เตรียมเปิดทำเนียบฯ เป็นสำนักงานโฉนดชุมชน จัดงบ 100 ล้านตั้งองค์กรธนาคารที่ดิน
สมัชชาที่ดินวันสุดท้าย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์เปรียบเหมือนเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ รัฐ-ชาวบ้านมองปัญหาตรงกัน แต่ต้องเข็นราชการให้เดินหน้า สาทิตย์เผยนายกฯสั่งเปิดทำเนียบฯเป็นที่ทำการโฉนดชุมชน เพิ่มพื้นที่นำร่องเป็น 81 แห่ง เตรียมงบ 100 ล้านตั้งองค์กรชั่วคราวธนาคารที่ดิน เดินหน้าเคลียร์ 70 กรณีเร่งด่วน ด้านภาค ประชาชนเรียกร้องออกกฏหมายโฉนดชุมชน ยกเลิกหน่วยงานและกฏหมายคุกคามสิทธิชาวบ้าน
วันนี้(25 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดเสวนา“การจัดการที่ดินเพื่อการทำกิน : ปัญหาและทางออก” เป็นวันที่สอง เพื่อรวบรวมและสรุปข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี โดย นายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ที่ได้จากการระดมความเห็นซึ่งชาวบ้านต้องช่วยรัฐคิดต่อคือ ต้องกำหนดโมเดลการใช้ 3 เครื่องมือแก้ไขปัญหาที่ดินให้ใช้งานง่าย เข้าถึงทุกกลุ่มปัญหา และได้ผลยั่งยืน ได้แก่ โฉนดชุมชน ธนาคารดิน และมาตรการภาษีเพื่อกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย รวมทั้งการปฏิรูปกฎหมายให้ยุติธรรม, บูรณาการหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านทรัพยากรให้ทำตามนโยบายรัฐอย่างมีเอกภาพ ยุติการจับกุมและหาทางออกให้ชาวบ้านที่ถูกคดี, สร้างกระบวนการลดความเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินของชาวบ้าน ตลอดจนหามาตรการชดเชยความเสียหายให้ชาวบ้านที่ต้องย้ายออกจากที่ดิน ตามนโยบายรัฐ รวมทั้งชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ดินซึ่งมีเอกสารสิทธิ์เพราะภัยธรรมชาติ เช่น การกัดเซาะชายฝั่ง
ทั้งนี้ตัวแทนภาคประชาชนนำเสนอผลสรุปแนวทางการจัดการที่ดินทำ กินโดยมีสาระสำคัญคือ 1.ขอให้รัฐจัดสรรโฉนดชุมชนในที่ดินรกร้างว่าง เปล่าหรือไม่เกิดประโยชน์ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ที่ดินรัฐ และครอบคลุมทั้งชุมชนเมือง ชนบท พื้นที่เกษตรกรรม กลุ่มคนชายขอบ และจะยกเลิกได้ก็ต่อเมื่อชุมชนไม่ต้องการใช้พื้นที่นั้นแล้ว ที่สำคัญคือออกเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)โฉนดชุมชน เพื่อให้นโยบายยั่งยืนไม่เปลี่ยนแปลงตามการเมือง และให้มีพื้นที่นำร่องจังหวัดละ 1 แห่งทั่วประเทศ 2.ธนาคารที่ดิน ควรตั้งคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบทั้งรัฐและประชาชนในสัดส่วนเท่ากัน ร่วมวางมาตรการกรอบการทำงานทุก 3 เดือนและให้รัฐจัดประชุมใหญ่เพื่อติดตามผลทุก 6 เดือน และทำงานควบคู่กับโฉนดชุมชน 3.การจัดเก็บภาษีที่ดินต้องสอดคล้องกับการใช้ที่ดิน ขนาดผังเมือง โดยอาจเก็บในอัตราก้าวหน้า และควรยกเลิกหรือปรับลดภาษีให้เกษตรกรรายย่อย 4.มี การทำข้อมูลที่ดินที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะบางพื้นที่ไม่สามารถใช้เพียงโฉนดชุมชนหรือธนาคารที่ดินแก้ไขได้
5.ควรยกเลิกกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่บุกรุก ที่ดิน(กบร.) และตั้งองค์กรกลางที่มาจากทุกภาคส่วนทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย เยียวยาชาวบ้านในกรณีที่เข้ามาใช้ที่ดินทำกินหลังประกาศเขต ไม่ควรสั่งรื้อถอนหรือจับกุมทันที 6.ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ที่ดินที่เป็นปัญหาคุกคามสิทธิและ กฎหมายคุ้มครองพื้นที่การเกษตร โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม 7.ยุติหรือผ่อนปรนการฟ้องคดีไว้ก่อน 8.กรณีจ่ายค่าชดเชยควรพิจารณาเป็นรายกรณี จ่ายตามสภาพปัญหาจริง และควรมีค่าเสียโอกาสหรือสนับสนุนอาชีพระหว่างหาที่ทำกินใหม่ 9.การ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน เช่น การตั้งกระทรวงที่ดิน โดยรวมกรมที่ดิน(สังกัดกระทรวงมหาดไทย) สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม(กระทรวงเกษตรฯ) และกรมธนารักษ์(กระทรวงการคลัง) เข้าด้วยกัน และ 10.ให้รัฐสนับสนุน ภูมิปัญญาองค์ความรู้ท้องถิ่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะตลิ่งในพื้นที่ชายฝั่ง และตั้งกองทุนให้ชาวบ้านร่วมบริหารจัดการ
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า กุญแจสำคัญคือการทำให้ข้อเสนอทั้งหมดถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เพราะที่ดินเป็นความมั่นคงของชีวิตมนุษย์และความมั่นคงทางอาหารของโลก การแก้ปัญหาที่ดินคือการปฏิรูปประเทศที่นำไปสู่ความสงบสุขและมั่นคง ซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์ 3 เรื่องคือ การกำหนดระเบียบวินัยการใช้อำนาจรัฐ, ธรรมศาสตร์หรือธรรมะในการบังคับใช้กฎหมาย รวบรวมงานวิจัยปัญหาอย่างเป็นระบบ
“กำลังเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์เพราะข้างบนรู้แล้วต้องทำอะไร ขณะที่ชาวบ้านก็ชัดเจนว่าควรทำอะไร แต่จุดอ่อนอยู่ตรงกลางคือหน่วยงานระดับจังหวัดอำเภอ จะจัดการให้เร็วขึ้นต้องเชื่อมวงจรสามส่วน”
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะรวบรวมข้อเสนอส่งให้ผู้เกี่ยวข้อง และทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ภายใน 2-3 สัปดาห์ และในวันที่ 5 ก.ค. นี้ จะเปิดทำเนียบรัฐบาลให้เป็นที่ทำการสำนักงานโฉนดชุมชนตามคำสั่งของนายกฯ พร้อมเร่งเดินหน้าพื้นที่นำร่อง 30 แห่งเดิมและอีก 81 แห่งที่ภาคประชาชนเสนอภายใน 120 วัน ส่วนธนาคารที่ดินจะจัดตั้งองค์การชั่วคราวธนาคารที่ดินโดยใช้งบกลางกว่า 100 ล้านบาทซื้อที่เอ็นพีแอลในภาคเหนือ ซึ่งข้อเสนอในเวทีนี้ยังช่วยเร่งเรื่องภาษีที่ดินซึ่งเป็นแหล่งทุนสำคัญของ ธนาคารที่ดินให้เกิดเร็วขึ้นด้วย
“การแก้ไขเร่งด่วนรายกรณีซึ่งค้างอยู่อีกกว่า 70 เรื่องก็ต้องเดินหน้าต่อ และเห็นด้วยกับข้อเสนอให้จัดเวทีเช่นนี้อีก 3 เดือนข้างหน้าเพื่อติดตามประเมินผล ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนนโยบายหลักทั้ง 3 เรื่อง และอาจต้องเปิดเวทีแบบนี้ในต่างจังหวัดให้คนไม่มีโอกาสเข้าร่วมเพื่อปรองดอง เกิดได้อย่างแท้จริง”
ส่วนข้อร้องเรียนเรื่องการทำงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสาทิตย์ กล่าวว่า เจ้ากระทรวงก็เห็นด้วย แต่แนวคิดหรือความเข้าใจบางอย่างอาจไม่ตรงกัน ขอให้ชาวบ้านอย่ามองราชการเป็นขั้วตรงข้าม แต่ให้มองปัญหาเป็นหลักแล้วแก้ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ต้องยอมรับว่าปัญหาซับซ้อนแก้ไม่ได้ภายใน 1-2 เดือน หากจะทำให้สำเร็จต้องมีเจ้าภาพและพลังหนุนจากประชาชน.