วิจัยมรภ.นครปฐมเผยยุทธศาสตร์จังหวัดเกินครึ่งประเทศไม่บรรจุแผนพัฒนาการศึกษา
ผลวิจัย ABA 35 จังหวัดชี้ชัดรัฐบาลเจ้าภาพเบอร์ 1ผู้นำการขับเคลื่อนปฏิรูปใหญ่การศึกษา จี้รัฐบาลสั่งการทุกจังหวัดบรรจุแผนพัฒนาการศึกษาไว้ในยุทธศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จัดทำโครงการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ (Area-Based Assessment) หรือ ABAภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของพื้นที่ด้วยการพัฒนากลไกการจัดการของจังหวัดให้มีข้อมูลและความรู้ที่จำเป็นเพื่อกำหนดทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่หรือระดับจังหวัดโดยทำการศึกษาวิจัยใน 35จังหวัด
ดร.ดวงใจ ชนะสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มรภ.นครปฐม ในฐานะหัวหน้านักวิจัยฯ กล่าวว่า ผลการวิจัยโครงการABA ใช้กลุ่มตัวอย่าง2 กลุ่ม คือ จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการABAปีงบประมาณ 2555 และ 2556 รวม 28 จังหวัด และจังหวัดที่ประเมินคุณภาพภายนอกเป็นรายแห่งที่มีกำหนดการประเมินในปีงบประมาณ 2557 จำนวน 7 จังหวัด พบว่า สถานศึกษาทุกระดับได้นำผลการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ไปใช้ในการจัดระบบการประกันคุณภาพภายใน 83% นำไปปรับปรุงและสนับสนุนการเรียนการสอน 81.50% ผลการประเมินมีส่วนกระตุ้นและสร้างความตระหนักในการพัฒนา รร. 80.90% และผลการประเมินสามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนา รร. 80.60 % ซึ่งเป็นผลการวิจัยที่ได้จากการเก็บแบบสอบถาม
"ส่วนผลวิจัยจากการ Focus Group พบว่าส่วนใหญ่ รร.นำผลไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยการดำเนินงานจะสำเร็จและบรรลุผลได้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของบุคลากรในสถานศึกษา เกิดความเข้าใจและมีความตระหนักในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกัน"
ดร.ดวงใจ กล่าวด้วยว่า จากผลการวิจัยพบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาต่อรัฐบาล ดังนี้
1)รัฐบาลต้องให้ความสนใจและเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจัง จัดให้มีการกำกับและติดตามการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะการศึกษาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ
2)รัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพในระดับนโยบายในการขับเคลื่อนการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่โดยให้นโยบายหรือประชุมตกลงร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพการศึกษากับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สมศ. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจเป้าหมายของการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ จังหวัด ภูมิภาคและระดับประเทศ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และร่วมกันกำหนดโจทย์ในการพัฒนาคุณภาพการการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ชุมชนในพื้นที่และยุทธศาสตร์ของจังหวัด เนื่องจากที่ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3)รัฐบาลต้องมีนโยบายให้มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์จังหวัด กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ.ให้สอดคล้องกัน เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและ
และ 4)รัฐบาลต้องสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ผลการประเมินคุณภาพภายนอกเชิงพื้นที่ รวมไปถึงการกำหนดบทบาท หน้าที่ แนวปฏิบัติร่วมกันของทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศให้ชัดเจน
สำหรับสิ่งที่น่าเป็นห่วงนั้น ดร.ดวงใจ กล่าวว่า การจัดทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัดที่ผ่านมาและแผนยุทธศาสตร์ในอนาคต ตั้งแต่ปี 2557 – 2561 หลายจังหวัดไม่ได้บรรจุการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดไว้ในแผนยุทธศาตร์อย่างชัดเจน หรือคิดเป็น 51.32 % ซึ่งเกินกว่าครึ่งของประเทศ ถือเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย
"ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องเป็นผู้นำสั่งการให้ทุกจังหวัดทบทวนแผนยุทธศาสตร์จังหวัด เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน"