กฤษฎีกาชี้มติ กก.กลางอิสลามถอด "พิเชษฐ สถิรชวาล" พ้นเลขาฯ ไม่ขัดกฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นทางกฎหมายชี้ขาดประเด็นการประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ให้โละกรรมการยกชุดรวมทั้ง นายพิเชษฐ สถิรชวาล เลขาธิการฯในขณะนั้น หลังจากนายพิเชษฐได้ทำเรื่องร้องเรียนต่อกระทรวงมหาดไทยว่ามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้กระทรวงมหาดไทยส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ
“พิเชษฐ”แจง 2 เหตุผลมติขัดกฎหมาย
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือ ที่ มท 0308.4/8070 ลงวันที่ 26 ก.ค.2554 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ด้วยกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองได้รับการร้องเรียนจาก นายพิเชษฐ สถิรชวาล ว่า คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประชุมครั้งที่ 9/2553 เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2553 และที่ประชุมมีมติให้ปรับโครงสร้างการบริหารงานของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยให้ถอดถอนทุกตำแหน่งยกเว้นตำแหน่งประธานกรรมการ (จุฬาราชมนตรี) ตามข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ.2525
นายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้ร้องเรียนเห็นว่า มติของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (เสียงข้างมาก) เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ
(1) ข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ.2525 ถูกยกเลิกตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 จึงไม่สามารถใช้บังคับได้
(2) เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นเรื่องเสร็จที่ 533/2546 เรื่อง วาระการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งวางหลักไว้กรณีการดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่กรรมการเลือกกันเองตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนั้น เมื่อมิได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งไว้เป็นพิเศษ จึงมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี นอกจากจะพ้นจากความเป็นกรรมการอิสลาม หรือลาออกจากตำแหน่งไปเอง
การที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยออกระเบียบมากำหนดวาระการดำรงตำแหน่งเป็นการสร้างหลักเกณฑ์ขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 จึงไม่อาจบังคับได้ ดังนั้น เมื่อเทียบเคียงกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว มติของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจึงเป็นโมฆะเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น
นายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้ร้องเรียนขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายแจ้งให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยทราบการกระทำผิดกฎหมาย และหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีความเห็นเป็นอย่างอื่น ขอให้พิจารณาข้อหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย
กก.กลางอิสลามแจงทำบ่อย-มุ่งปรับปรุงการบริหาร
ด้านคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยชี้แจงข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการฯ มีมติในการประชุม ครั้งที่ 9/2553 เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2553 ให้ยกเลิกการดำรงตำแหน่งของกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยทุกตำแหน่งยกเว้นตำแหน่งประธานกรรมการ และได้เลือกกรรมการให้ดำรงตำแหน่งใหม่ จึงทำให้ นายพิเชษฐ สถิรชวาล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ และมี พต.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เป็นเลขาธิการแทน
การมีมติเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เป็นเพราะคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยต้องการปรับปรุงการบริหารงานของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย การมีมติเช่นนี้ได้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเคยมีมติเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการมาหลายครั้ง เช่น การประชุม ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2553 และครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2553 เป็นต้น
และการประชุมของคณะกรรมการไม่ได้นำข้อบังคับการประชุมและการดำเนินงานของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ.2525 มาใช้บังคับ แต่ใช้หลักการประชุมทั่วไป และเป็นอำนาจของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่จะกระทำได้ โดยไม่ต้องรอให้ผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งเป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยพ้นจากตำแหน่งก่อนโดยเทียบเคียงกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 372/2535 เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการสภาการพยาบาล
สำหรับกรณีการร้องเรียนที่ผู้ร้องอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 533/2546 เห็นว่าการมีมติของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นเรื่องการบริหารงานทั่วไป มิใช่การปฏิบัติตามประเด็นเดียวกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดแย้งกับความเห็นดังกล่าวแต่อย่างใด
กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นว่า กรณีการมีมติของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญ มีผลกระทบต่ออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 จึงขอหารือมายังคณะกรรมการกฤษฎีกา
ชี้ขาด กก.กลางอิสลามมีอำนาจทำได้
ในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 774/2554 เรื่องอำนาจของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ระบุว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้พิจารณาข้อหารือของกระทรวงมหาดไทยโดยได้รับฟังคำชี้แจงจากผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) และผู้แทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยแล้ว เห็นว่า ปัญหาที่กระทรวงมหาดไทยประสงค์จะหารือนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่า คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีอำนาจเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ได้รับเลือกตามมาตรา 16 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 หรือไม่
ในประเด็นปัญหาดังกล่าว เห็นว่า โดยที่มาตรา 161 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 บัญญัติให้มีคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยจุฬาราชมนตรีเป็นประธานกรรมการ และกรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งเป็นผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และจากกรรมการอื่นซึ่งคัดเลือกโดยจุฬาราชมนตรีมีจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
โดยมาตรา 192 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามฯ ได้บัญญัติให้กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนี้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี เว้นแต่มีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระตามมาตรา 203 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามฯ แต่ตำแหน่งรองประธานกรรมการ เลขาธิการ และตำแหน่งอื่นตามความจำเป็นที่มาตรา 16 วรรคสาม 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเลือกกรรมการด้วยกันเอง
ตำแหน่งกรรมการที่เลือกกันเองนี้ เป็นตำแหน่งที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การดำเนินงานในกิจการของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นการเฉพาะ ดังนั้น การกำหนดตำแหน่งและการเลือกกรรมการให้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการโดยแท้ที่จะต้องพิจารณาตามความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่กิจการของคณะกรรมการและองค์กร อันเป็นลักษณะของการบริหารจัดการกิจการภายในโดยทั่วไปขององค์กรแต่ละองค์กร
การใช้อำนาจของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในการเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 16 วรรคสาม จึงเป็นไปตามหลักการบริหารงานทั่วไปเพื่อให้การดำเนินกิจการของคณะกรรมการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมาคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยก็ได้เคยปรับเปลี่ยนตำแหน่งกรรมการดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น เมื่อกฎหมายมิได้กำหนดเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ของกรรมการที่ได้เลือกกันเองดังกล่าวไว้เป็นพิเศษ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจึงมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงการดำรงตำแหน่งของกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยผู้ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา 16 วรรคสาม และเลือกกรรมการด้วยกันเองเป็นผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ขึ้นใหม่ได้
อนึ่ง สำหรับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในเรื่องเสร็จที่ 533/2545 ที่อ้างถึงนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) มีความเห็นว่า คำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยตามมาตรา 18 (5) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามฯ ว่ามีอำนาจในการออกระเบียบเพื่อกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสลามประจำจังหวัดผู้ได้รับเลือกตามมาตรา 237 วรรคสาม คราวละ 3 ปี ได้หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีความเห็นว่า การออกระเบียบดังกล่าว เป็นการสร้างหลักเกณฑ์เพิ่มเติมขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ระเบียบในส่วนดังกล่าวจึงไม่อาจใช้บังคับได้
คำวินิจฉัยดังกล่าวมีประเด็นข้อกฎหมายต่างกับกรณีข้อหารือของกระทรวงมหาดไทยในครั้งนี้ ซึ่งมิใช่ประเด็นการกำหนดวาระของคณะกรรมการที่เลือกกันเองเพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หากแต่เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงการดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ของกรรมการที่เลือกกันเอง เพื่อประโยชน์แก่การบริหารจัดการกิจการภายในของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเท่านั้น
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (ภาพจากเว็บไซต์สำนักงานฯ)
2 นายพิเชษฐ สถิรชวาล (ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา)
อ่านประกอบ :
- ปมลึกปลด "พิเชษฐ สถิรชวาล" และเรื่องวุ่นๆ ใน กก.กลางอิสลามแห่งประเทศไทย
http://www.isranews.org/south-news/Other-news/item/1497-q-q.html