ไม่ใช่แค่ตำรวจ! "จุฬา" โดนด้วย 1.4 พันล.ปล่อยกู้สหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่น
กางผลการศึกษาการทำธุรกรรมการเงินฯ “สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ” ส่อหนี้เงินกู้สูญ 1.4 พันล้าน หลังปล่อยให้ "สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น" พบปัญหาเพียบ ถอนเงินฝากไม่ได้-ผิดนัดชำระหนี้ 4 สัญญา รอศาลล้มละลายวินิจฉัยปมฟื้นฟูกิจการ ก่อนฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายคืน
นอกเหนือจากบรรดาสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 10 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจาก กรณีการยักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด โดยอาจสูญเงินเป็นจำนวนกว่า 2.5 พันล้านบาทแล้วนั้น
(อ่านประกอบ : หยามสีกากี!2 สหกรณ์"ตร."ส่อสูญพันล้าน!ผลพ่วงคดียักยอกยูเนี่ยนคลองจั่น )
“สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด” ถือเป็นสหกรณ์อีกแห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้แบบ “เต็ม ๆ” เช่นกัน
หลังจากช่วงปี 2556 ปล่อยกู้เงินให้กับสหกรณ์ฯคลองจั่น เป็นจำนวนกว่า 1.4 พันล้านบาท !
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบ ผลการศึกษาการทำธุรกรรมการเงินระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และสหกรณ์ฯคลองจั่น โดยคณะกรรมการศึกษาการทำธุรกรรมและนิติสัมพันธ์ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และสหกรณ์ฯคลองจั่น เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา
โดยผลการศึกษาดังกล่าวได้เรียบเรียงข้อเท็จจริงความสัมพันธ์ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ กับสหกรณ์ฯคลองจั่น รวมไปถึงการฝากเงิน และปล่อยกู้เงินให้กับสหกรณ์ฯคลองจั่น นับแต่แรกจวบจนปัจจุบัน ระบุว่า
สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2504 ต่อมาในช่วงปี 2531 ได้ให้กู้ยืมเงินแก่สหกรณ์ออมทรัพย์อื่น ๆ เป็นครั้งแรก และได้ให้กู้ยืมเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์อื่นตลอดมา โดยมีวงเงินสูงสุดที่เคยให้กู้ 830 ล้านบาท ขณะที่สิ้นปี 2557 มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 34,350 ล้านบาท สมาชิก 15,320 คน
ต่อมา สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ได้ขยายขอบเขตเงินกู้ไปยังสหกรณ์ประเภทอื่นที่มีความมั่นคงแต่ขาดแคลนเงินลงทุนในการบริหารจัดการ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
ซึ่งสหกรณ์ฯคลองจั่น ได้รับอนุมัติเงินกู้สูงสุดถึง 1,431 ล้านบาท !
สำหรับสหกรณ์ฯคลองจั่นนั้น ในเดือนเมษายน 2556 เป็นต้นมา มีข่าวเกิดปัญหาด้านการบริหารจัดการและเกิดวิกฤติทางการเงินทำให้เกิดสภาพคล่องของสหกรณ์ฯคลองจั่น จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั่วประเทศ รวมถึงในหมู่สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ เนื่องจากมีการให้เงินกู้แก่สหกรณ์ฯคลองจั่น เป็นจำนวนเงินกว่า 1.4 พันล้านบาท
และสหกรณ์ฯคลองจั่น ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญาตั้งแต่งวดที่ 1 เดือนกรกฎาคม 2556 เป็นต้นมา
ทั้งนี้จากผลการศึกษาดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
@การให้กู้เงิน (ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ-สหกรณ์ฯคลองจั่น)
@การฝากเงิน
1.ก่อนการกู้เงินครั้งที่ 2 (ก่อน 25 มิ.ย. 56)
เป็นการฝากเงินประเภทออมทรัพย์พิเศษ มีระยะเวลาฝาก 6 เดือนและ 12 เดือน จ่ายดอกเบี้ยรายเดือน ฝากครั้งแรก 1 เม.ย. 51 200 ล้านบาท จากนั้นมีการฝาก-ถอนเรื่อยมา จนกระทั่งมียอดรวมสูงสุด 650 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 53 ต่อมาลดเหลือ 450 ล้านบาท เนื่องจากปล่อยเงินฝากครั้ง 200 ล้านบาทเป็นเงินกู้ หลังจากนั้นได้ปรับเงินฝากที่เหลืออีก 450 ล้านบาทเป็นเงินกู้ทั้งหมด รวมเป็นเงินกู้ทั้งสิ้น 650 ล้านบาท
