"รังสรรค์" จวกสังคมไทยสร้างมายาคติ เข้าใจผิดรัฐสวัสดิการดี-ประชานิยมเลวหมด
“รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์” จี้รัฐบาลปฏิรูประบบภาษี-ดึงคนไทยร่วมแบกค่าจัดสวัสดิการ ถามกระทรวงคลัง ฐานะประเทศแข็งแกร่งพอจัดรัฐสวัสดิการจริงหรือไม่ ยันประชานิยมไม่แตกต่างจากรัฐสวัสดิการ มีส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่
วันนี้ (26 มิ.ย.) สถาบันอิศรามูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดบรรยายเรื่อง “จากประชานิยมสู่รัฐสวัสดิการ” โดยศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรผุ้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 2 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ห้องประชุมอิศราอมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน
ศ.รังสรรค์ กล่าวถึงการจะจัดสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า หรือสวัสดิการสังคมเฉพาะกลุ่มนั้น ต้องพิจารณาฐานะการคลังของรัฐบาลด้วย ดูฐานะการคลังแข็งแกร่งพอในการเกื้อกูลบนเส้นทางนี้หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลต้องปฏิรูประบบรายได้และภาษีอากรของรัฐ และต้องให้ประชาชนร่วมรับภาระรายจ่ายจัดรัฐสวัสดิการด้วย
"สังคมไทยในชนชั้นนำนั้นมีฉันทาคติเรื่องรัฐสวัสดิการแล้วหรือไม่ รัฐสวัสดิการมีทั้งยุครุ่งเรืองและยุคตกต่ำ ซึ่งก็มีวิวาทะต่างๆ เกิดขึ้นทั้งรัฐสวัสดิการและสังคมสวัสดิการ ขณะนี้มีมายาคติในสังคมไทยที่อาจสร้างความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ว่า รัฐสวัสดิการ ดี ส่วนประชานิยม เลว ทั้งหมด"
ศ.รังสรรค์ กล่าวว่า นิยามรัฐสวัสดิการค่อนข้างชัดเจน กว่าประชานิยมที่ยังคลุมเครือ แต่ประชานิยมมิได้แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากรัฐสวัสดิการยังมีส่วนที่ทับซ้อนกัน เช่น โครงการ 30 บาทก็เป็นได้ทั้งประชานิยมและรัฐสวัสดิการ เป็นต้น สำหรับเป้าหมายของรัฐสวัสดิการตามหลักอุดมคติแล้วคือเพื่อสร้างความเป็นธรรม ในสังคม หลักการพื้นฐานรัฐสวัสดิการคือนโยบายที่เสริมสร้างความปลอดภัยมั่นคงในความ เป็นมนุษย์ (Human Security) ซึ่งนโยบายประชานิยมบางนโยบายก็มีผลเช่นเดียวกัน
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวอีกว่า ในการจะไปสู่เป้าหมายการทำหน้าที่ของรัฐสวัสดิการนั้นต้องอาศัยระบบเศรษฐกิจ ที่มีประสิทธิภาพเน้นการใช้กลไกของรัฐในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพราะกลไกราคาเพียงลำพังไม่ทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมได้ และกลไกราคาเพียงลำพังก็ไม่สามารถ ก่อให้เกิดเศรษฐกิจที่มีประสิทธิผลได้ ฉะนั้นการใช้กลไกรัฐเป็นกลไกหลักในการจัดสรรบริการสวัสดิการสังคมอาจต้อง พิจารณาใช้กลไกราคาประกอบด้วย
“การจัดรัฐสวัสดิการต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบนโยบาย การออกแบบสถาบันเพื่อสร้างหลักประกันแก่กลุ่มประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับ ความช่วยเหลือจริงๆ รัฐสวัสดิการต้องไม่สร้างหรือสร้างให้น้อยในปัญหาที่คนไม่พึ่งพาตนเอง ทั้งนี้นโยบายที่เพิ่มพูนความสุขของ ประชาชนได้นั้นต้องเกิดจากเจตนารมรณ์ปฐมฐานและความจริงใจ และการออกแบบนโยบาย การออกแบบสถาบันที่ดีด้วย”
ศ.รังสรรค์ กล่าวด้วยว่า นโยบายรัฐสวัสดิการในสังคมไทย เริ่มตั้งแต่ตอนปลายสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม แต่ไม่ชัดเจนนัก เช่น เรื่องกฎหมายประกันสังคมปี 2497 ฯลฯ ส่วนปัญหารัฐสวัสดิการไทยที่ผ่านมา เกิดจากทั้งปัจจัยนอก-ในระบบรัฐสวัสดิ กาาร ปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาคนชราทำให้เกิดการหดตัวของรายได้ภาษีพื้นฐาน, ปัญหาการเจริญเติบโตของการผลิตตกต่ำส่งผลต่อรายได้ภาษี ,ปัญหาโลกาภิวัตน์ที่เกิดผลกระทบการค้าระหว่างประเทศและการผลิตภายในประเทศ, การย้ายฐานการผลิต,การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและฐานภาษี, การอพยพของประชากรระหว่างชาติ ฯลฯ ส่วนปัจจัยภายในที่ทำให้เกิดปัญหา เช่น รายจ่ายของรัฐสวัสดิการโดยพื้นฐานพึ่งพิงภาษีด้านการเงิน การเก็บภาษีอากรเป็นหลัก การบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากร และการทำลายวัฒนธรรมและจิตวิญญาณการพึ่งตนเอง สร้างสิ่งจูงใจในการพึ่งรัฐ เป็นต้น
เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างประชานิยมกับรัฐสวัสดิการ ศ.รังสรรค์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดูเหมือนตรงข้ามกันคนละขั้ว แต่ก็มีส่วนที่ทับซ้อนกัน เช่น กรณีของโครงการ 30บาทรักษาทุกโรค หากประชานิยมนั้นมีความหมายในทางการเมืองมากกว่าในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากประชานิยมในทางการเมืองมองว่า สามัญชนถูกกดขี่และขูดรีดโดยชนชั้นปกครอง จึงได้เสนอแนวทางการต่อสู้กับการกดขี่นั้น ซึ่งความจริงหลักการประชานิยมนั้นไม่ขัดต่อหลักความเป็นประชาธิปไตย เพราะอุดมการณ์ประชานิยมต้องการให้สามัญชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ซึ่งสอดคล้องกับประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามความเป็นจริงก็ขึ้นอยู่กับสังคมของประเทศนั้นว่าตกอยู่ในอำนาจ นิยมด้วยหรือไม่
“ประชานิยมสามารถมองได้ทั้งในแง่นโยบายทางเศรษฐกิจและแง่ยุทธศาสตร์ทาง การเมือง ดังนั้นเวลาดำเนินนโยบายแบบประชานิยมนั้นต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า เพื่อเป้าหมายประชาชนกลุ่มใด ต้องตอบคำถามให้ได้ว่านโยบายประชานิยมนั้นบริการความสุขอะไรให้ประชาชน"
สำหรับวิวาทะระหว่างประชานิยมเป็นสิ่งที่เลว ส่วนรัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่ดีนั้น ศ.รังสรรค์ กล่าวว่า ประชานิยมจะดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของผู้สร้างและการออก แบบนโยบาย การออกแบบสถาบันโครงสร้างของนโยบายนั้นเนื่องจากข้อสำคัญของการออกแบบประชา นิยมนั้นต้องคำนึงถึงทั้งการออกแบบนโยบาย การออกแบบสถาบัน การมีธรรมาภิบาลในการบริหารนโยบาย ความชัดเจนในแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ดำเนินนโยบาย ซึ่งเรื่องของนโยบายประชานิยมนั้นไม่มีฉันทามติ เป็นนโยบายที่เพิ่มพูนความสุขแก่ประชาชนในสัดส่วนสำคัญ
“ปัญหาสำคัญของประเทศไทยคือการไม่ให้ความสำคัญกับการออกแบบนโยบายและ สถาบัน หากมุ่งสะสมเพียงผลคะแนนทางการเมือง รวมถึงการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาล ส่งผลเกิดการขาดดุลทางการคลัง การสะสมหนี้สาธารณะ” ศ.รังสรรค์ กล่าว และว่า อีกปัญหาสำคัญคือรัฐบาลไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์เกี่ยวกับการให้บริการความสุข แก่ประชาชน และฝ่ายประชาชนก็ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายประชานิยม ทำให้ไม่รู้ว่าได้ประโยชน์จากนโยบายเหล่านั้นจริงหรือไม่ และไม่รู้ว่าต้องร่วมรับภาระการใช้จ่ายของรัฐมากน้อยเพียงใด ซึ่งอายุของรัฐบาลก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาด้วย ขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดจากนโยบายประชานิยมนั้นก็เกิดความขัดแย้งระหว่าง คะแนนนิยมกับผลประโยชน์ส่วนตัว เกิดปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้คะแนนนิยมนี้นำไปสู่การสร้างสวัสดิการสังคมสูง สุดได้ เกิดปัญหาการไม่ให้ความสำคัญการออกแบบนโยบายและการออกแบบสถาบัน มีการตัดตอน กลไกตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เกิดปัญหาการทำลายวินัยทางการคลัง และการสร้างปัญหาการขาดดุลการคลัง
สำหรับนโยบายประชานิยมเริ่มปรากฎในรัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปีพ.ศ. 2518-2519 ในชื่อ "โครงการผันเงินสู่ชนบท" และนโยบายประชานิยมเริ่มผุดขึ้น อีกครั้งในรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สมัยแรกปีพ.ศ. 2523-2524 ในชื่อ "โครงการสร้างงานในชนบทในฤดูแล้ง" จนกระทั่งปีพ.ศ. 2544-2549 เกิดนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยในลักษณะประชานิยมแบบแพ็จเกจ (Policy Package)เป็นครั้งแรก ที่มีเป้าหมายเพื่อคะแนนนิยมและผลประโยชน์ส่วนตัว .
ภาพประกอบจาก : http://www.esaanvoice.net/esanvoice/know/photo/3102.bmp