เส้นทางสายวิบาก"องค์กรดับไฟใต้" จากยุค ศอ.บต. สู่ยุค "กอ.สสส.-กอ.รมน." และ ศบ.กช.
หลังจากถูกวิจารณ์มาระยะหนึ่งว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่เห็นมีนโยบายดับไฟใต้อะไรเลย และที่เคยประกาศไว้ตอนหาเสียงก็ไม่ทำ (นโยบายจัดตั้งนครปัตตานี) ล่าสุดที่ประชุมหน่วยงานความมั่นคงที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ได้คลอดนวัตกรรม “องค์กรดับไฟใต้” ขึ้นมาใหม่แล้ว ชื่อว่า "ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ใช้ตัวย่อว่า “ศบ.กช.”
แม้องค์กรใหม่นี้จะยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เพราะนายกฯมีบัญชาให้ไปทำเวิร์คชอป หรือประชุมเชิงปฏิบัติมาก่อน โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ร่วมเป็นกรรมการ แต่ก็น่าสนใจว่าการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมามีนัยยะอะไรหรือไม่ เพราะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วออกกฎหมายรองรับ และมอบภารกิจให้ดูแลยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา ควบคู่กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่ดูแลยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ก็เพิ่งเริ่มทำงานในโครงสร้างดังกล่าวเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง
เรียกว่ายังไม่เห็นหน้าเห็นหลังก็คงจะได้...
ที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือ ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของบ้านเรา กำลังจะกลายเป็นปัญหาถาวรที่แก้กันยืดเยื้อมาหลายสิบปี คล้ายๆ กับปัญหาความยากจนหรือปัญหาภัยแล้งนั่นเลยทีเดียว ซ้ำยังมีการคิดค้นจัดตั้ง “องค์กรดับไฟใต้” มาแล้วมากมายหลายองค์กร เรียกชื่อแตกต่างกันไป แต่ที่น่าหวั่นใจก็คือ ปัญหากลับบานปลาย ไม่ยอมยุติลงเสียที...
"ทีมข่าวอิศรา" รายงานเส้นทางสายวิบากของ "องค์กรดับไฟใต้" ในแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งวิวัฒนาการมาเป็นเวลานานถึง 30 ปี!
ยุค ศอ.บต.-พตท.43
องค์กรดับไฟใต้ยุคแรกที่ได้รับการจัดโครงสร้างในลักษณะ “องค์กรพิเศษ” เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่พิเศษอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2524 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (ปัจจุบันเป็นประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ) โดยตั้งเป็น 2 องค์กรคู่กัน คือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 หรือ พตท.43
ถอดรหัสองค์กรพิเศษดับไฟใต้ในยุคนั้น ใช้ยุทธศาสตร์ 2 ขา คือ ศอ.บต.รับผิดชอบงานการพัฒนาและการให้ความเป็นธรรม ส่วน พตท.43 คืองานปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ สมัยนั้นเรียก “ขบวนการโจรก่อการร้าย” หรือ ขจก.