2.การฝากหลังการให้กู้เงินครั้งที่ 2 (หลัง 25 มิ.ย. 56)
เป็นการฝากเงินประเภทออมทรัพย์พิเศษ เปิดบัญชีวันที่ 29 พ.ย. 56 ด้วยเงินที่เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ จากการให้กู้เงินครั้งที่ 2 และเงินค่าปรับจากการผิดชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 จำนวน 30.71 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่งวดที่ 5 ถึงงวดที่ 30 ให้นำฝากเข้าบัญชีนี้ด้วยเช่นกัน โดยยอดสิ้นเดือน ธ.ค. 57 มีทั้งหมด 117.63 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 57 สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ขอถอนเงินจำนวน 19.84 ล้านบาท
แต่สหกรณ์ฯคลองจั่น ไม่สามารถให้ถอนได้โดยให้เหตุผลว่าขาดสภาพคล่องและอยู่ระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ
ที่น่าสนใจคือ ในการขอกู้เงินครั้งที่ 2 นั้น มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นดังนี้
@เหตุการณ์ก่อนการอนุมัติให้กู้
8 ก.พ. 56 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์มีหนังสือถึงประธานสหกรณ์ฯคลองจั่น พบปัญหาการยืมเงินรองจ่ายจำนวน 3,298 ล้านบาท ที่ยังไม่ส่งคืน และพบการให้เงินกู้แก่สมาชิกสมทบ 27 ราย ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เป็นไปตามกฎหมายจำนวน 11,846 ล้านบาท ซึ่งถูกเผยแพร่ทางสื่อตั้งแต่ เม.ย. 56
29 มี.ค. 56 นายมณฑล กันล้อม ประธานกรรมการสหกรณ์ฯคลองจั่น (ขณะนั้น) ยื่นฟ้องแพ่งและฟ้องอาญานายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการฯ ข้อหายักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯคลองจั่น จำนวนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท
หลังจากนั้นในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 ของสหกรณ์ฯคลองจั่นต้องยุติกลางคัน เนื่องจากเกิดปัญหาระหว่างผู้บริหารสหกรณ์ในที่ประชุม นับเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ถูกเผยแพร่ทางสื่อมวลชนต่าง ๆ อย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ ส่งผลให้มีสมาชิกขอลาออก และขอถอนเงินฝากเป็นจำนวนมาก มีสมาชิกไม่ได้รับเงินปันผล และไม่สามารถถอนเงินที่ฝากไว้
ส่งผลถึงสหกรณ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศกว่า 70 แห่งที่ทำธุรกรรมกับสหกรณ์ฯคลองจั่น ไม่สามารถถอนเงินได้
1 พ.ค. 56 สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทของสมาชิกจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 5 สวนทางกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายของประเทศลงร้อยละ 0.25
28 พ.ค. 56 สหกรณ์ฯคลองจั่น เรียกประชุมใหญ่ตามคำสั่งศาล ที่ประชุมมีมติเลือกให้นายศุภชัย เป็นประธานกรรมการฯ
หลังจากนั้นได้ยื่นคำขอกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ฯจุฬา จำนวน 1.1 พันล้านบาท 180 งวด/เดือน มีหนี้เก่าค้างชำระ 849.92 ล้านบาท มีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ 450 ล้านบาท โดยมีเอกสารเอกสารงบกระแสเงินสดเข้า-ออก เปรียบเทียบ 3 เดือนย้อนหลัง
ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าผู้กู้มีความสามารถในการชำระหนี้ได้มากน้อยเพียงใด แนบมาเพียง 2 เดือนคือ ก.พ.-มี.ค. 56
10 มิ.ย. 56 น.ส.อุ่นเรือน เทพธาดา สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ สังกัดคณะสัตวแพทยศาสตร์ พร้อมสมาชิกกว่า 100 คน ทำหนังสือถึงสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ คัดค้านการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้สมาชิก และการขึ้นดอกเบี้ยสมาชิกครั้งนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาสหกรณ์ฯคลองจั่นหรือไม่
@การพิจารณาอนุมัติให้กู้เงิน
18 มิ.ย. 56 ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ครั้งที่ 1069/2556 มีการนำเสนอผลการพิจารณาที่สำคัญ ดังนี้
1.ข้อมูลทางการเงินเมื่อพิจารณาจากทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ สามารถอนุมัติให้กู้ได้ไม่เกิน 6,369.90 ล้านบาท
2.ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (นำมาค้ำประกัน) ราคาประเมินรวมทั้งสิ้น 1,431.49 ล้านบาท 70% ของราคาประเมินเท่ากับ 1,002.04 ล้านบาท
3.ความสามารถในการชำระหนี้ดูจากงบกระแสเงินสด ก.พ.-มี.ค. 56 จำนวน 210.10 ล้านบาท หากได้รับอนุมัติเงินกู้ 1.1 พันล้านบาท ชำระหนี้ 180 งวดเดือน ต้องชำระงวดแรกเป็นเงิน 11.56 ล้านบาท เห็นว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ได้
ที่ประชุมจึงมีมติอนุมัติเงินกู้แก่สหกรณ์ฯคลองจั่น จำนวน 1,431 ล้านบาท ระยะเวลา 180 งวดเดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.5 ต่อปี
@หลังอนุมัติให้กู้เงิน
31 ก.ค.-31 ต.ค. 56 สหกรณ์ฯคลองจั่น ผิดนัดชำระหนี้งวดที่ 1-4 โดยงวดแรกชำระเพียง 1 ล้านบาท งวดสอง 1.5 ล้านบาท งวดสาม 1 ล้านบาท และงวดสี่ ไม่ชำระหนี้
8 ต.ค. 56 คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ให้ปลดนายศุภชัย พร้อมกรรมการดำเนินการทั้งคณะ และแต่งตั้งนายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเป็นประธานฯชั่วคราว แทนชุดที่ถูกปลด
6 มี.ค. 57 คณะกรรมการศึกษาการทำธุรกรรมฯสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ทำหนังสือแจ้งขอให้เร่งดำเนินการทางกฎหมายฟ้องเรียกหนี้คืน โดยบังคับเอากับทรัพย์จำนอง เนื่องจากผู้กู้ไม่ดำเนินการตามสัญญา ก่อนที่สหกรณ์ฯคลองจั่นจะเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ
19 พ.ค. 57 สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ทำหนังสือขอถอนเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์พิเศษ จำนวน 19.84 ล้านบาท แต่ไม่สามารถถอดได้ โดยสหกรณ์ฯคลองจั่น มีหนังสือแจ้งกลับมาว่า ขาดสภาพคล่อง และอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ
21 ส.ค. 57 คณะกรรมการดำเนินการฯสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ได้ยื่นฟ้อง สหกรณ์ฯคลองจั่น ต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกหนี้คืน
26 ส.ค. 57 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์ฯคลองจั่น มีผลทางกฎหมายให้ศาลแพ่งต้องหยุดการพิจารณาคดี และจำหน่ายคดีที่สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ฟ้องเรียกหนี้คืนจากสหกรณ์ฯคลองจั่น ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลล้มละลายกลางจะมีคำวินิจฉัย
ถ้าศาลวินิจฉัยว่าไม่รับให้สหกรณ์ฯคลองจั่นเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ศาลแพ่งจึงดำเนินการทางศาลต่อไปได้ หากศาลวินิจฉัยให้สหกรณ์ฯคลองจั่นเข้าแผนฟื้นฟูกิจการได้ ศาลแพ่งจะต้องรอคอยจนกว่าแผนฟื้นฟูกิจการจะสิ้นสุด ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 5-7 ปี
ล่าสุด 15 ธ.ค. 57 ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนครั้งแรก และครั้งต่อไปโดยไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องเพิ่มเติมในวันที่ 10, 17 ก.พ. 58 และนัดสืบผู้คัดค้านการทำแผนอีก 3 วัน คือ วันที่ 2, 3, 9 มี.ค. 58
ขณะที่ ผศ.ปริญญา ผ่องผุดพันธ์ ประธานกรรมการศึกษาการทำธุรกรรมฯ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ให้ความเห็นในผลการศึกษาว่า ในฐานะประธานกรรมการฯ มีโอกาสเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของสหกรณ์ฯคลองจั่น เกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูกิจการก่อนที่จะมีการออกกฎกระทรวง และยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย ได้เห็นความพยายามของคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันที่จะติดตามหนี้สินที่ถูกฉ้อฉลยักยอกออกไป
โดยฟ้องคดีเพื่อติดตามหนี้ทวงคืน 6 คดี รวมทุนทรัพย์เป็นเงินรวม 18,000,047,268 บาท (กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท)
และได้ลองเสนอกับประธานกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ฯคลองจั่น (นายเผด็จ มุ่งธัญญา) ว่า เพื่อหักกลบลบหนี้ไม่ต้องฟ้องเป็นคดีความกัน ถ้าทางสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ จะพิจารณาขอซื้อทรัพย์จำนองนี้ในราคาที่ทราบว่าจะมีนักธุรกิจซื้อในราคา 1.8 พันล้านบาท สนใจจะขายโดยหักกลบลบหนี้กันหรือไม่ ทางประธานสหกรณ์ฯคลองจั่น ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าการเคหะแห่งชาติมาก่อน เล่าว่า ยังไม่ประสงค์จะขาย แต่มีแผนจะหาผู้ร่วมลงทุนพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
เมื่อสหกรณ์ฯคลองจั่น ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลนัดไต่สวนนัดแรกไปแล้ว ข้าพเจ้าในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาคดีตามแผนฟื้นฟูกิจการ และคณะอนุกรรมการฯทุกคน ได้เข้าร่วมรับฟังการไต่สวนคำร้องนัดแรก อันเป็นนัดประวัติศาสตร์ของการฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย
สหกรณ์ฯคลองจั่น ซึ่งเป็นลูกหนี้ได้บรรยายในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล มีข้อความว่าจะนำทรัพย์ชิ้นนี้ไปดำเนินการให้มีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินมากกว่า 3 พันล้านบาท ทำให้เห็นช่องว่างอีกช่องทางหนึ่งว่า สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ อาจได้รับชำระหนี้ด้วยการไถ่ถอนจำนอง โดยไม่ต้องรอให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการเสร็จสิ้น ซึ่งต้องใช้เวลา 5-7 ปี แต่หากต้องรอสิทธิประโยชน์ที่เกิดจากดอกเบี้ยก็จะเดินต่อไป เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ เป็นเจ้าหน้าในทรัพย์สินที่จำนองเพียงรายเดียวที่เจ้าหนี้อื่น ๆ ไม่อาจขอเข้ามาเฉลี่ยทรัพย์สินในการชำระหนี้ได้
ทั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์ฯคลองจั่น ก็ไม่อาจมาปรับโครงสร้างหนี้ได้ ถ้าสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯไม่ยอม เพราะการจำนองเป็นเป็นประกันการชำระหนี้ เป็นข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เพียงแต่ถ้าราคาที่ดินหรือทรัพย์ที่จำนองสูงกว่ามูลค่าหนี้ หรือท่วมจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ จะฟ้องเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ไม่ได้เท่านั้น
ทั้งหมดนี้คือผลการศึกษาการทำธุรกรรมระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และสหกรณ์ฯคลองจั่น แบบชัด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า มีปัญหาฉาวโฉ่ตั้งแต่ก่อนอนุมัติให้กู้เงิน จนกระทั่งยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อขอทรัพย์สินคืน แต่เรื่องก็ยังค้างเติ่งอยู่ที่ศาลล้มละลายกลาง
ท้ายสุดสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ จะได้หนี้เงินกู้คืนมาในเร็ววันนี้ หรือต้องอดทนรอไปอีก 5-7 ปีจนกว่าสหกรณ์ฯคลองจั่นจะฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จ
ต้องลุ้นคำวินิจฉัยศาลล้มละลายกลางห้ามกระพริบตา !
#เชิญชวนติดตามข่าวสารสำนักข่าวอิศรา ได้ด้วยการกด "Like" ที่ แฟนเพจ "I love isranews"
อ่านประกอบ :
โชว์เช็ค 11 ใบพันล.! “ศุภชัย”เซ็นจ่ายถึง“ธมมชโย-ธรรมกาย-เครือข่าย”
บ้าน2หลัง"ศุภชัย"ก่อนเซ็นจ่ายเช็ค 4 ใบ ให้"ธมมชโย-ธรรมกาย" 316ล้าน
ขุมธุรกิจ "วัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์" โผล่รับเช็ค450 ล.ล็อตเดียว“ธมมชโย”
บ.อดีตพระธรรมกาย ก่อน ปปง.เจาะตู้เซฟ ทำธุรกิจเกษตร มีเงินให้กู้ 5.1 พันล.