ทำไมต้องใส่ใจห่วงโซ่อุปทานยั่งยืน ปลาป่น-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
“การพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน ขณะเดียวกันไม่ควรลิดรอนการตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นเก่า และไม่มองเฉพาะการพัฒนาด้านเศรษฐกิจฝ่ายเดียว แต่ต้องครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย”
นี่คือคำจำกัดความ ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ถูกถ่ายทอดผ่าน กรณิช ตันอังสนากุล และ ศศิวิมล คล่องอักขระ เจ้าของงานวิจัย เรื่อง ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.น่าน และห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตปลาป่น จ.สงขลา ในเวทีเสวนา ทำไมเราควรใส่ใจห่วงโซ่อุปทานอาหารยั่งยืน จัดโดย ป่าสาละ มูลนิธิโลกสีเขียว และ Ma:D
ห่วงโซ่อุปทาน หมายถึง การจัดการวัตถุดิบแปรสภาพเพื่อเพิ่มมูลค่า และส่งมอบแก่ผู้บริโภค หากเปรียบเทียบกับอาหารกลางวัน ยกตัวอย่าง ไก่ทอด พบว่า กว่าจะมีหน้าตาอย่างที่เรารับประทานนั้น เคยเป็นลูกเจี๊ยบที่ผ่านการเลี้ยงดูในฟาร์ม ไก่โตเต็มวัย และไก่สด มาก่อน
แม้ห่วงโซ่อุปทานของไก่ไม่ซับซ้อนมากเท่ากับอาหารประเภทอื่นที่มีวัตถุดิบหลายอย่าง แต่ผู้บริโภคสงสัยหรือไม่ วัตถุดิบแต่ละอย่างมีกิจกรรมหรือใครเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานบ้าง? ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงอาหารเลี้ยงสัตว์มีที่มาที่ไปอย่างไร
10 ปี ป่าน่านสูญ 900 ตร.กม. ชาวบ้านไร้ทางเลือก ปลูกข้าวโพดต่อ
จากตัวอย่างที่ยกข้างต้น ‘กรณิช ตันอังสนากุล’ ผูกโยงเข้าสู่งานวิจัย ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.น่าน โดยเริ่มต้นว่า คนไทยบริโภคเนื้อไก่เฉลี่ย 14.9 กิโลกรัม/ปี การที่เราบริโภคเนื้อไก่มากขนาดนี้ ชี้ให้เห็นว่า ต้องใช้อาหารเลี้ยงสัตว์จำนวนมากด้วย
จากข้อมูลสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ปี 2555 ระบุต้องใช้ ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ ปริมาณร้อยละ 53 รวมแล้ว 6.2 ล้านตัน ในการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ ฉะนั้นปริมาณมหาศาลย่อมส่งผลต่อความต้องการพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น
เมื่อได้ลงพื้นที่ จ.น่าน เพื่อจัดทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทาน เธอเล่าว่า ได้พูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้เล่นต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำกิจกรรมอะไรบ้าง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไร ตลอดจนศึกษาแรงจูงใจ เพื่อนำมาสู่การจัดการลุ่มน้ำน่านอย่างยั่งยืนต่อไป
“แม่น้ำน่านมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหลวงพระบาง ชายแดนประเทศลาว ถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญ เพราะปริมาณน้ำร้อยละ 45 ของแม่น้ำสายนี้เป็นแหล่งกำเนิด ‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ จึงอยากให้คิดว่า หากเกิดเหตุการณ์ไม่ดีกับแหล่งน้ำย่อมส่งผลกระทบต่อคนกรุงเทพฯ ที่อาศัยอยู่ปลายน้ำแน่นอน”
