มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กาฬสินธุ์ สวนดุสิต ออกนอกระบบ
วันที่ 3 มีนาคม คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีฐานะเป็นหน่วยในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น
2. กำหนดให้มหาวิทยาลัยแบ่งส่วนงานออกเป็น สำนักงานสภามหาวิทยาลัย สำนักงานมหาวิทยาลัย สำนักงานวิทยาเขต คณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนักและมหาวิทยาลัยอาจให้มีส่วนงานที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย สถาบันหรือสำนัก
3. กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีรายได้จากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ และเงินกองทุนที่รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นและรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุน เป็นต้น และให้รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
4. กำหนดให้มีสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรทางการบริหาร โดยมีกรรมการสภามาวิทยาลัยที่มาจากบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยและองค์กรต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยและให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
5. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยโดยอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอแผนพัฒนามหาวิทยาลัย พิจารณากลั่นกรองระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศ ฯลฯ คณะกรรมการวิชาการที่มีหน้าที่ในการเสนอแนะการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางวิชาการของมหาวิทยาลัย ฯลฯ และสภาพพนักงาน เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการ ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำแก่สภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีในการบริหารกิจการทั้งปวงของมหาวิทยาลัย ฯลฯ
6. กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
7. กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
8. กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการการบัญชีและการตรวจสอบทางบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัยให้อธิการบดีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย
9. กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สินงบประมาณ ฯ การดำรงตำแหน่งและคณะกรรมการต่าง ๆ ในส่วนราชการ การโอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานของมหาวิทยาลัย ตำแหน่งทางวิชาการ สิทธิเกี่ยวกับการได้รับบำเหน็จบำนาญ ตลอดจนระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นต้น
เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้รวมมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ตามกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ตามกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มาจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
2. กำหนดให้แบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยออกเป็นสำนักงานอธิการบดี คณะ วิทยาลัย สถาบัน และสำนัก รวมทั้งอาจให้มีส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ และมหาวิทยาลัยอาจรับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่นเข้าสมทบในมหาวิทยาลัยหรืออาจจัดการศึกษาหรือดำเนินการวิจัยร่วมกับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่นได้ รวมทั้งมีอำนาจให้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
3. สำหรับรายได้ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นอกจากเงินที่กำหนดไว้ในงบประมาณแผ่นดินแล้ว มหาวิทยาลัยอาจมีรายได้จากเงินผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียม ค่าปรับและค่าบริการต่าง ๆ เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้มาจากการใช้ที่ราชพัสดุซึ่งมหาวิทยาลัยปกครอง ดูแล หรือใช้ประโยชน์เงินอุดหนุนจากราชการส่วนท้องถิ่นหรือเงินอุดหนุนอื่นที่มหาวิทยาลัยได้รับเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย และรายได้หรือผลประโยชน์อย่างอื่น
4. กำหนดให้สภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่ในการบริหารและควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย โดยประกอบด้วย นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยตำแหน่ง กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนห้าคน
5. กำหนดให้มีสภาวิชาการ ประกอบด้วยประธานและกรรมการที่ได้มาตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง รวมทั้งเสนอความเห็นและให้คำปรึกษาด้านวิชาการ และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการเปิดสอน การรวม และการยกเลิกสาขาสิชาของมหาวิทยาลัยต่อสภามหาวิทยาลัย
6. กำหนดให้มีสภาคณาจารย์และข้าราชการประกอบด้วยประธานและกรรมการซึ่งเลือกจากคณาจารย์ประจำ ข้าราชการ และพนักงานราชการในสถาบันอุดมศึกษา มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการปฏิบัติงานและพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์ประจำ ข้าราชการ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา และพนักงานราชการ
7. กำหนดให้อธิการบดีซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของมหาวิทยาลัย กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งและการพันจากตำแหน่ง คุณสมบัติ และอำนาจหน้าที่ของอธิการบดี
8. กำหนดให้มีคณบดีซึ่งสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้แต่งตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานของคณะหรือวิทยาลัย และให้มีรองคณบดีหรือผู้ช่วยคณบดีเพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการตามที่คณบดีมอบหมาย นอกจากนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและแผนงานของคณะหรือวิทยาลัย รวมทั้งพิจารณาหลักสูตรและรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรสำหรับ คณะหรือวิทยาลัยเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
9. กำหนดตำแหน่งทางวิชาการ กำหนดปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะ
10. กำหนดบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการใช้ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ ครุยประจำตำแหน่ง เครื่องแบบ เครื่องหมายฯ โดยมิชอบ และการปลอม หรือทำเลียนแบบหรือใช้ ซึ่งตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
11. กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ภาระผูกพันงบประมาณและรายได้ องค์ประกอบสภามหาวิทยาลัย การดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ การโอนบรรดาข้าราชการและพนักงาน การคงฐานะของบรรดาคณะกรรมการ สิทธิการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งเดิม การยุบเลิกตำแหน่ง ตลอดจนข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศต่าง ๆ
5. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้มหาวิทยาลัยสวนดุสิตมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น และมีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง สร้างบัณฑิต วิจัย บริการทางวิชาการแก่สังคมและท้องถิ่น ริเริ่ม ปรับปรุง ถ่ายทอด และพัฒนาองค์ความรู้ในด้านที่มีความเชี่ยวชาญและทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
2. กำหนดการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัย กำหนดให้แบ่งเป็น สำนักงานมหาวิทยาลัย สำนักงานวิทยาเขต คณะ สำนัก สถาบัน และส่วนงานอื่นที่เทียบเท่าคณะ
3. กำหนดให้มีสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรทางการบริหาร โดยมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาจากบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยและจากตัวแทนองค์กรต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย โดยมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัยและมีอำนาจออกข้อบังคับเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับ การบริหารงานบุคคล การเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย รวมทั้งการกำหนดค่าตอบแทนหรือค่าตอบแทนพิเศษ สวัสดิการและประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
4. กำหนดให้มีสภาวิชาการเป็นองค์กรที่ได้รับมอบหมายจากสภามหาวิทยาลัยให้ดำเนินกิจการ ต่าง ๆ ทางด้านงานวิชาการของมหาวิทยาลัย มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีเกี่ยวกับหลักสูตร การเรียน การสอน การวิจัย และคุณภาพการศึกษา
5. กำหนดให้สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรบริหารงานสูงสุดของมหาวิทยาลัย มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยทั้งด้านการบริหารงานบุคคล การเงินและวิชาการซึ่งมีองค์ประกอบเป็นบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยมากกว่าบุคลากรในมหาวิทยาลัย
6. กำหนดให้อธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของมหาวิทยาลัย และอาจมีรองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดี หรืออาจมีรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีตามจำนวนที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด
7. กำหนดให้แต่ละคณะหรือส่วนงานอื่นที่เทียบเท่าคณะที่จัดการเรียน การสอน มีคณบดีคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของคณะหรือส่วนงานอื่นที่เทียบเท่าคณะที่จัดการเรียนการสอน และให้มีคณะกรรมการประจำคณะหรือคณะกรรมการประจำส่วนงานอื่นที่เทียบเท่าคณะที่จัดการเรียนการสอน เพื่อดำเนินกิจการต่างๆ ทางด้านงานวิชาการของคณะเสนอต่อสภาวิชาการ
8. กำหนดให้มหาวิทยาลัยจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินส่วนงานของมหาวิทยาลัยโดยให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
9. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรี
10. กำหนดโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการใช้ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ ครุยประจำตำแหน่ง เครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายของนักศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างของมหาวิทยาลัย และการแสดงวุฒิการศึกษาโดยไม่มีสิทธิ
11. กำหนดบทเฉพาะกาลในเรื่องการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน งบประมาณ และรายได้ของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฎ พ.ศ. 2547 มาเป็นของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้
12. กำหนดรองรับส่วนงาน กล่าวคือ กำหนดให้สภามหาวิทยาลัย สภาวิชาการ สภาคณาจารย์และข้าราชการ และคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฎ พ.ศ. 2547 ทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะได้มีสภาวิชาการ สภาคณาจารย์และพนักงาน และคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้
13. กำหนดรองรับให้ส่วนราชการของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฎ พ.ศ. 2547 และหน่วยงานที่สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติและจัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยซึ่งมีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีประกาศของมหาวิทยาลัยจัดตั้งส่วนงานใหม่
14. กำหนดรองรับตำแหน่งผู้บริหารเพื่อรองรับการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารตำแหน่งต่าง ๆ ต่อไปจนครบวาระและกำหนดการแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยไว้
15. กำหนดให้มหาวิทยาลัยดำเนินการบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย ในกรณีที่ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัยภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ รวมทั้งกำหนดรองรับให้ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการอยู่แล้ว ยังคงสิทธิประโยชน์เดิมตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม แต่ไม่ตัดสิทธิในการประกันตนด้วยความสมัครใจ
16. กำหนดให้มหาวิทยาลัยออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของมหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