถานศึกษาบางแห่งมีกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงแฝงอยู่จริง แต่เป็นส่วนน้อย และไม่ได้เป็นเจตนาว่าทุกโรงเปิดมาต้องบ่มเพาะให้เป็นผู้ก่อการร้าย แต่ปัญหาคือพอเกิดเหตุการณ์ขึ้น โรงเรียนเอกชนก็ตกเป็นเป้า และรัฐก็ตอกย้ำ"
เขาอธิบายลักษณะการจัดการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า หากแบ่งกว้างๆ จะมีสถานศึกษาอยู่ 3 ระดับ คือ ตาดีกา หรือศูนย์อบรมจริยธรรมในมัสยิด ดูแลเด็กอายุ 4-12 ปี, สถาบันปอเนาะ การเรียนการสอนเน้นสายศาสนา เพื่อให้จบมาเป็นบุคลากรทางศาสนาในพื้นที่ แต่ระยะหลังรัฐเข้าไปเพิ่มหลักสูตรสายอาชีพให้ผ่านทางการศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. และสุดท้ายคือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งเกือบทั้งหมดยกระดับมาจากสถาบันปอเนาะ สอนสายสามัญเหมือนโรงเรียนของรัฐปกติ แต่สอนศาสนาควบคู่กันไปด้วย
"ถามว่าทำไมรัฐสนับสนุนให้เอกชนเป็นคนจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ (ดูจำนวนสถานศึกษาประกอบในล้อมกรอบด้านล่าง) มีการออกกฎหมายให้ยกระดับจากปอเนาะขึ้นมาเป็นโรงเรียนเอกชน และมีงบอุดหนุนรายหัวให้เด็กนักเรียน ทำไมรัฐไม่จัดการศึกษาเสียเองทั้งหมด"
"ที่ผ่านมาก็มีโรงเรียนของรัฐที่จัดการศึกษาเอง ถามว่ามีเด็กมาเรียนไหม พ่อแม่ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานมาเรียนไหม ส่วนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา มีโต๊ะครูที่ชาวบ้านศรัทธามาเป็นผู้จัดการเรียนการสอน บางแห่งไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ ไม่มีสื่อการเรียนการสอนเลย แต่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ยังนิยมส่งบุตรหลานมาเรียน เพราะเป็นวิถีทางศาสนา"
ขดดะรี เสนอว่า ถ้ารัฐจับมือกับเอกชน พัฒนาการศึกษาร่วมกัน ช่วยกันดูแลเด็กให้มีคุณภาพ จะเป็นประโยชน์กว่าไหม และใครที่จะได้ประโยชน์ถ้าไม่ใช่ตัวเด็กเองและประเทศไทย เพราะเด็กทุกคนในพื้นที่ก็เป็นเด็กไทย เรียนจบออกมาทำงานก็เสียภาษีให้ประเทศไทย
"รัฐจะแข่งกับเอกชนทำไม เพราะถ้าร่วมมือกันจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่า ทุกวันนี้รัฐลงทุนกับเด็กของรัฐ ผ่านโรงเรียนรัฐบาล 55,000 บาทต่อหัวต่อปี แต่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ 13,000 บาทต่อหัวต่อปี ฉะนั้นถ้ารัฐให้พวกผมจัด จะประหยัดเงินไปได้ราวๆ 4 หมื่นบาทต่อหัวต่อปี คูณ 2 แสนคนเข้าไปเป็นเงินเท่าไหร่ ผมลองคูณดูแล้ว เครื่องคิดเลขผมเออร์เรอร์เลย"
ขดดะรี บอกอีกว่า อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อกล่าวหาที่พุ่งเข้าใส่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม คือ "เด็กผี" หมายถึงมีชื่อเป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียน แต่กลับไม่มีตัวเด็กเรียนอยู่จริง โดยนัยก็คือใส่ชื่อเข้าไปเพื่อรับเงินอุดหนุนโดยทุจริต
"ผมยอมรับว่าปัญหานี้มีอยู่จริงเหมือนกัน และรัฐต้องตรวจสอบให้หมดทั้ง 5 จังหวัดว่ามีอยู่เท่าไหร่ แต่รัฐอย่าลำเอียง เพราะต้องตรวจสอบโรงเรียนของรัฐเองด้วย จากข้อมูลของพวกเราที่ตรวจสอบพบว่าเด็กผีมีประมาณ 3 หมื่นคน อยู่ในโรงเรียนเอกชนราวๆ 1 หมื่นคน ถามว่าที่เหลืออยู่ที่ไหน โรงเรียนของรัฐกล้าให้ข้อมูลหรือไม่ว่ามีผีอยู่เท่าไหร่"
"สมมติผีมี 10 ตัว อยู่โรงเรียนผม 3 ตัว แล้วอีก 7 ตัวอยู่ที่ไหน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในสังกัดสมาพันธ์ฯ มี 300 กว่าโรง มีผีราวๆ 1.2 หมื่นคน แต่ตัวเลขเด็กผีทั้งหมดมี 3 หมื่นกว่าคน ผมกล้ายืนยันว่าถ้าเด็กผีอยู่กับผม ตรวจสอบพบ เราคืนเงินให้ทันที แต่ถ้าอยู่กับรัฐ เอาเงินคืนได้หรือไม่"
ขดดะรี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า วันนี้รัฐตรวจสอบแต่ฝั่งโรงเรียนเอกชน แต่ฝั่งรัฐไม่ตรวจสอบเลย โรงเรียนเอกชนพยายามทำทุกอย่างให้โปร่งใส
"เรื่องผู้ก่อการร้ายน่ะ อย่าพูดลอยๆ ว่าอยู่กับโรงเรียนเอกชน ขอให้นำข้อมูลมาให้พวกผม แล้วผมจะไปเอาตัวมาส่งให้ ไม่ต้องเอากำลังมาปิดล้อม หรือบุกเข้ามา จนทำให้เด็กๆ ตกใจ บางคนแค้นใจ เพราะไปบุกรุกสถานที่ที่เขาเคารพบูชา"
"ผมบอกได้เลยว่า ถ้าทหารยังทำอยู่อย่างเดิม จะยิ่งเกิดรอยร้าว ที่มายอก็ 3 ศพ ใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา ที่ยะรังก็อีก ฉะนั้นเปลี่ยนวิธีการทำงานจะดีกว่า ถ้ามีข้อมูลจริงขอให้บอก สมาพันธ์ฯยินดีรับผิดชอบดำเนินการให้ ถ้าผิดจริงก็ว่ากันไป เราไม่ปกป้อง เพราะศาสนาก็สอนให้เรารักแผ่นดินและบ้านเมืองที่เราเกิดเช่นกัน"
//////////////////////////////
โรงเรียนสอนศาสนาห้าจังหวัดชายแดนใต้
O ตาดีกา จำนวน 2,230 แห่ง
นักเรียน 220,547 คน ครู 12,020 คน
O สถาบันปอเนาะ จำนวน 427 แห่ง
นักเรียน 42,995 คน ครู 1,519 คน
O โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จำนวน 360 แห่ง (เฉพาะในสังกัดสมาพันธ์ฯ)
นักเรียน 238,213 คน ครู 15,380 คน