กรณิช ให้ข้อมูลสถิติระหว่างปี 2543-52 พบพื้นที่ป่า จ.น่าน ลดลง รวม 900 ตารางกิโลเมตร นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญทำไมจึงเลือกวิจัยจังหวัดนี้ แม้มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อันดับ 5 ของประเทศ เพียง 6.3 แสนไร่ รองจาก เพชรบูรณ์ นครราชสีมา เลย ตาก และ ปี 2555 ก็มีผลผลิตราว 4 แสนตัน คิดเป็นร้อยละ 8 ของปริมาณทั้งหมด
ทั้งนี้ ผู้วิจัยเลือกศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำสาขายาว-อวน-มวบ ประกอบด้วย ต.พงษ์ ต.ดูพงษ์ และต.ป่าแลวหลวง อ.สันติสุข และ ต.อวน อ.ปัว ซึ่งพบพื้นที่มีความสูงลาดชัน ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชใด ๆ ควรสงวนไว้สำหรับป่าต้นน้ำ ด้วยเหตุนี้ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เพียง 625 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 674 กิโลกรัม/ไร่
แม้พื้นที่เพาะปลูก ที่พบก็ยังไม่เหมาะสมสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ทำไมชาวบ้านยังคงยึดอาชีพนี้ในพื้นที่นี้อยู่ ด้วยเหตุเป็นพืชที่เพาะปลูกและดูแลง่าย ประกอบกับไร้ทางเลือกประกอบอาชีพอื่นทดแทน
(สภาพป่าน่านถูกบุกรุกเพื่อเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2557)
นักวิจัยสาวยังเห็นว่า การเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.น่าน มีกระบวนการผลิตไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อสิ้นฤดูกาลผลิต ชาวบ้านต้องกำจัดซังข้าวโพดด้วยการเผา จนกลายเป็นปัญหาหมอกควัน ทั้งที่สามารถกำจัดวิธีไถกลบ แต่กลับกลายเป็นวิธียุ่งยาก ไม่สะดวกกับพื้นที่ลาดชัน และค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นการ ‘เผา’ จึงง่ายที่สุด
ส่วนสารเคมีเป็นอีกหนึ่งกระบวนการผลิตไม่ยั่งยืน เธอค้นพบว่า ชาวบ้านใส่สารเคมีในพืช 3-4 รอบ/ฤดูกาลผลิต โดยไม่ปฏิบัติตามฉลากผลิตภัณฑ์ เพราะกังวลไม่ได้ประสิทธิภาพ จึงเลือกผสมสารเคมีจำนวนมากแทน และไม่มีการปิดหน้ากากป้องกัน ใช้เพียงผ้าปิดจมูกเท่านั้น จึงส่งผลต่อสุขภาพ เกิดสารเคมีตกค้างในดินและแหล่งน้ำ ถึงขนาดไม่กล้ากินผักริมน้ำเหมือนเก่าก่อน
“ร้อยละ 61 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เคยเป็นป่ามาก่อน ปัจจุบันป่ากลายเป็นเขาหัวโล้นหมดแล้ว ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เพราะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ หากไม่มีต้นไม้จะไม่สามารถชะลอน้ำ เพื่อเก็บความชุ่มชื้นได้ แม่น้ำเริ่มเปลี่ยนสี เพราะกระแสไหลแรง จนพัดตะกอนมาด้วย จนทำให้แม่น้ำตื้นเขิน”
แล้วใครเกี่ยวข้องทางตรงกับห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่นักวิจัย ค้นพบ คือ
1.เกษตรกร เป็นผู้สร้างผลกระทบทางตรง เพราะบุกรุกป่า ใช้สารเคมี แต่กลับเป็นผู้มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุดในห่วงโซ่ มิหนำซ้ำต้องทนยอมรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติด้วย
2.พ่อค้าคนกลาง อยู่ใกล้ชิดเกษตรกรมากที่สุด แม้ไม่สร้างผลกระทบโดยตรง แต่ถือเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อกับเกษตรกรให้ห่วงโซ่สมบูรณ์ ที่สำคัญ พ่อค้าคนกลางหลายคนปล่อยเงินกู้หรือสินเชื่อในรูปแบบปัจจัยการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม เพราะมีอำนาจต่อรองราคาได้
3.ผู้ผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นผู้มีอิทธิพลและอำนาจต่อรองมากที่สุด เนื่องจากราคาสินค้าที่ประกาศจะเป็นตัวกำหนดให้พ่อค้าคนกลางใช้เป็นเกณฑ์รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร แม้ไม่เผาป่า แต่ในฐานะผู้รับซื้อยังไม่มีเกณฑ์คุณภาพวัดว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผลิตจากพื้นที่บุกรุกป่าหรือไม่
เธอกล่าวด้วยว่า สำหรับผู้เกี่ยวข้องทางอ้อมมี ผู้ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ไม่ระบุวิธีการใช้อย่างละเอียด ทำให้เกษตรกรใช้ผิด หรือไม่กำชับให้ผู้แทนจำหน่ายถ่ายทอดวิธีการถูกต้อง รวมถึงการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จากเดิมต้องมีเอกสารสิทธิที่ดินค้ำประกัน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นค้ำประกันกลุ่ม 5 คน ได้เงินมาแล้ว
“ในฐานะผู้บริโภคต้องสร้างความตระหนักรู้ว่า เรามีส่วนสร้างปัญหา มิฉะนั้นจะไม่สามารถลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ จึงต้องส่งเสริมการตรวจสอบข้อมูลของสินค้าย้อนกลับ แต่อาจลำบากเกินไป ทำให้ปัจจุบันมีสลากสิ่งแวดล้อมติดกำกับอยู่แล้ว” กรณิช ทิ้งท้าย
‘อวนลาก-ปลาป่น’ ต้นตอหายนะทะเลสงขลา
ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตปลาป่น จ.สงขลา เป็นประเด็นที่ ‘ศศิวิมล คล่องอักขระ’ เห็นว่า สื่อสารให้ผู้บริโภคสนใจได้ลำบาก เพราะเป็นวัตถุดิบของวัตถุดิบอีกทีหนึ่ง ทำให้ยิ่งดูห่างไกล แตกต่างจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สีเป็นเมล็ดส่งขายโรงงานผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ได้เลย
แต่กรณีปลาป่นมีความซับซ้อนมากกว่านั้น
เธอบอกว่า เมื่อเรือประมงจับ ‘ปลาเป็ด’ มาได้ (ปลาเป็ด หมายถึง ปลาที่จับขึ้นมาแล้วบริโภคไม่ได้ เช่น หัวแตก ท้องแตก ไม่สด เป็นต้น คนสมัยก่อนจึงนิยมนำไปเลี้ยงเป็ดไก่) โดยจะถูกส่งขายให้โรงงานปลาป่น เพื่อนำไปแปรรูป และส่งต่อไปยังโรงงานผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์
ทั้งนี้ วัตถุดิบในการผลิตปลาป่น ได้แก่ ปลาเป็ดแท้ หมายถึง ปลาเจริญเต็มวัย เช่น ปลาหลังเขียว ลูกปลา เป็นต้น และปลาโรงงาน หรือซากปลา ได้มาจากการแปรรูปอาหารอีกทีหนึ่ง เช่น ลูกชิ้น ปลาทูน่า เป็นต้น ตัดหัว ตัดหาง ควักไส้ ส่งให้โรงงานปลาป่น
(ซ้าย:ศศิวิมล คล่องอักขระ-ขวา:กรณิช ตันอังสนากุล)
ศศิวิมล ระบุถึงส่วนแบ่งของปลาป่นว่า ปลาจากเรือประมงมีน้อยประมาณร้อยละ 33 ส่วนใหญ่เป็นปลาโรงงาน ยิ่งใน จ.สงขลา ซากปลายิ่งมีจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แม้ปลาเป็ดจะมีปริมาณน้อย แต่ค้นพบว่า กระบวนการได้มาไม่ยั่งยืน
