กม.หมวกนิรภัยมีมากว่า 20 ปี พบคนไทยใส่จริงแค่ 44%
นักวิชาการด้านวิศวกรรม มข.ยันเรื่องอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา -ถึงคราวซวย ย้ำชัดอธิบายได้ ป้องกันได้ ด้วยการลดจุดเสี่ยง ทำสัญลักษณ์ให้ชัดเจนในระยะที่ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถระวัง หรือหลบหลีกได้ทัน
วันที่ 4 มีนาคม 2558 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 5 ประจำปี 2558 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายในงานมีเวทีเสวนา คนปลอดเหล้า ถนนปลอดภัย สถานการณ์และข้อมูลสถิติความปลอดภัยทางถนน จังหวัดต้นแบบการสร้างมาตรการลดอุบัติเหตุ และเสียงสะท้อนภัยจากอุบัติเหตุ
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็น อันดับที่ 3 ของโลก ในทุกๆ ชั่วโมงจะมีคนไทยเสียชีวิต 3 คน ทุกชั่วโมง มีคนไทยป่วย 200 คน ส่วนใหญ่เกิดจากรถจักรยานยนต์ รองลงมา คือ รถปิ๊กอัพ จักรยาน เป็นต้น
“ปัญหาการสูญเสียจากอุบัติเหตุในประเทศไทยมาจากพฤติกรรมการขับขี่ถึง 94% รองลงเรื่องถนน 34% เรื่องของรถ 12% อนาคตถ้าประเทศไทยยังไม่มีมาตรการการแก้ปัญหาที่ดี เราก็ต้องสูญเสียชีวิตกันมากกว่านี้ ยิ่งเปิดประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้คาดว่าอุบัติเหตุจะเพิ่มมากขึ้นไปอีก”
นพ.วิทยา กล่าวถึงภาพที่อยากเห็นมากที่สุดคือ คนขับรถจักรยานยนต์ใส่หมวกนิรภัย คนขับรถยนต์รัดเข็มนิรภัย ไม่ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ที่สำคัญเมาไม่ขับ ประเทศไทยมีกฎหมายหมวกนิรภัยมา 20 ปี แต่คนไทยสวมหมวกนิรภัยแค่ 44% เท่านั้น
ด้าน ผศ.ดร.วิชุดา เสถียรนาม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการจัดการกับจุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อป้องกันอุติเหตุว่า เรื่องอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา แต่เป็นเรื่องที่อธิบายได้ สามารถป้องกันได้
“เวลาที่เกิดอุบัติเหตุเรามักจะรู้สึกคือ ซวย แต่ในความเป็นจริงที่สามารถอธิบายได้คือ เมา เร็ว ง่วง หลุม วัยรุ่นเพิ่งหัดขับรถ คนสูงวัยที่มีการตัดสินใจช้า มองไม่เห็นทาง ย้อนศร มืด ไม่ชำนาญ บรรทุกเกินขนาด ระบบเบรกไม่ดี สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งคนขับรถไม่ค่อยนึกถึงจะคิดแค่ว่า ตัวเองซวยเป็นอันดับแรก ขณะที่สื่อมวลชนก็พาดหัวข่าว เคราะห์ดี ห้อยพระดีดวงไม่ถึงคาด รอดปาฏิหาริย์. แต่ความเป็นจริง คนขับคาดเข็มขัดนิรภัย มีถุงลมนิรภัย ใส่หมวกนิรภัย หรือพูดง่ายๆว่า ป้องกันตัวเองได้ดี”
ผศ.ดร.วิชุดา กล่าวถึงการลดอุบัติเหตุได้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดก่อนถึงจะเป็นต้นแบบของการลดอุบัติเหตุได้ และอีกหนึ่งวิธีการที่ลดจุดเสี่ยงเพื่อไม่เกิดอุบัติเหตุ ทำสัญลักษณ์ที่ชัดเจน ให้อยู่ในระยะที่ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถระวัง หรือหลบหลีกได้ทัน