ตามดูพยาบาลสามพันอัตรา (1) เส้นทางที่มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ข่าวเล็กๆ จากชายแดนใต้ที่ไม่ใคร่มีใครให้ความสนใจนัก คือเหตุการณ์ลอบยิง นายอารฟัต รักษ์ปราชญ์ อายุ 24 ปี พยาบาลชายประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าทราย อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่การลอบสังหารแพทย์ พยาบาล ถือเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องต้องห้ามไม่ว่าจะเป็นสงคราม ณ พื้นที่ใดในโลก
ยิ่งไปกว่านั้น นายอารฟัต ยังเป็นบัณฑิตพยาบาลในโครงการ “พยาบาลสามพันอัตรา” ของรัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันทำโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพจำนวน 3,000 คน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่
ทั้งยังช่วยให้เยาวชนในพื้นที่ได้ศึกษาต่อและมีงานทำแน่นอนอีกด้วย
ผ่านมาหลายปี ความเคลื่อนไหวของโครงการค่อยๆ เงียบหายไปจากกระแสสื่อ กระทั่งมาปรากฏข่าวร้าย พยาบาลชายรายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต จึงน่าติดตามดูว่านักเรียนหญิงชายที่เข้าร่วมโครงการพยาบาลสามพันอัตราเมื่อหลายปีก่อนนั้น ปัจจุบันชีวิตของพวกเขาและเธอเป็นเช่นไร...
ย้อนอดีต “พยาบาลสามพัน”
โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2550 โดยคัดเลือกนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในพื้นที่จำนวน 3,000 คนเข้าศึกษาต่อยังวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี (วพบ.) ของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 25 แห่งทั่วประเทศ และเกือบทั้งหมดเพิ่งสำเร็จการศึกษาในปี 2554 นี้เอง
หลังสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาสมใจ แต่ละคนก็ต้องกลับไปทำงานในภูมิลำเนาหรือบ้านเกิด และได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนตามเงื่อนไขของโครงการซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อขอกันตำแหน่งเอาไว้ ทำให้ปัจจุบันจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตราพยาบาลเพิ่มขึ้นจนเพียงพอและสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี เส้นทางของพยาบาลในโครงการผลิตพยาบาลสามพันอัตรานี้ ต้องบอกว่าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะพวกเขาและเธอต้องเผชิญปัญหามากมาย โดยเฉพาะเรื่องการยอมรับในความรู้ความสามารถ เนื่องจากเป็นโครงการพิเศษ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องการถูกต่อต้านจากพยาบาลรุ่นพี่ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ
คนเหนือกลัวฮิญาบ
โรงพยาบาลกะพ้อ จ.ปัตตานี เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ได้รับอัตรากำลังบรรจุพยาบาลในโครงการนี้จำนวน 30 คน ซึ่งเป็นอัตราที่มากทีเดียวสำหรับโรงพยาบาลจำนวน 30 เตียง
วันนูเรีย มะแซ หนึ่งในพยาบาลของโครงการฯ ซึ่งเป็นชาว อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และได้เข้าทำงานที่โรงพยาบาลกะพ้อ เล่าถึงชะตาชีวิตที่พลิกผันของเธอกว่าจะได้สวมหมวกขาว
“ตอนที่มีโครงการพยาบาลสามพันอัตรา ฉันกำลังเรียนชั้นปีที่ 1 สาขาจิตวิทยาอยู่ที่ ม.อ.ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) พอได้ทราบข่าวเกี่ยวกับโครงการว่าจะมีการบรรจุเป็นข้าราชการให้ด้วย บวกกับพ่อแม่อยากให้เรียน ก็เลยตัดสินใจ ทั้งที่ขณะนั้นฉันไม่ได้มีใจเต็มร้อยกับอาชีพนี้”
แม้จะผ่านการสอบคัดเลือก แต่ชีวิตการเรียนก็ไม่ใช่ง่าย ต้องปรับตัวปรับใจกันมากพอสมควร
“พอสอบผ่านแล้วทางโครงการก็ให้เลือกที่เรียน ถ้าเป็นวิทยาลัยพยาบาลใกล้ๆ สามจังหวัดจะมีคนเลือกเยอะ ฉันจึงเลือกไปลงที่เชียงใหม่ ไปกัน 70 คนทั้งพุทธและมุสลิม เรียนไปก็ปรับตัวไป เรื่องอาหารต้องทำกินกันเอง เรียนประคับประคองเกรด จนปี 3 เริ่มตั้งใจเรียนมากขึ้น เกรดก็ดีขึ้น เริ่มชอบในวิชาชีพมากขึ้น”
แต่ปัญหาที่มากกว่านั้นของวันนูเรีย คือความไม่ไว้วางใจของคนไข้ที่มีต่อเธอ...
“ตอนไปฝึกงานกับโรงพยาบาลศูนย์ที่มีชาวเขาก็เจอปัญหา เวลาคลุมฮิญาบคนไข้จะไม่เอาเราเลย เขาว่าเรามาจากภาคใต้จะไปทำร้ายเขา กระทั่งได้รู้ความจริงว่าเขามีญาติที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ทางบ้านเรา (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) เมื่อเขาเห็นคนคลุมฮิญาบเขาจึงกลัว”
“ตอนนั้นรู้สึกกดดันมาก เพราะโดนมองในแง่ลบตลอดเพียงเพราะเป็นคนจากพื้นที่ชายแดนใต้ ช่วงแรกเข้าชุมชนไม่ได้เลย ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ กระทั่งเมื่อชาวบ้านไว้ใจ เขาก็บอกว่าความจริงไม่ได้น่ากลัวเหมือนข่าวที่ได้รับรู้ เพียงแต่คนเรามักตัดสินคนอื่นด้วยรูปลักษณ์จากภายนอกมากกว่าจะสัมผัสกันด้วยใจก่อน”
จากปัญหาที่เผชิญและก้าวผ่านมาได้ ทำให้ วันนูเรีย ได้บทเรียนไม่น้อย
“การเรียนพยาบาลไม่เหมือนเรียนสาขาวิชาอื่นในมหาวิทยาลัย เพราะเราต้องอยู่กับคน หากเข้าถึงจิตใจเขาไม่ได้เราก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้นต้องทำทุกอย่างเพื่อเข้าถึงคนไข้ และนักเรียนพยาบาลของ วพบ.จะเน้นทักษะวิชาชีพที่ใช้ในการทำงานมากๆ”
ถูกมอง”อภิสิทธิ์ชน”
เมื่อเรียนจบกลับมาทำงานในพื้นที่แล้ว วันนูเรียบอกว่ายังมีปัญหาตามมาอีกสารพัน...
“ช่วงแรกต้องใช้เวลาเป็นเดือนในการปรับตัว รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ฝึกงานมาก็เยอะ แต่เมื่อมาทำงานจริงต้องเรียนรู้ทุกอย่างในวอร์ดใหม่หมด เรื่องภาษาก็เป็นปัญหา อย่างตอนเรียนใช้ภาษาไทยตามอาการของโรค แต่เมื่อมาทำงานในพื้นที่ที่ต้องใช้ภาษายาวี ทำให้ศัพท์เทคนิคบางคำเป็นคำที่สื่อสารยากมากกว่าชาวบ้านจะเข้าใจ”
“บรรยากาศในที่ทำงานก็น่าหนักใจ เพราะมีเสียงว่าไม่ชอบน้องพยาบาลสามพัน เราก็คิดไปเองด้วยว่าพี่ๆ เขาคงไม่ชอบเรา เมื่อมาเริ่มคุยเปิดใจกัน พี่ๆ บอกว่ากลัวพวกเราจะดื้อ ไม่เชื่อฟัง แต่ละคนคิดกันคนละมุม พี่ที่ยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการก็มองพวกเราในแง่ไม่ดี ตอนแรกเราไม่รู้ว่าเขาน้อยใจเรื่องตำแหน่ง เมื่อรู้ถึงสาเหตุ ได้คุยกันจึงเข้าใจกัน”
วันนูเรีย เล่าว่า ได้ติดต่อกับเพื่อนๆ ที่เรียนมาด้วยกัน และไปทำงานอยู่โรงพยาบาลอื่น ทุกคนบอกตรงกันว่าเวลาทำงานจะมีคนพยายามหาข้อบกพร่อง มองพยาบาลสามพันในแง่ลบ คิดว่าเด็กที่จบโครงการนี้มีอภิสิทธิ์ เข้าเรียนง่าย ได้ตำแหน่งก็ง่าย
“เราเจอทัศนคติทั้งแง่ดีและไม่ดี แต่ก็มีคนที่ให้กำลังใจ จึงไม่มีความคิดลาออก คิดว่าเป็นเรื่องนิสัยใจคอของแต่ละคนมากกว่า เมื่อรู้นิสัยกันก็คุยกันได้ ตั้งใจทำงานให้เต็มความสามารถเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเราสามารถทำงานได้จริง”
ขอกำลังใจให้กัน...
พยาบาลในโครงการที่เลือกทำงานที่โรงพยาบาลกะพ้อ ต่างคนต่างจบการศึกษามาจากหลาย วพบ. เช่น อัมรี สาแม พยาบาลชายหนึ่งในสามคน เขาเป็นคนกะพ้อ จบจาก วพบ.อุดรธานี
ดูเผินๆ อัมรีเป็นหนุ่มอารมณ์ดี มีรอยยิ้มบนใบหน้าอยู่เสมอ ทำให้หลายคนที่พบเจอเขาอาจจะคิดว่าเขาไม่ค่อยใส่ใจปัญหาที่กลุ่มพยาบาลสามพันต้องเผชิญสักเท่าไรนัก หากเมื่อคุยกันจึงทำให้รู้ว่าเขามีความเครียดไม่น้อย
“ตอนสมัครเข้าโครงการเขาบอกว่าต้องทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้ 4 ปีถึงจะสามารถย้ายออกนอกพื้นที่ได้ และถ้าทำงานครบ 2 ปีแรกก็ย้ายสลับในพื้นที่สามจังหวัดได้ เมื่อเริ่มทำงานผมเลือกลงแผนกฉุกเฉิน เพราะคิดว่าเป็นงานที่เหมาะกับผู้ชาย ส่วนปัญหาที่ได้ยินมา ผมก็เจอเหมือนกัน”
“อยากให้มองมุมใหม่ว่าพวกเราสามารถดูแลคนไข้ได้ เราไม่ได้ทำเล่นๆ หรือทดลองงาน เพราะปัจจุบันคือชีวิตจริง ก่อนจบก็ต้องสอบผ่านหลักสูตรมาตรฐานเช่นเดียวกับพยาบาลที่เรียน 4 ปีภาคปกติ และตามกฎที่สภาการพยาบาลบังคับ อยากให้เป็นกำลังใจให้กันดีกว่า”
ลดแรงต้านจากพยาบาลรุ่นพี่
ในบรรยากาศตึงเครียดระหว่างกันของบุคลากรในโรงพยาบาลกะพ้อ คนที่เชื่อมสัมพันธ์และสร้างสมานฉันท์ในเรื่องนี้คือ มารีนี สแลแม พยาบาลวิชาชีพ งานสุขภาพจิตและยาเสพติด ศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต
“น้องๆ ลงมาทำงานเกือบ 6 เดือนแล้ว เราก็ให้หมุนเวียนไปเรียนรู้งานทุกหน่วยงานในโรงพยาบาลเพื่อหาความถนัดและความชอบของแต่ละคน หากคนชอบในบางหน่วยมากเกินกำลังที่หน่วยจะรับได้ ก็จะมีการคัดกรองจากพี่ๆ อีกที ตอนนี้มีการประเมินกันแล้ว ซึ่งน้องแต่ละคนก็มาจากต่างที่มา ไม่ได้เป็นเพื่อนกันมาก่อน เมื่อมาทำงานที่นี่ต้องทำให้รู้สึกว่าเป็นคนที่นี่ ให้มีประธานรุ่นดูแลกันเองด้วย เพื่อให้เขาเกาะกลุ่มกันทำงานและมีความรักสามัคคีระหว่างกันก่อน”
“ปัญหาที่มีก็ตั้งแต่การไปแนะนำตัวในหน่วยงาน น้องใหม่ทักพี่แต่พี่ไม่ทักตอบ จึงกลายเป็นประเด็น น้องก็ร้องไห้ว่าไปเรียนก็ถูกกดดันมากอยู่แล้ว พอเรียนจบกลับมาคาดหวังว่าจะได้รับการต้อนรับที่ดี กลับต้องมาเจออย่างนี้อีก เมื่อเราไปคุยเจาะกับพี่ๆ รายคน จึงได้คำตอบว่าเด็กกลุ่มนี้มาแย่งตำแหน่งจึงไม่ชอบหน้า ข้อสอบที่สอบเข้าก็ง่ายกว่า แล้วจะทำงานมีมาตรฐานได้อย่างไร”
“เมื่อได้ทราบปัญหาเราจึงคุยกันในระดับหัวหน้าว่าจะทำอย่างไร เป็นความโชคดีของที่นี่ที่พยาบาลจะจัดเถาเป็นเครือญาติ เหมือนเป็นพี่รหัสน้องรหัสตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อให้ดูแลกันแต่ละสาย และหาตัวต้นเหตุความขัดแย้งมาคุยกันในเฟซบุ๊คก่อน แล้วเข้าไปคุยกันในแต่ละกลุ่มอย่างเปิดใจ บอกเขาว่าเป็นริสกี (ผลบุญ) ที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้แก่น้องๆ กลุ่มนี้ ไม่สามารถแข่งกันได้หากไม่ได้เป็นประสงค์จากพระเจ้า ให้ยอมรับว่าทุกอย่างถูกลิขิตไว้แล้ว อย่างน้องบางคนเห็นว่าโครงการนี้มีความมั่นคงจึงลาออกจากที่เรียนอยู่ที่อื่นเพื่อไปสอบ ประกอบกับโรงพยาบาลกะพ้อเรานำเอาวิถีมุสลิมมาใช้ ทุกอย่างก็ดีขึ้น หลังจากนั้นก็มีการพูดคุยกันทุกเดือนโดยมีเราเป็นตัวเชื่อมประสาน”
มารีนี บอกว่า ปัญหาเรื่องการบรรจุตำแหน่งที่ผ่านมาก็มีอยู่ พียงแต่ไม่เยอะขนาดนี้ โดยเมื่อก่อนหากเรียนด้วยทุนของจังหวัดเหมือนอย่างตัวเธอซึ่งมีจำนวนน้อย พอจบมาก็บรรจุเข้ารับราชการได้เลย แต่ช่วงหลังมีนักเรียนพยาบาลจบมากขึ้น ก็ต้องรอตำแหน่งและรอสอบผ่านสภาการพยาบาลก่อน แต่เด็กที่จบในโครงการพยาบาลสามพันกลับได้บรรจุทันที
“ต้องเข้าใจว่าน้องๆ ไม่ได้มีความผิด เพียงแต่สิทธิในโครงการทำให้คนทำงานเดิมรู้สึกน้อยใจ จากการสังเกตและได้รับข้อมูลมาพบว่าคนที่เรียนพยาบาลในโครงการนี้เรียนด้วยจิตวิญญาณที่อยากเป็นพยาบาลจริงๆ ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เรียนเพราะความต้องการของทางบ้านประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ และเรียนด้วยความอยากรับราชการอีก 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกลุ่มหลังนี้ต้องการความมั่นคงในหน้าที่การงาน อย่างน้องทันตภิบาลที่นี่ยังลาออกไปสอบด้วยความอยากเป็นพยาบาลวิชาชีพ”
มารีนี บอกด้วยว่า อันที่จริงแต่ละ วพบ.ก็มีมาตรฐานการเรียนการสอนอยู่แล้วในหลักสูตรปกติ ฉะนั้นหากใครพูดว่าน้องๆ กลุ่มนี้ไม่มีมาตรฐาน ก็เหมือนกับดูถูกมาตรฐานของ วพบ.ด้วย ซึ่งเชื่อว่า วพบ.ไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นแน่ เนื่องจากทราบว่ายังมีน้องๆ ที่ไม่จบหลักสูตรอีกจำนวนหนึ่ง และมีบางคนเหมือนกันที่ลงพื้นที่แล้วลาออกหรือต้องการความสะดวกสบาย ฉะนั้นน้องๆ ที่จบออกมาและยังเต็มใจทำงานในพื้นที่จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้กำลังใจ
“เราต้องให้เวลาพวกเขาในการทำงานพิสูจน์ตัวเอง หลายคนมีวิสัยทัศน์และมีวิธีการดูแลผู้ป่วยที่เป็นประสบการณ์จากต่างพื้นที่แล้วนำมาปรับใช้ได้ดี ซึ่งเป็นวิธีใหม่และมีศักยภาพระดับหนึ่ง ฉะนั้นจึงอยากให้ทุกคนทำงานกันอย่างมีความสุข” มารีนี กล่าว
เรื่องราวของ “พยาบาลสามพัน” ยังไม่จบ โปรดติดตามตอนต่อไป...
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนียะลา
2 บรรยากาศสมัยเรียนในห้องเรียน