กางระเบียบ-ประมวลจริยธรรมเทียบคำพูด“พรเพชร”ปม สนช.ตั้งเมีย-ลูกช่วยงาน?
“…การที่ สนช. แต่งตั้ง “ภรรยา-บุตร-เครือญาติ” เข้ามาช่วยงาน โดยรับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนตั้งแต่ 1.5-2.4 หมื่นบาทนั้น ได้เข้ามาช่วยงานจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การ “กรอกชื่อ” ไว้เพื่อรับเงินเดือนอย่างเดียว เพราะจะเห็นได้ว่า “บุตร” ของ สนช. บางรายยังคงศึกษาในระดับชั้นมหาวิทยาลัย หรืออายุอานามบางคนเพียงแค่ 20 กว่า ๆ เท่านั้น…”
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันเกรียวกราวในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา !
ภายหลังสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กว่า 50 คน แต่งตั้ง “ภรรยา-บุตร-เครือญาติ” เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว-ผู้ชำนาญการประจำตัว-ผู้ช่วยดำเนินงานของ สนช. รับเงินเดือนตั้งแต่ 1.5-2.4 หมื่นบาท
(อ่านประกอบ : เปิดชื่อ! สนช.กว่าครึ่งร้อยตั้ง“เมีย-ลูก-ญาติ”ช่วยงาน-เงินเดือน 1.5-2 หมื่น)
แม้ว่าต่อมา “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. จะออกโรงปกป้องแบบทันท่วงที โดยระบุว่า ตามระเบียบข้อบังคับ สนช. ไม่ได้ห้ามเรื่องการแต่งตั้งภรรยา บุตร หรือเครือญาติ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ปฏิบัติงาน-ผู้ดำเนินงานประจำตัว สนช. แต่อย่างใด ซึ่งหลักการคุณสมบัติในตำแหน่งเหล่านั้นกำหนดเพียงว่า มีคุณวุฒิเหมาะสม และไม่เคยต้องคดีมาก่อน
ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่นั้น “พรเพชร” ยืนยันว่า ที่ สนช. นำภรรยา-บุตรมาดำรงตำแหน่ง อาจต้องการคนที่มีความไว้วางใจมาช่วยงาน จึงดึงคนใกล้ชิดมาเป็น สนช. ซึ่งก็ปฏิบัติตามระเบียบเดิมของสภาที่มีมาก่อนหน้านี้ทุกอย่าง ไม่ได้แก้ไขอะไรแต่ประการใด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กางประกาศ-ระเบียบ-ข้อบังคับการประชุม สนช. มาเทียบกับคำพูดของ “พรเพชร” ให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
ประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่ สนช. บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ประกาศเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 มีนายพรเพชร ในฐานะประธาน สนช. ลงลายมื่อชื่อกำกับ
สำหรับผู้เชี่ยวชาญประจำตัว-ผู้ชำนาญการประจำตัว-ผู้ช่วยดำเนินงานของ สนช. จะต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
1.ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิก สนช.
-มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์
-สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
-มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์กับสมาชิก สนช.
2.ผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิก สนช.
-มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์
-ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
-มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายประกอบการดำเนินงานของสมาชิก สนช. ศึกษาสภาพปัญหาและข้อร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อรวบรวม จัดทำญัตติ กระทู้ถาม ข้อหารือ หรือข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.
3.ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิก สนช.
-มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
-สำเร็จการศึกษาปริญญาโทขึ้นไป หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือได้รับใบประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี หรือได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ) และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี
-มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามที่สมาชิก สนช. กำหนด
โดยทั้ง 3 ตำแหน่งจะต้องมีสัญชาติไทย เป็นผู้เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต ไม่สมประกอบ ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เป็นข้าราชการัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างของส่วนราชการในสังกัดรัฐสภา
และหากเป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องมีหนังสือยินยอมจากส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจที่ผู้สังกัดนั้น แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติงานให้แก่ สนช. คนหนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่งตามข้อ 1, 2 หรือ 3 ได้เพียงตำแหน่งเดียว และบุคคลดังกล่าวจะต้องไม่เป็นผู้ปฏิบัติงานให้แก่ สนช. คนอื่นในตำแหน่งตามข้อ 1, 2 หรือ 3 อีก
ขณะที่ในบทเฉพาะกาลตามข้อบังคับการประชุมของ สนช. พ.ศ.2557 ข้อที่ 219 ระบุว่า ให้นำข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ.2553 มาใช้บังคับเป็นการอนุโลม
โดยข้อบังคับประมวลจริยธรรมฯ พ.ศ.2553 ข้อที่ 25 ระบุว่า สมาชิกและกรรมาธิการพึงระมัดระวังการปฏิบัติงานหรือการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญประจำตัว-ผู้ปฏิบัติงาน-ที่ปรึกษา-ผู้ชำนาญการ-นักวิชาการ และเลขานุการ มิให้กระทำการใด ๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สมาชิกกรรมาธิการและวุฒิสภา
ข้อ 26 ระบุว่า สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องละเว้นจากการแสวงหาผลประโยชน์ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่และไม่กระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน และจะต้องดูแลให้คู่สมรสและบุตรของสมาชิกและกรรมาธิการปฏิบัติตามเช่นเดียวกันด้วย
ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่ต้องถามกลับไปได้แก่
1.การที่ สนช. แต่งตั้ง “ภรรยา-บุตร-เครือญาติ” เข้ามาช่วยงาน โดยรับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนตั้งแต่ 1.5-2.4 หมื่นบาทนั้น ได้เข้ามาช่วยงานจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การ “กรอกชื่อ” ไว้เพื่อรับเงินเดือนอย่างเดียว
เพราะจะเห็นได้ว่า “บุตร” ของ สนช. บางรายยังคงศึกษาในระดับชั้นมหาวิทยาลัย หรืออายุอานามบางคนเพียงแค่ 20 กว่า ๆ เท่านั้น จะสามารถเข้ามาช่วยเหลืองานในสภา ซึ่งล้วนจำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ในการวิเคราะห์ข้อกฎหมาย หรือข้อร้องเรียนจากประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน
2.ตามข้อบังคับประมวลจริยธรรมฯ ระบุชัดเจนว่า สมาชิกจะต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ หรือไม่กระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน แล้วการที่ สนช. แต่งตั้ง “ภรรยา-บุตร-เครือญาติ” ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
3.ตามประกาศ สนช. เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลปฏิบัติงานให้ สนช. นั้น ระบุว่า หากแต่งตั้งคนใดดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยดำเนินงานแล้ว จะดำรงได้เพียงตำแหน่งเดียว แต่มี สนช. บางราย เช่น พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ แต่งตั้ง พล.ร.ต.หญิง พวงพลอย ขจิตสุวรรณ คู่สมรส ดำรงทั้ง 3 ตำแหน่ง สามารถทำได้หรือไม่ และขัดกับประกาศ สนช. ด้วยหรือไม่
ขณะที่ "มาสเตอร์โพลล์" เผยผลสำรวจความคิดเห็นแกนนำชุมชน 600 ชุมชน ช่วงวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่า สำหรับกรณี สนช. บางส่วนแต่งตั้งคนในครอบครัว คนใกล้ชิด เข้ามาช่วยงาน พบว่า ร้อยละ 56.3 ระบุว่าไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า อยากให้ได้คนมีความรู้ความสามารถจริง ๆ มาทำงาน อยากให้มีความคิดที่หลากหลายในการทำงาน เป็นการทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อ สนช. ทำให้ภาพลักษณ์ดูไม่ดี ควรเปิดโอกาสให้คนมีความรู้ความสามารถ จะเกิดข้อครหาได้ ถึงแม้เจตนาดี แต่ก็ไม่ควรทำ อาจจะดูไม่โปร่งใส
ทั้งหมดนี้คือคำถามที่โยนกลับไปถึง “พรเพชร” และบรรดา สนช. ทั้งหลายที่แต่งตั้งเครือญาติเข้ามาดำรงตำแหน่ง ตอบให้ชัด ๆ ว่า แต่งตั้งด้วยความจำเป็นอันใด และทำไมจึงต้องให้คนสำคัญใกล้ชิดแน่นแฟ้น เช่น ภรรยา หรือบุตร เข้ามาดำรงตำแหน่ง
เพื่อสร้างความกระจ่างให้สังคมว่า สาเหตุที่ทำลงไปนั้นไม่ใช่ “สภาเมีย-ลูก-เครือญาติ” อย่างที่ถูกกล่าวหาจริง ๆ
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายพรเพชร จาก ombudsman.go.th