จุดเด่นของ ศอ.บต. คืออำนาจของผู้อำนวยการ หรือ ผอ.ศอ.บต. ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี สามารถสั่งย้ายข้าราชการไม่ดีหรือข้าราชการนอกแถวออกนอกพื้นที่ได้ และ ศอ.บต.ก็ทำหน้าที่คล้ายศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์จากชาวบ้านไปด้วยในตัว เป็นยุทธศาสตร์ “ลดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม” ที่ได้ผลอย่างยิ่งในยุคนั้น
ขณะที่จุดเด่นของ พตท.43 คือการใช้กำลังของทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ในลักษณะ “บูรณาการ” และมีความเป็นเอกภาพอย่างแท้จริง
ศอ.บต.และ พตท.43 ช่วยกันทำให้สถานการณ์ร้ายในพื้นที่ชายแดนใต้ดีขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งมีเหตุรุนแรงไม่ถึงปีละ 10 ครั้งในยุคปลายรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (พ.ศ.2543) ก่อนถูกยุบในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 โดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 123/2545
รวมอายุของ ศอ.บต.และ พตท.43 ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันถูกยุบคือ 21 ปี
ยุคแห่งความสับสน
เมื่อมองย้อนจากปัจจุบันกลับไป หลายฝ่ายเชื่อว่าสถานการณ์ไฟใต้ที่คุโชนอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากการตัดสินใจยุบ ศอ.บต.และ พตท.43 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ระยะหลังเริ่มมีข้อมูลที่ยืนยันได้ระดับหนึ่งว่า การสร้างสถานการณ์ความไม่สงบโดยกลุ่มติดอาวุธซึ่งเป็นเยาวชนและชายฉกรรจ์มุสลิมในพื้นที่ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเรียกว่า “อาร์เคเค” นั้น ได้วางแผน ฝึกฝน และบ่มเพาะกันมาก่อนหน้าการยุบ ศอ.บต.นานนับสิบปีแล้ว
แต่ "วันเสียงปืนแตก" (ปล้นปืน 4 ม.ค.2547) ดันเกิดขึ้นหลังยุบ ศอ.บต.ไปไม่นาน ทำให้บางฝ่ายหลงประเด็นว่าการยุบ ศอ.บต.เป็นสาเหตุสำคัญ ทั้งๆ ที่หน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยในปัจจุบันก็ยืนยันว่า สถานการณ์ไฟใต้ในลักษณะการก่อเหตุร้ายรายวันถึงอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมี ศอ.บต.หรือไม่มี เพียงแต่การยุบ ศอ.บต.และ พตท.43 เป็นตัวเร่งให้ “เสียงปืนแตก” เร็วขึ้น รวมทั้งกลุ่มผู้ไม่หวังดีอยู่ในสถานะได้เปรียบ เนื่องจากไม่มี “องค์กรดับไฟใต้” ที่เกาะติดพื้นที่มานานเช่นเดิมอีกแล้ว
ไม่ว่าสมมติฐานที่ว่านี้จะถูกหรือผิด แต่จนถึงวันนี้ทุกฝ่ายก็ยอมรับตรงกันแล้วว่า จำเป็นต้องมี “องค์กรพิเศษ” เพื่อบริหารจัดการปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสภาพปัญหา ตลอดจนลักษณะของพื้นที่ วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของผู้คน พิเศษแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศอย่างชัดเจน
แต่กว่าจะตั้งหลักได้ก็ใช้เวลาและลองผิดลองถูกไปไม่น้อย...
หลังการยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เลวร้ายลงเป็นลำดับ เกิดเหตุการณ์โจมตีสถานที่ราชการหลายครั้ง มีการบุกปล้นปืนที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนบางลาง อ.ธารโต จ.ยะลา และปล้นฐานปฏิบัติการของทหารภายในสำนักงานโครงการปศุสัตว์เกษตรมูโน๊ะ ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริ ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
จากสภาพการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องลงนามแต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบายเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ กปต.ขึ้นมา ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 154/2546 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2546
คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยกรรมการ 35 คน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน แต่ไม่มีชื่อผู้นำมุสลิมหรือตัวแทนประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมเป็นองค์ประกอบของ กปต.เลยแม้แต่คนเดียว ซึ่งจุดนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับโครงสร้างของ ศอ.บต.เดิม
อีกทั้ง กปต.ยังมีบทบาทน้อยมาก คือแทบไม่เคยเรียกประชุมเลย!
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น รัฐบาลยังตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด” หรือ กกจ.ขึ้นอีกชุดหนึ่ง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ.2546 โดยมีกรรมการ 28 คน และมีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการใช้ระบบ "ซีอีโอ" เข้ามาคลี่คลายปัญหา
ทว่าสถานการณ์ก็ยังไม่มีเค้าว่าจะดีขึ้น หนำซ้ำยังเกิดเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจำนวน 413 กระบอก พร้อมสังหารทหารอีกหลายนาย ถึงในกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จนกลายเป็นปฐมบทความรุนแรงรายวันที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ยุค กอ. 3 ส.
