‘บวรศักดิ์’แจงยกร่างรธน.ป้องส.ว.ไม่ให้เป็นกระจกเงาส.ส.
‘บวรศักดิ์’ แจงคืบหน้ายกร่างรธน.ต่อสนช. ยันให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมเพื่อถ่วงดุล ส.ส. ย้ำไม่ใช่ ส.ว.ลากตั้ง โยนสื่อตั้งเอง
5 มี.ค.58 เมื่อเวลา 09.30 น. ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ ได้ให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ รายงานความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาไปแล้ว 57 ครั้ง 400 กว่าชั่วโมง ซึ่งร่างแรกจะต้องทำให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอต่อ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ จากนั้นเดือน พ.ค. สปช. ,ครม. และคสช.สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ จะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อพิจารณาเป็นร่างสุดท้าย แล้วเสนอต่อที่ประชุมสปช.อีกครั้งภายในวันที่ 23 ก.ค. เพื่อให้สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ภายในวันที่ 6 ส.ค.
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำโดยเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ยกเว้นการพิจารณาเป็นการภายใน และมีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายหน่าวยงานก่อนพิจารณาลงไปในเนื้อหาแต่ละมาตรา ถ้ามีความเห็นต่างก็จะพิจารณาหลักการก่อน ทั้งนี้การร่างรัฐธรรมนูญยึดหลักเจตนารมณ์ 4 หลัก คือ 1.สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ 2.การเมืองใสสะอาดและสมดุล 3.หนุนสังคมคุณธรรม และ4.นำชาติสู่สันติสุข
ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวอีกว่า ส่วนที่มาส.ว.นั้นเราไม่ต้องการให้ ส.ว.เป็นกระจกส่อง ส.ส.อีกแล้ว เพราะในปี49 ส.ว. 200 คน มี 47 คนที่เป็นเครือญาติของส.ส.ซึ่งการเลือกตั้งส.ว.ครั้งแรกไม่มีปัญหาเพราะพรรคการเมืองตั้งตัวไม่ได้ แต่พอเขาตั้งตัวได้ ก็มีการแบ่งพื้นที่กันเรียบร้อย ดังนั้นเราไม่ต้องการให้ส.ว.เป็นกระจกเงาส.ส.เราจึงต้องทำให้ส.ว.เป็นพหุนิยมของพลเมืองที่หลากหลายอาชีพ เพื่อถ่วงดุลกับส.ส. ซึ่งสภาที่เป็นพหุนิยม ไม่ใช่ลากตั้ง คำว่าลากตั้งเป็นภาษาของสื่อบางฉบับที่ดูถูกการเลือกตั้ง ดังนั้นปัจจุบันส.ว.จึงต้องมาโดยระบบเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งส.ว.จะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งนั้นสำคัญน้อยกว่าบทบาทหน้าที่
นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการเลือกตั้งส.ส.นั้นระบบเลือกตั้งเดิมทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้คะแนนมนิยมเกินกว่าที่ประชาชนให้จริง เราจึงสร้างสมดุลในความนิยม โดยใช้ระบบสัดส่วนผสมกับแขต ซึ่งวัดคะแนนได้จากทั่วประเทศ เราจึงต้องกำหนด ส.ส. 470 ที่นั่ง การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ทำให้เกิดรัฐบาลผสม ซึ่งเอื้อต่อการปรองดอง ทำให้เกิดการพูดคุยของพรรคการเมือง ไม่คิดว่าข้าใหญ่คนเดียว เพราะที่ผ่านมาเมื่อพรรคใหญ่เป็นรัฐบาล แล้วเกิดการไม่พอใจ พรรคเล็กก็ออกมาบนท้องถนน หรือถ้าพรรคเล็กเป็นรัฐบาล พรรคใหญ่ก็ออกมาบนท้องถนนเช่นกัน ซึ่งเป็นอย่างนี้มา 9 ปีแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องทำให้เกิดความสมดุลของพรรคการเมือง
ขอบคุณข่าวจาก