“ชาวประมงใช้ตาอวนขนาดกว้าง 10-25 มิลลิเมตร ทำให้มีโอกาสจับสัตว์น้ำทะเลวัยอ่อน ถือเป็นการตัดตอนชีวิตปลา ทำให้เสียสมดุลระบบนิเวศทางทะเล” เธอ กล่าว และเห็นว่า เหล่านี้นับว่า เราสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เพราะหากปล่อยให้ปลาเจริญเต็มวัย เช่น ปลาทู ปลาเก๋า ปลาอินทรีย์ เป็นต้น จะขายได้ราคามากกว่าการนำปลาเป็ดมาขายได้ไม่กี่สตางค์
ศศิวิมล ยังเห็นว่า การใช้เครื่องมือประมงประเภท ‘อวนลาก’ ทำให้จับสัตว์น้ำทะเลหน้าดิน ทั้งที่บริโภคและไม่บริโภค ไม่ว่าจะเป็น เม่นทะเล ฟองน้ำ กัลปังหา โขดหิน ลากมาหมด ทั้งที่เป็นแหล่งหลบภัยของลูกปลา และยังทำลายเครื่องมือประมงพื้นบ้านด้วย
การกระทำเหล่านี้ ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อปลาลดจำนวนลง คนก็ยิ่งได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้าน ต้องออกเรือประมงไปไกลกว่าเดิม แต่ก็สู้เรือประมงพาณิชย์ไม่ได้ ที่มีกำลัง เงินทุน และเรือขนาดใหญ่มากกว่า ทำให้รายได้น้อยลง
“จากการสัมภาษณ์ชาวประมงพบว่า เมื่อก่อนผู้ชายจะให้ผู้หญิงเป็นแม่บ้านอยู่บ้าน แต่ปัจจุบันต้องให้ออกไปทำงานด้วย เพราะเริ่มมีรายได้ไม่เพียงพอ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ใช้เวลาออกเรือประมงนานวันขึ้น ไกลขึ้น พักผ่อนน้อย”
สำหรับผู้เกี่ยวข้องในระบบห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมปลาป่น เธอระบุมีผู้เล่นสำคัญ คือ เรือประมง เป็นผู้สร้างผลกระทบโดยตรง ได้รับแรงจูงใจจากโรงงานปลาป่น และโรงงานผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์
ดังนั้นหากไม่มีเกณฑ์รับซื้อวัตถุดิบ หรือตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของวัตถุดิบนั้น จะเกิดแรงจูงใจให้มีกระบวนการผลิตไม่ยั่งยืน
น่าดีใจ ปัจจุบันเริ่มมีโรงงานหลายแห่งออกหลักเกณฑ์ให้ชาวประมงต้องมีเอกสารยืนยันว่า “ไม่ทำประมงผิดกฎหมาย”
ศศิวิมล มีข้อเสนอด้วยว่า ห่วงโซ่อุปทานที่ดีต้องผลิตอาหารปลอดภัยและดีต่อสุขภาพผู้บริโภค ให้ข้อมูลถูกต้อง สนับสนุนการดำรงอยู่และความหลากหลายของชุมชน ทั้งในเมืองและชนบท ส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน ปฏิบัติโดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติ สร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมขั้นสูงและสภาพแวดล้อมทำงานปลอดภัย ตลอดจนรักษาทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะในอนาคต
ตราบใดที่เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตก็ยากจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้ห่วงโซ่อุปทานที่ดี ฉะนั้น ‘ผู้บริโภค’ ในฐานะมีส่วนสนับสนุนให้เกิดแรงจูงใจผิด ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารมากขึ้น จะต้องเร่งสร้างแรงกดดันใหม่ พร้อมสร้างนิสัยตรวจสอบที่มาอาหารนับแต่บัดนี้ .
ภาพประกอบ:เรือประมง-ปลาป่น-เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์