“รัฐ-จูแว” ยันคลิปกูซัยค์ไม่เกี่ยวขบวนการแยกดินแดน
ฝ่ายความมั่นคง ยืนยัน คลิปประกาศแยกดินแดนปัตตานีไม่เกี่ยวขบวนการป่วนใต้ พบความเคลื่อนไหวหนุ่มต้องสงสัยในเฟซบุ๊ค ขณะที่สมาชิก สนช.กังวลโหนไอเอส
หน่วยงานความมั่นคงยืนยันว่า คลิปวีดีโอคำแถลงแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของบุคคลที่อ้างชื่อว่า นายกูซัยค์ แห่งขบวนการมูจาฮีดีน รีบาท อัล ฟาฏอนี นั้น เป็นคลิปที่ทำขึ้นเอง และไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน
ขณะที่แกนนำนักรบปลดปล่อยปัตตานีที่เรียกตัวเองว่า “จูแว” ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ และเคยมีบทบาทร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทยเมื่อปี 2556 ได้เขียนข้อความผ่านโซเชียลมีเดียว่าไม่รับรู้การกระทำของนายกูซัยค์ และขบวนการที่เขาอ้าง
คลิปดังกล่าวถูกแชร์ผ่าน “เฟซบุ๊ค” โซเชียลมีเดียชื่อดังในหมู่สังคมออนไลน์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา โดยบุคคลในคลิปแต่งกายด้วยชุดสีโทนน้ำตาลอ่อน มีผ้าคลุมศีรษะปิดบังใบหน้า พูดด้วยภาษาอาหรับ ภาษายาวี และภาษาไทยสลับกันไป
สาระสำคัญในคลิปอ้างว่า เขาคือ กูซัยค์ ผู้นำขบวนการมูจาฮีดีน ลิเบอร์รัล อัลฟาฏอนี สืบเชื้อสายมาจากพระศาสดา เนื้อหาในคลิปนี้เป็นแถลงการณ์ครั้งที่ 1 ปลุกระดมให้ร่วมกันกับเขา หยิบจับมีด พร้า จอบ เสียม ขับไล่กลุ่มคนที่เขาเรียกว่า “กาเฟร์” หมายถึงคนนอกศาสนาอิสลาม ออกจากดินแดนที่เป็นของชาวมลายูปัตตานี
ส่วนคนมลายูที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับจงวางอาวุธและลาออก เช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยพุทธทุกคนจงออกไปจากฟาฏอนีดารุสลาม หรือไม่ก็จ่ายภาษีแก่รัฐบาลฟาฏอนี พร้อมเสนออัตราภาษี คือ การบริจาคให้มัสยิดและโรงเรียนตาดีกาทุกแห่งในอัตราเดือนละ 1,250 บาท หรือปีละ 15,000 บาท พร้อมส่งสารถึงรัฐบาลไทยให้ถอนกำลังออกจากดินแดนนี้ และปล่อยตัวนักโทษความมั่นคงทุกคนภายในวันที่ 30 เมษายน 2558 มิฉะนั้นนักรบของเขาทุกคนพร้อมพลีชีพทุกวิถีทาง และไทยจะสูญเสียมากกว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน
แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงได้ตรวจสอบคลิปวีดีโอดังกล่าวแล้ว ยืนยันได้ว่าน่าจะเป็นคลิปและขบวนการที่นายกูซัยค์อุปโลกน์ขึ้นมาเอง เนื่องจากไม่มีประวัติการเคลื่อนไหวมาก่อน และจากการตามรอยความเคลื่อนไหวของบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นนายกูซัยค์ในเฟซบุ๊ค พบว่ามีการแสดงความคิดเห็นในลักษณะกล่าวเกินจริง เช่นอ้างว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากศาสดา เป็นต้น
หน่วยงานความมั่นคงยังวิเคราะห์ว่า คลิปนี้มีความยาว 1.50 นาที น่าจะถ่ายทำผ่านโทรศัพท์มือถือโดยมีบุคคลอื่นถ่ายให้ เนื่องจากภาพมีลักษณะส่ายไปมา มีนายกูซัยค์ปรากฏตัวเพียงคนเดียว ผ้าคลุมที่ใช้คลุมหน้าและศีรษะเป็นสีส้มคล้ายจีวรพระ สถานที่ถ่ายทำเป็นพื้นที่ป่า ไม่มีการแสดงป้ายผ้าหรือสัญลักษณ์ใดๆ
จากการวิเคราะห์ลักษณะการพูด และภาษาที่ใช้ พบว่าพูดไทยค่อนข้างชัด สำเนียงน่าจะเป็นคนมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จมูกค่อนข้างโด่งลักษณะเหมือนคนตะวันออกกลาง อายุน่าจะประมาณ 20-30 ปี แต่ข้อมูลที่เคยแสดงความเห็นในเฟซบุ๊คอ้างว่ายังเรียนไม่จบ กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และมีแหล่งพำนักในอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าเป็นข้อมูลเท็จ
ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ ให้ข้อมูลเสริมว่า พี่น้องประชาชนไม่ควรสนใจกับคลิปที่ไม่มีสาระอะไร สำหรับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต้องเร่งนำตัวผู้กระทำมาดำเนินคดี เชื่อว่าจะหาตัวได้ในเร็ววันนี้
ขณะเดียวกัน หน่วยงานความมั่นคงยังได้รายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักรบปลดปล่อยปัตตานี ที่เรียกตัวเองว่า “จูแว” ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศในนามกลุ่มบีไอพีพี และมีบทบาทเคยมีส่วนร่วมในโต๊ะพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อปี 2556 ด้วย โดยจูแวผู้นี้เขียนข้อความในเฟซบุ๊คว่า ไม่รับรู้เกี่ยวกับการมีอยู่ของนายกูซัยค์ และขบวนการที่เขากล่าวอ้าง
ชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า คลิปที่แผยแพร่อยู่ในขณะนี้เป็นคลิปที่หมิ่นศาสนา และไม่มีแก่นสารอะไร มองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการขับไล่เจ้าหน้าที่และชาวไทยพุทธออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ เชื่อว่าคลิปดังกล่าวทำโดยกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่ง ไม่มีเหตุผล แต่พยายามเชื่อมโยงเนื้อหากับท่าทีของกองทัพไทยที่เตรียมถอนทหารจากภาคอื่นออกจากพื้นที่
ส่วนความเห็นจากคนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) รายหนึ่งในสามจังหวัด กล่าวว่า น่าจะเป็นคลิปจัดฉากเพื่อให้สอดคล้องกับความคืบหน้าเรื่องการพูดคุยสันติสุขที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการ
ขณะที่ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจากจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า รู้สึกกังวลกับการเผยแพร่คลิปลักษณะนี้ในช่วงที่มีกระแสการแพร่อุดมการณ์ของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ซึ่งประเทศรอบบ้านไทยล้วนประสบปัญหานี้
ข้อกังวลของนายอนุศาสน์ สอดคล้องกับความวิตกของหน่วยงานความมั่นคงที่เกรงว่าจะมีบุคคลที่มีแนวคิดรุนแรง ซึ่งไม่สังกัดขบวนการใด ในลักษณะ “โฮมโกรว์น” หรือ “โลน วูลฟ์” จัดทำคลิปลักษณะนี้เผยแพร่อีกเพื่อเลียนแบบไอเอส จนเกิดกระแสไอเอสขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ทั้งๆ ที่ในพื้นที่ไม่เคยมีปัญหานี้เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน