ความคืบหน้าปฏิรูปสื่อมวลชน
วันที่ ๓ มีนาคม รองศาสตราจารย์จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ แถลงถึงภารกิจการจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะ ระยะที่ ๑ ระดับหลักการและสาระสำคัญ หรือที่เรียกว่า กรอบความคิดรวบยอด “Conceptual Design” ได้เสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์ และได้ส่งมอบให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ตามกรอบเวลาที่กำหนด
ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยจำนวน ๓๖ วาระการปฏิรูปเพื่อวางตำแหน่งในปี พ.ศ.๒๕๗๕ ให้ประเทศไทยมีความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ซึ่งคณะกรรมาธิการฯเป็นผู้รับผิดชอบหลัก จำนวน ๓ วาระการปฏิรูป ประกอบด้วย
๑) การปฏิรูปด้านเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ
๒) การปฏิรูปด้านการกำกับดูแลสื่อ
๓) การปฏิรูปด้านการป้องกันการแทรกแซงสื่อ
คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการศึกษาและพิจารณาเกี่ยวกับหลักการและสาระสำคัญในการปฏิรูประบบสื่อสารเพื่อประชาชนใน ๓ ด้าน มีเป้าหมายสำคัญตามวิสัยทัศน์การปฏิรูประบบการสื่อสารของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ
“สื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยต้องมีมาตรฐาน คุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพควบคู่กับจริยธรรมและความรับผิดชอบ โดยเป็นที่เชื่อถือทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ เข้าถึง เท่าทันสื่อและมีส่วนในการสื่อสารที่สร้างสรรค์”
โดยมีวัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อให้ได้โครงสร้างการกำกับดูแลสื่อวิชาชีพที่มีระบบที่ส่งเสริมสวัสดิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และการให้สวัสดิการที่เหมาะสมแก่บุคลากรสื่อ ได้ระบบที่มีกลไกการประกันความเป็นอิสระของสื่อมวลชนจากการถูกครอบงำและแทรกแซงจากอำนาจรัฐและทุน และได้ระบบที่คำนึงถึงการจัดสรรและแบ่งปันทรัพยากรการสื่อสารเพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนได้รับรู้ เข้าถึงและใช้ประโยชน์กันทั่วถ้วน โดยมีแนวคิดเรื่องสื่อกับประโยชน์สาธารณะ (public interest) แนวคิดเกี่ยวกับการกำกับดูแลสื่อภายใต้ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป และแนวคิดเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชนกับความรับผิดชอบต่อสังคม
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์จุมพล รอดคำดี ได้สรุปถึงสาระสำคัญของกรอบความคิดรวบยอด (conceptual design) ระบบการสื่อสารเพื่อประชาชนนี้ว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้กำหนดให้มีกลไกขับเคลื่อนระบบการสื่อสารของประเทศให้เคลื่อนที่และก้าวหน้าไปตามพันธกิจในการปฏิรูปสื่อมวลชนและสารสนเทศ และมีลักษณะปรับตัวได้ตามภูมิทัศน์สื่อที่มีความเป็นพลวัต ทั้งในมิติการจัดการเทคโนโลยีและมิติการจัดสรรทรัพยากรสื่อและคลื่นความถี่ การขับเคลื่อนกลไกดังกล่าวมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างทั่วถ้วน และเท่าเทียม กล่าวคือ ประชาชนจะมีบทบาททั้งการรับสื่อและใช้สื่ออย่างรู้เท่าทันการเฝ้าระวังสื่อจากการถูกแทรกแซง และการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อให้มีเสรีภาพควบคู่ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือที่เรียกว่าเป็น “การปฏิรูประบบการสื่อสารเพื่อประชาชน” อย่างเป็นระบบ โดยดำเนินการภายใต้ ๓ ยุทธศาสตร์ ที่กล่าวมาแล้ว