บทสรุป 11 ปี แห่งการจัดการพื้นที่ป่าสงวน สะท้อนภาพความไร้น้ำยาของรัฐ?
"...สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลามากกว่า 11 ปี แต่จากสถิติข้อมูลจำนวนพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยที่ถูกแผ้วถาง บุกรุก กลับมิได้ลดลงแต่อย่างใด และยังประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับราษฎรที่เข้าไปถือครองที่ดินป่าไม้อย่างต่อเนื่อง.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นเนื้อหาในรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานการจัดการที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ของกรมป่าไม้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับตั้งแต่ปี 2545 - 2555 ซึ่งพบว่ายังคงมีปัญหาเหมือนเดิม ยิ่งแก้ไขปัญหาก็ยิ่งเพิ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น
---------------
การจัดการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้นับเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญเนื่องจากประสบ
ปัญหาการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มาตรการหนึ่งที่ใช้ในการบริหารจัดการที่ดินป่าไม้ซึ่งได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งกรมป่าไม้ได้รับมาดำเนินการ โดยจัดทำเป็น “โครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้” ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือ “กิจกรรมจัดการที่ดินป่าไม้” วัตถุประสงค์เพื่อให้มีแนวเขตที่ชัดเจนเป็นการควบคุมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในเขตที่ดินป่าไม้และป้องกันมิให้มีการบุกรุกขยายพื้นที่เพิ่มเติม และเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินป่าไม้ระหว่างรัฐกับราษฎร
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการที่ดินป่าไม้ในพื้นที่
ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลามากกว่า 11 ปี
แต่จากสถิติข้อมูลจำนวนพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยที่ถูกแผ้วถาง บุกรุก กลับมิได้ลดลงแต่อย่างใด และยังประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับราษฎรที่เข้าไปถือครองที่ดินป่าไม้อย่างต่อเนื่อง
จึงได้เลือกตรวจสอบการดำเนินการจัดการที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อให้ทราบ
ปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดในการดำเนินงาน และพิจารณาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขต่อไป
จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานการจัดการที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่
ปีงบประมาณ 2545 - 2555 มีข้อตรวจพบ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินการจัดการที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่มิให้มีการบุกรุกขยายพื้นที่เพิ่มเติมได้
จากการสุ่มตรวจสอบสังเกตการณ์แปลงที่ดินและสัมภาษณ์ผู้ถือครองแปลงที่ดินที่อยู่ริมขอบ
ผังแปลงที่ดินรวมที่ได้รับการสำรวจรังวัดในป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 17 ป่า รวม 157 แปลง แบ่งเป็นพื้นที่อยู่ในข่ายอนุญาตได้ จำนวน 89 แปลง และพื้นที่ไม่อยู่ในข่ายอนุญาตได้ (พื้นที่ควบคุม) จำนวน 68 แปลง พบว่า มีผู้ถือครองแปลงที่ดินขยายพื้นที่การใช้ประโยชน์เพิ่มเติมจากที่ได้รับการสำรวจรังวัดไว้แล้ว โดยเป็นแปลงที่ดินที่อยู่ในพื้นที่อยู่ในข่ายอนุญาตได้ จำนวน 20 แปลง และแปลงที่ดินที่อยู่ในพื้นที่ไม่อยู่ในข่ายอนุญาตได้ (พื้นที่ควบคุม) จำนวน 10 แปลง การที่กรมป่าไม้ยังไม่สามารถควบคุมการบุกรุกขยายพื้นที่ได้ส่งผลต่อความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ใช้จ่ายไปในการดำเนินการสำรวจและรังวัดแปลงที่ดิน ซึ่งพบว่าสาเหตุสำคัญเกิดจากการขาดบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ ด้านการปฏิบัติงานในพื้นที่ ประกอบกับไม่พบว่ากรมป่าไม้ได้กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง มาตรการ และมีการวางแผนติดตามตรวจสอบแนวขอบเขตของพื้นที่ที่ได้รับการจัดการที่ดินป่าไม้แล้วอย่างเป็นรูปธรรม
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาแล้วมีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมป่าไม้พิจารณาดำเนินการ
ดังนี้
1. บูรณาการการจัดการป่าไม้ในทุกกระบวนการและขั้นตอน โดยให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติงาน
ที่มีความต่อเนื่อง ชัดเจน และนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง รวมทั้งควรจัดให้มีการติดตามประเมินผลสำเร็จจากการดำเนินงานตามแผน
2. พัฒนา ปรับปรุงระบบข้อมูลสารสนเทศให้ทันสมัยเป็นปัจจุบัน โดยประสานงานกับสำนักงาน
ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเข้าข้อมูลสารสนเทศตามโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ อันจะเป็นประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการแนวเขตและพื้นที่ในแนวเขต การพิสูจน์การครอบครอง และการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้
3. สั่งการให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ท้องที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีพบว่ามีการบุกรุกหรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าทั้งในพื้นที่อยู่ในข่ายอนุญาตได้และพื้นที่ไม่อยู่ในข่ายอนุญาตได้ (พื้นที่ควบคุม)จำนวน 30 แปลง รวมทั้งที่พบว่ามีการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่บริเวณที่อยู่ใกล้เคียงหรือติดกับแปลงที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 37 แปลง โดยให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรายงานผลให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบโดยเร็ว
ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินการจัดการที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเป็นไปอย่างล่าช้า
จากการตรวจสอบการดำเนินงานการจัดการที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ของกรมป่าไม้
ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545 - 2555 ซึ่งมีการดำเนินการในพื้นที่อยู่ในข่ายอนุญาตได้และพื้นที่ไม่อยู่ในข่ายอนุญาตได้ รวมระยะเวลา 11 ปีเศษ ปรากฏผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 30 กันยายน 2555 ดังนี้
1. ในพื้นที่อยู่ในข่ายอนุญาตได้ ซึ่งมีการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ถือครองที่ดินป่าสงวน
แห่งชาติให้สามารถอยู่อาศัยหรือทำกินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยการออกหนังสืออนุญาต สทก.พบว่า มีการสำรวจรังวัดแปลงที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 396 ป่า จำนวนผู้ถือครอง 265,111ราย เป็นพื้นที่จำนวน 315,991 แปลง เนื้อที่ 2,631,851 ไร่ มีการสำรวจสภาพป่าเสื่อมโทรมเพื่อประกาศเป็นเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 385 ป่า ประกาศเป็นเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติแล้วจำนวน33 ป่า โดยมีราษฎรได้รับหนังสืออนุญาต สทก. จำนวน 4,289 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.62 เป็นพื้นที่จำนวน5,449 แปลง เนื้อที่ 29,819 ไร่ อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 17 ป่า และอยู่ระหว่างการจัดทำหนังสืออนุญาต สทก. จำนวน 2,591 ราย เป็นพื้นที่จำนวน 3,287 แปลง เนื้อที่ 27,006 ไร่ โดยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 15 ป่า
นอกจากนี้ ในการดำเนินการออกหนังสืออนุญาต สทก.บางส่วน เมื่อดำเนินการในขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลผู้ถือครองที่ดินและสภาพแปลงที่ดินที่จะออกหนังสืออนุญาต สทก. แล้วแต่ยังไม่สามารถออกหนังสืออนุญาต สทก. ได้ เมื่อระยะเวลาผ่านไปข้อมูลผู้ถือครองที่ดินและสภาพแปลงที่ดินที่จะออกหนังสืออนุญาต สทก. อาจมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ผู้ถือครองที่ดินไม่ใช่รายเดิม จะต้องมีการกำหนดแผนและจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าวซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องและเป็นปัจจุบัน
การดำเนินการอนุญาตให้ราษฎรที่ถือครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในเขตป่าเสื่อมโทรม
และประกาศเป็นเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติแล้วให้สามารถอยู่อาศัยหรือทำกินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้ราษฎรที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับหนังสืออนุญาต สทก. ไม่มีหลักประกันในการอยู่อาศัยหรือทำกิน เสียโอกาสในการเข้ารับความช่วยเหลือจากรัฐหรือร่วมโครงการของรัฐ และกรณีที่กรมป่าไม้ต้องดำเนินการในขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลผู้ถือครองที่ดินและสภาพแปลงที่ดินซ้ำทำให้ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการขั้นตอนออกหนังสืออนุญาต สทก. เพิ่มขึ้นเท่าที่ตรวจสอบ
พบเป็นเงิน 176,700.00 บาท เป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่ประหยัด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าสาเหตุที่กรมป่าไม้ดำเนินการออกหนังสืออนุญาต สทก. ได้ในสัดส่วนที่น้อยและเป็นไปอย่างล่าช้าเกิดจากทิศทางหรือนโยบายการอนุญาตให้ราษฎรที่ถือครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในเขตป่าเสื่อมโทรมโดยการออกหนังสืออนุญาต สทก. ขาดความชัดเจน และไม่มีความต่อเนื่อง
2. ในพื้นที่ไม่อยู่ในข่ายอนุญาตได้ (พื้นที่ควบคุม) ซึ่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30
มิถุนายน 2541 พบว่า มีการรังวัดแปลงที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 279 ป่า จำนวนผู้ถือครอง129,246 ราย เป็นพื้นที่จำนวน 164,074 แปลง เนื้อที่ 1,342,877 ไร่ และจัดทำแนวเขตควบคุมเพื่อมิให้มีการบุกรุกขยายพื้นที่เพิ่มเติม แต่ยังไม่มีการตรวจพิสูจน์การครอบครองที่ดินของราษฎรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ว่าอยู่ก่อนหรือหลังวันสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก เนื่องจากไม่มีพื้นที่รองรับการเคลื่อนย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดให้ราษฎรที่อยู่ก่อนวันสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรกแต่เป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ และราษฎรที่อยู่หลังวันสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรกต้องเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่
ส่วนราษฎรที่อยู่ก่อนวันสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรกและไม่เป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศให้กรมป่าไม้จัดทำขอบเขตที่อยู่อาศัยหรือทำกินให้ชัดเจน ห้ามขยายพื้นที่เพิ่มเติมโดยเด็ดขาดและดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้อยู่อาศัยหรือทำกินตามความจำเป็นเพื่อการครองชีพ
การที่กรมป่าไม้ยังไม่มีการดำเนินการในขั้นตอนการตรวจพิสูจน์การครอบครองที่ดินของ
ราษฎรในพื้นที่ไม่อยู่ในข่ายอนุญาตได้ (พื้นที่ควบคุม) ส่งผลต่อการควบคุมพื้นที่มิให้มีการบุกรุกขยายพื้นที่เพิ่มเติมได้ เนื่องจากการดำเนินการรังวัดจัดทำผังแปลงที่ดินและแนวเขตควบคุมยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่มิให้มีการบุกรุกขยายพื้นที่เพิ่มเติมได้
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1. เสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.1 ทบทวนนโยบายการช่วยเหลือราษฎรที่ถือครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติให้สามารถอยู่อาศัย
หรือทำกินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยการให้สิทธิทำกิน (สทก.) แก่ราษฎร ให้เกิดความชัดเจนว่ารัฐบาลจะดำเนินการแก่ราษฎรในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในแนวทางดังกล่าวต่อไปอีกหรือไม่ อย่างไร
1.2 ทบทวนแนวทางหรือมาตรการในการดำเนินการรองรับผลการตรวจพิสูจน์การครอบครองที่ดิน
ของราษฎรซึ่งอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1, 2 กรณีที่ราษฎรอยู่ก่อนวันสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรกแต่เป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ หรือหลังวันสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรกให้เกิดความชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไรกรณีไม่มีพื้นที่รองรับราษฎรที่ต้องเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว
2. ให้อธิบดีกรมป่าไม้ พิจารณาเร่งรัดการดำเนินการออกหนังสืออนุญาต สทก. ในพื้นที่ป่าที่มีการประกาศกำหนดเขตป่าเสื่อมโทรมเป็นเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติแล้วซึ่งอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องจริงจัง ทั้งนี้ในขั้นตอนการตรวจสอบผู้ถือครองที่ดินและสภาพแปลงที่ดินก่อนที่จะออกหนังสืออนุญาต สทก. ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ละเอียด รอบคอบ และเคร่งครัด โดยมีการวางแผนการปฏิบัติงานและจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงตามศักยภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และไม่ให้เกิดลักษณะของการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน