โครงการพระดำริฯ องค์ภา สร้างเครือข่ายสังคมปลอดภัย ไร้ความรุนแรง
สำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ปลื้มหลายโครงการในพระดำริฯ ที่รณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในสังคม ผลักดันจนมีการออกกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงภายในครอบครัว ครอบคลุมถึงคนรับใช้
สำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เครือข่ายสังคมปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” สำหรับสื่อมวลชน ในระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2558 ณ ฮิลล์ไซด์ คันทรีโฮม กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดปราจีนบุรี
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ รองผอ.สำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริฯ กล่าวว่า พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงเห็นความสำคัญของปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงมาช้านาน เพื่อการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2552 ทรงให้การสนับสนุนโครงการ “Say No : Unite to End Violence against Women” ที่ริเริ่มโดยเลขาธิการสหประชาชาติ (นายบัน คีมูน) ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์ให้ประชาคมโลกตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยได้เปิดให้มีการลงชื่อสนับสนุนการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงผ่านทางอินเตอร์เน็ต สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นแกนนำในการผลักดันการลงชื่อ
“ในประเทศไทยภายใต้พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงสามารถรวบรวมรายชื่อได้ 3 ล้านรายชื่อ จาก 5 ล้านรายชื่อทั่วโลก ต่อมาในปี 2553 ทรงมีพระดำริฯ ให้แปรเสียงสนับสนุนดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมโดยการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง มอบหมายให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมและดำเนินกิจกรรมที่จัดขึ้นทั่วประเทศ โดยสามารถรวบรวมกิจกรรมในประเทศไทยได้ทั้งหมด 622,189 กิจกรรม ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่สหประชาชาติกำหนดไว้ 1,000,000 กิจกรรมของทั่วโลก”
นางอัจฉราวรรณ บุนนาค อัยการพิเศษฝ่าย ผอ.สำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริฯ กล่าวถึงความรุนแรงในสังคม และครอบครัว ความรุนแรงทั้ง 2 อย่าง ถ้าช่วยกันป้องกันร่วมมือกันภายใต้ ”เครือข่ายสังคมปลอดภัย ไร้ความรุนแรง”จะทำให้การกระทำที่เกิดความรุนแรงลดน้อยลง เพราะการรวมตัวเป็นเครือข่ายช่วยกันป้องกันและแจ้งเตือนการก่อความรุนแรงในสังคม
“สังคมไทยเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ ผู้ชายมักจะแข็งแรงกว่า ผู้หญิงจึงเป็นฝ่ายยอมถูกกระทำไม่มีทางต่อสู้ ความรุนแรงในสังคมจึงเป็นเรื่องธรรมดามาก ยิ่งถ้าในครอบครัว คนนอกก็ไม่เข้ายุ่งเกี่ยว แต่พอสังคมในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไปความเป็นอยู่ทั้งในสังคมและครอบครัวเริ่มมีการพัฒนาการมากขึ้นโดยที่เทียบเคียงกับชาวต่างชาติในเชิงของความเท่าเทียมในหญิงชาย ด้วยพระวิสัยทัศน์ของพระเจ้าหลานเธอฯ ที่มองเห็นปัญหาของสังคมไทยที่มีมากขึ้น จึงได้ให้ทางสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริฯ จัดโครงการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในสังคมให้หมดไป กระทั่งมีการออก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงภายในครอบครัว ครอบคลุมถึงคนรับใช้ คนในครอบครัวจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ”
นางอัจฉราวรรณ กล่าวถึงกระดิ่งพระราชทานจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาด้วยว่า เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านความรุนแรง ควรห้อยไว้ที่สูง เวลาลมพัดผ่าน เสียงของกระดิ่งจะแสดงถึงอิสรภาพแห่งเมืองสงบสุขไร้ความรุนแรง
ทั้งนี้ สำหรับสื่อมวลชนสามารถช่วยสังคมในการป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กได้ โดยการทำข่าวที่ไม่สร้างผลกระทบต่อเด็ก รวมถึงรายงานข่าวคดีที่เกี่ยวกับเด็กที่เป็นเหยื่อของการถูกใช้อำนาจผิดทำนองครองธรรม การแสวงหาผลประโยชน์ การละเลย และถูกเลือกปฏิบัติ โดยคำนึงถึงสิทธิของเด็ก
จากนั้น สื่อมวลชนที่เข้าร่วมอบรม ได้มีการประชุมสรุปความคิดเห็นเพื่อที่นำความรู้ไปเผยแพร่ให้กับประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในสังคม สื่อมวลชนจะเป็นแกนกลางที่จะช่วยกันยุติแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ปัญหาอาชญากรรมในชุมชน ตลอดจนแนวทางในการขยายขอบเขตให้มีผลต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมไทยน่าอยู่ มีความปลอดภัยมากขึ้น และที่สำคัญยังส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกด้วย