สร้างโอกาสในการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันด้วยเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก
ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงข้อเสนอ “เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก” ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์การภาคประชาชน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และองค์การยูนิเซฟ กำลังผลักดันเพื่อให้ออกมาเป็นนโยบายภายในปีนี้ว่า เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานเพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ และเข้าถึงโอกาสการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน ถือเป็น “การคุ้มครองเพื่อการพัฒนา” ซึ่งจะถูกละเลยไม่ได้ ซึ่งประเทศใกล้เคียง เช่น จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน มองโกเลีย และศรีลังกา ล้วนมีเด็กเล็กมากมายกำลังเติบโตอย่างมีคุณภาพด้วยเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแล้ว
เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก เป็นการคุ้มครองทางสังคมอย่างหนึ่งภายใต้ระบบสวัสดิการเพื่อการคุ้มครองทางสังคมในระบบสากล โดยผู้รับไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ สำหรับกรณีของประเทศไทยนับตั้งแต่อดีต มีการดูแลให้มีการบริการรักษาพยาบาลฟรีถ้วนหน้า เรียนฟรีถ้วนหน้า เบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า แต่กลับไม่มีเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กมาก่อน ทั้งที่ถือว่าเป็นการลงทุนด้านสังคมที่คุ้มค่าที่สุด
โดยมีผลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง ศ. ดร. เจมส์ เจ เฮคแมน สนับสนุนอีกเสียงหนึ่งว่าการลงทุนพัฒนาเด็กโดยเฉพาะช่วงปฐมวัย จะให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคตถึง 7-10 เท่า นับเป็นการลงทุนที่ให้ผลแก่สังคมที่ดีที่สุดในระยะยาว
เมื่อเด็กได้รับเงินอุดหนุน จะก่อให้เกิดผลดี 3 ด้าน คือ
1. ด้านทรัพยากรมนุษย์ เด็กจะมีผลการเรียนดีขึ้น สำเร็จการศึกษามากขึ้น และเงินอุดหนุนเด็กครอบคลุมค่าใช้จ่ายเบื้องต้นคือค่าอาหาร จะทำให้เด็กมีภาวะโภชนาการที่ดี ลดการเกิดโรคต่างๆ จนถึงวัยชรา
2. ด้านเศรษฐกิจ เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะช่วยสร้างแรงงานคุณภาพให้เป็นผู้เสียภาษีที่มีศักยภาพ เม็ดเงินที่ไหลไปสู่มือของประชาชนจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งระดับชาติและท้องถิ่น อีกทั้งงบประมาณเพื่ออุดหนุนเด็ก เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ใช้เพื่อผู้สูงอายุ จะมีแนวโน้มที่ลดลงในอนาคต เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
3. ด้านความสมานฉันท์ทางสังคม เงินอุดหนุนเด็กช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสของเด็กในการพัฒนาด้านต่างๆ และช่วยลดโอกาสในการที่พ่อหรือแม่จะละทิ้งลูกให้อยู่กับคนอื่น
เนื่องจากนโยบายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กจะดำเนินการผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด ทำให้เกิดข้อกังวลถึงงบประมาณในการดำเนินการของนโยบายนี้ โดยข้อเสนอเงินอุดหนุนเด็กต่อหัวจากที่เสนอไว้ประมาณ 600 บาท/คน/เดือน ถูกปรับเหลือเป็น 400 บาท/คน/เดือน และช่วงอายุเด็กที่หารือกันและนำเสนอไป คือ 0-6 ปี ถูกปรับเหลือเพียง 0-1 ปี
ความคืบหน้าล่าสุดของการผลักดันข้อเสนอนี้ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ทาง พม. และสภาพัฒน์ได้ร่วมกันในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น เพื่อจะนำข้อเสนอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีในวาระต่อไป
เนื้อหาสำคัญที่นำเสนอ คือ โครงการนำร่องสำหรับเงินอุดหนุนจะให้กับแม่ที่ยากจน อยู่ในครัวเรือนยากจนและเสี่ยงต่อความยากจนแบบถ้วนหน้า ทั้งนี้แม่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และฝากครรภ์ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 ถึง 30 ต.ค. 2559 ส่วนการดำเนินงานจะเป็นการแจกสมุดบันทึกการตรวจสุขภาพของเด็กที่ต้องบันทึกรายละเอียดการรับวัคซีนด้วย การรับสมุดบันทึกการตรวจสุขภาพของแม่จะเท่ากับเด็กได้เข้ามาสู่ระบบที่สามารถรับเงินอุดหนุนเด็กได้ โดยรูปแบบตามที่ พม. และสภาพัฒน์นำเสนอ แตกต่างไปจากข้อเสนอที่เครือข่ายองค์การภาคสังคม ยูนิเซฟ และทีดีอารืไอได้เสนอไว้เมื่อแรกเริ่ม คือวิธี U1T2 (universal first, targeting second) โดยเสนอว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับเงินอุดหนุนนี้ในเบื้องต้น แต่หากตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่าพ่อแม่ของเด็กอยู่ในฐานภาษีสูง หรือเป็นผู้ประกันตนที่มีรายได้สูง เด็กจึงจะถูกตัดสิทธิรับเงิน
ดร. สมชัย ระบุ 2 ข้อควรระวังจากข้อเสนอล่าสุด คือ ปัญหาเรื่องเงินอุดหนุนไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง (exclusion error) เพราะกลุ่มเป้าหมายคือแม่ที่ยากจนขาดการรับรู้ข่าวสาร หรือถูกเลือกปฏิบัติจากผู้นำชุมชนที่อาจมีส่วนในการรับรองให้แม่ที่ยากจนเข้าร่วมในระบบ และอีกปัญหาคือ การให้เด็กได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะในช่วง 0-1 ปี อาจเป็นเรื่องยากที่จะวัดระดับสติปัญญาของเด็ก หรือประโยชน์ที่เด็กได้รับจากเงินอุดหนุนอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ถ้าหากภาครัฐสนับสนุนให้เครือข่ายชุมชนสามารถประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง และเร่งเก็บข้อมูลที่จะนำมาเป็นตัวชี้วัด อาทิเช่น น้ำหนักหรือส่วนสูงของเด็ก น่าจะแก้ปัญหาข้างต้นได้.