เปิดรายงานกรรมการสิทธิ์ฯ “ชะตากรรมชาวบ้านแหง” ใต้อุ้งมือนักการเมือง !
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงนโยบายอย่างเป็นทางการ 23 ส.ค.54 หนึ่งในนั้นคือ “การเร่งรัดสำรวจและแสวงหาแหล่งแร่สำคัญเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และพัฒนาอุตสาหกรรมต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม” โดยให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน
นโยบายดังกล่าวของ “รัฐบาลปู 1” ถูกบรรจุในนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่หน่วยงานโดยตรงที่รับผิดชอบโดยตรงในการทำเหมืองแร่ คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดแผนยุทธศาสตร์ประจำปีงบประมาณ 2554-2557 พร้อมทั้ง มอบรางวัล “เหมืองแร่สีเขียว” ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์กระทรวงกว่า 42 เจ้าของธุรกิจแร่
ทั้งแผนยุทธศาสตร์ และ โครงการเหมืองแร่สีเขียว ที่ชูขึ้นเป็นแผนโฆษณาประชาสัมพันธ์ แบบ “ฉบับปิดตาข้างเดียว” แทบไม่เอ่ยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่มีเกือบ 50 พื้นที่ทั่วประเทศ ตรงกันข้ามกลับถูกยกเป็นประเด็นนำเสนอในแผนพัฒนาดังกล่าวที่ระบุว่า เป็นปัจจัยที่เป็น”อุปสรรค” ต่อ การดำเนินงาน เพราะมองว่า “บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนในการคัดค้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน ส่งผลกระทบต่อบทบาทของกรมในการบริหารจัดการแร่ภายในประเทศ”
ใน “สายตา” ของรัฐ จึงไม่มีพื้นที่ไว้สำหรับชาวบ้าน ไม่ได้ยินเสียงร้องของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ในการทำเหมืองแร่ ตั้งแต่ติดกระดุมเม็ดแรกอย่างการเริ่มต้นขอประทานบัตรที่สร้างความขัดแย้งของคนในชุมชน ความเดือดร้อนจากผลกระทบที่อยู่ระหว่างการประกอบกิจการเหมืองแร่ หรือ หลังจากเลิกกิจการแล้วทิ้ง “ซาก” อุตสาหกรรรมอันตราย เอาไว้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ดูต่างหน้า
ทรัพยากรแร่ ที่ควรจะเป็นของ “ประชาชน” ทุกคน กลับถูกใช้วาทกรรมว่าเป็นของ “รัฐ” ที่พร้อม จะเสนอให้นักธุรกิจการเมือง และนายทุนข้ามชาติได้ตลอดเวลา
เปิดผลสอบ อนุกรรมการสิทธิ์
คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เสนอผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีคัดค้านการเปิดกิจการเหมืองแร่ลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง ภายหลังจากมีการร้องเรียน ตามคำร้องที่ ๕๓๓/๒๕๕๑ ลงวันที่ 3 พ.ย.51 ที่ ระบุว่ากลุ่มนายทุนได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินทำกินของชาวบ้าน บริเวณหมู่ที่ 1 และ 7 ต.บ้านแหง กว่า 1,000 ไร่ โดยกลุ่มนายทุนได้เสนอซื้อในราคาที่ถูกโดยอ้างว่าที่ดินทำกินดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นที่จับจองทำกินไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ หากไม่ขายให้ก็จะถูกข่มขู่ จึงจำใจต้องขายไปทั้งๆ ที่พื้นที่ทำกินดังกล่าวได้ใช้ทำกินมาหลายชั่วอายุคนแล้ว
จากการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำเอื้อประโยชน์พวกพ้องในการอนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ถ่านหินบ้านแหงเหนือ ของบริษัทเขียวเหลืองจำกัด โดยมีลำดับเหตุการณ์สำคัญ ดังนี้คือ
2 มิ.ย.51 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โดย รมว.อนงค์วรรณ เทพสุทิน ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้พิจารณายกเลิกมติ ครม.เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาแหล่งถ่านหิน 4 ฉบับ คือเมื่อวันที่ 12 ก.ค.31 วันที่ 5 มิ.ย.33 วันที่ 10 มี.ค. 35 และ 25 ก.ย.44 โดยยังคงสงวนพื้นที่แหล่งถ่านหินแอ่งเวียงแหง จ.เชียงใหม่ และแอ่งสะบ้าย้อย จ.สงขลา ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพัฒนาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป เพื่อกระทรวงจะได้ดำเนินการประกาศยกเลิกเขตดำเนินการสำรวจการทดลองศึกษาวิจัยแร่ถ่านหิน(ลิกไนต์) ตามมาตรา 6 ทวิ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510
และจะได้นำพื้นที่ในเขตดำเนินการสำรวจการทดลองศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแร่ 8 พื้นที่ คือ แหล่งถ่านหินแอ่งเคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี แอ่งสินปุน จ.นครศรีธรรมราช แอ่งเชียงม่วน จ.พะเยา แอ่ง งาว แอ่งวังเหนือ แอ่งแจ้ห่ม-เมืองปาน แอ่งแม่ทะ และแอ่งเสริมงาม จ.ลำปาง ไปเปิดประมูลให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนสำรวจและทำเหมืองแร่ถ่านหินมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานประเทศ
10 มิ.ย.51 บริษัทเขียวเหลือง ได้จดทะเบียนประเภทบริษัทจำกัด ด้วยทุน 30 ล้านบาท วัตถุประสงค์ตามที่ได้จดทะเบียนไว้คือประกอบกิจการป่าไม้ การทำไม้ ปลูกสวนป่า ซึ่งประธานบริษัท คือ นายเรืองศักดิ์ งามสมภาค อดีตอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเคยถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขแทนนายมานิต นพอมรบดี ที่ลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 10 ม.ค.53 ที่ผ่านมา ปัจจุบันนายเรืองศักดิ์ เป็นรองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ซึ่งใกล้ชิดกับอดีตนักการเมืองสามี รมว.ทส.ที่ออกประกาศกระทรวงฯ “ปลดล็อค” มาตรา 6 ทวิ พ.ร.บ.แร่ เพื่อนำแหล่งแร่ถ่านหิน 8 พื้นที่ ไปเปิดประมูลให้เอกชน
17 มิ.ย.51 ครม.เห็นชอบให้ยกเลิกมติ ครม.เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาแหล่งถ่านหินรวม 4 มติ คือมติ ครม. 12 ก.ค.31 (เรื่องมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2531 ครั้งที่11) วันที่ 5 มิ.ย.33 (เรื่องผลการสำรวจถ่านหินแอ่งงาว แจ้ห่ม-เมืองปาน เชียงม่วนและเสริมงาม) วันที่ 10 มี.ค.35 (เรื่องการพัฒนาถ่านหินแอ่งเวียงแหง) และวันที่ 25 ก.ย.44 (เรื่องมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2544 (ครั้งที่ 85) โดยยังคงสงวนพื้นที่แหล่งแร่ถ่านหินแอ่งเวียงแหง เชียงใหม่ และแอ่งสะบ้าย้อย สงขลา ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพัฒนาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป เพื่อ ทส.จะได้ดำเนินการประกาศยกเลิกเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ ทดลอง ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแร่ถ่านหิน(ลิกไนต์)
ตามความในมาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ และที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป และจะได้นำพื้นที่แหล่งถ่านหินในเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษาหรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ 8 พื้นที่ดังกล่าวไปเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาลงทุนสำรวจและทำเหมืองแร่ถ่านหินมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทนเพื่อช่วยแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานของประเทศ ตามที่ ทส.เสนอต่อไป
20 มิ.ย.51 ทส.(รมว.อนงค์วรรณ) ออกประกาศ ทส. ฉบับลงวันที่ 25 พ.ย.31 ว่าเนื่องด้วยบัดนี้ทางราชการได้ดำเนินการสำรวจแร่ในพื้นที่ดังกล่าวบางส่วนเสร็จสิ้นแล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อการสำรวจทดลองศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแร่อีกต่อไป จึงประกาศให้ยกเลิกเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ในท้องที่ต่างๆดังต่อไปนี้
1.เขตท้องที่อำเภอทุ่งช้าง อ.ชียงกลาง อ.ปัว อ.ท่าวังผา และ อ.เมืองน่าน จ.น่าน เนื้อที่ 673 ตารางกิโลเมตร(ตร.กม.) 2.เขตท้องที่ อ.เชียงคำ และ อ.ปง จ.พะเยา เนื้อที่ 529 ตร.กม. 3.เขตท้องที่ อ.ปง และ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา และ อ.สอง จ.แพร่ เนื้อที่ 182 ตร.กม. 4.เขตท้องที่ อ.งาว เนื้อที่ 195 ตร.กม. 5.เขตท้องที่ อ.วังเหนือ และ อ.แจ้ห่ม เนื้อที่ 332 ตร.กม. 6.เขตท้องที่กิ่ง อ.เมืองปาน อ.แจ้ห่ม และ อ.เมืองลำปาง เนื้อที่ 500 ตร.กม. 7.เขตท้องที่ อ.เมืองลำปาง อ.แม่ทะ และ อ.เกาะคา เนื้อที่ 783 ตร.กม. 8.เขตท้องที่ อ.ห้างฉัตร อ.เกาะคา และ อ.เสริมงาม เนื้อที่ 205 ตร.กม.
24 มิ.ย.51 หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ 0505/9287 ลงวันที่ 24 มิ.ย.51 แจ้งว่า ครม.มีมติวันที่ 17 มิ.ย.51 ตามที่ รมว.ทส. เสนอ
รายงานของคณะอนุกรรมการสิทธิฯ ได้ตั้งข้อสังเกตที่สำคัญว่า ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.51 แต่หนังสือจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด่วนที่สุด ที่ 0505/9287 แจ้งมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 24 มิย.51 จึงมีข้อสงสัยว่า รมว.ทส.ได้ประกาศกระทรวงฯ ยกเลิกเขตดำเนินการสำรวจการทดลอง ศึกษา วิจัยเกี่ยวกับแร่ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.51 ได้อย่างไร
คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นว่าการเร่งรีบออกประกาศกระทรวงฯ ดังกล่าว ของ รมว.ทส. ก่อนหนังสือจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะมาถึงเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง .
ที่มาภาพ : http://www.tcijthai.com/citizen-journalist-story/834