หลังเหตุการณ์ปล้นปืนและเกิดสถานการณ์ร้ายรายวันจนรับมือไม่ทัน ทำให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ตัดสินใจตั้ง “กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ กอ.สสส.จชต. ซึ่งเรียกติดปากกันในเวลาต่อมาว่า “กอ.3 ส.” ขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2547 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 68 และ 69/2547 มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง (ในขณะนั้น) ทำหน้าที่ประธาน
โครงสร้างของ กอ.สสส.จชต.ล้อกับ "กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน" หรือ กอ.รมน.แทบจะไม่ผิดเพี้ยน (กอ.รมน.คือองค์กรพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในอดีต) แต่ในยุคนั้น กอ.รมน.ไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะภารกิจปราบปรามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดไปหลายปีแล้ว อีกทั้งพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 ยังถูกยกเลิกไปในช่วงปลายรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ (พ.ศ.2543) ด้วย
วัตถุประสงค์สำคัญของการตั้ง กอ.สสส.จชต.ก็คือการแก้ไขปัญหาความไร้เอกภาพของหน่วยงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหารในพื้นที่ซึ่งรับผิดชอบภารกิจ “ดับไฟใต้”
และแม้ กอ.สสส.จชต.จะเป็นโครงสร้างหลักที่ใช้ต่อเนื่องมาอีกหลายปีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็มีการปรับโครงสร้างภายในและอำนาจการบังคับบัญชาหลายครั้ง เช่น เดิมมีรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รองผบ.สส.) เป็นผู้อำนวยการ หรือ ผอ.สสส.จชต.ฝ่ายข้าราชการประจำ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนให้แม่ทัพภาคที่ 4 ทำหน้าที่แทน และมีการตั้งหน่วยงาน กอ.สสส.ในระดับจังหวัด เพื่อให้มีแขนขาลงลึกถึงระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เป็นต้น
ขณะที่ในระดับชาติมีการตั้ง “กองอำนวยการนโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ กสชต.ขึ้นมาซ้อนอีกชุดหนึ่ง มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อคุมนโยบายในภาพรวมทั้งหมด และยังมีการตั้ง “คณะกรรมการบริหารจัดการในพื้นที่ตามนโยบายและยุทธศาสตร์เสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ กบชต. ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธาน เพื่อเป็นสะพานเชื่อมงานยุทธศาสตร์ระหว่าง กสชต. และ กอ.สสส.จชต.อีกคณะหนึ่งด้วย
สู่ยุค กอ.รมน.และ ศอ.บต.คืนชีพ
ช่วงปลายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ในปี 2549 สถานการณ์ในดินแดนปลายสุดด้ามขวานร้อนแรงเกือบถึงขีดสุด และโครงสร้างองค์กรที่มีอยู่จัดการปัญหาไม่ได้ ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ตัดสินใจผ่องถ่ายภารกิจ “ดับไฟใต้” ไปให้กองทัพบก โดยผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มีอำนาจเต็ม (ผบ.ทบ.ในขณะนั้นคือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน)
ต่อมามีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมา คือ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทำให้ “ยุทธศาสตร์ 2 ขา” เพื่อดับไฟใต้ถูกหยิบมาใช้อีกครั้ง
กล่าวคืองานด้านความมั่นคงมอบให้ “ทหาร” ดูแล โดยใช้โครงสร้าง กอ.รมน. ที่พัฒนาเป็น “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” ซึ่งมีตรากฎหมายออกมารองรับอย่างเป็นรูปธรรม คือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "พ.ร.บ.ความมั่นคง"
แม้ กอ.รมน.โฉมใหม่จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ (ผอ.รมน.) ทว่ารอง ผอ.รมน.กลับเป็น ผบ.ทบ.โดยตำแหน่ง ขณะที่เลขาธิการ กอ.รมน.ก็คือเสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) ทำให้กองทัพบกกลายเป็น “หน่วยนำ” ใน กอ.รมน.และในภารกิจ “ดับไฟใต้” ไปโดยปริยาย
อีกด้านหนึ่งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ฟื้น ศอ.บต.ที่ถูกยุบไป โดยออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 207/2549 เรื่อง "การบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้" คืนชีพให้ ศอ.บต.พร้อมๆ กับ พตท.43 ด้วย แต่ใช้ชื่อว่า "กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร" หรือ "พตท." เฉยๆ ไม่มีตัวเลขกำกับ
ศอ.บต.ยุคฟื้นคืนชีพนี้มี นายพระนาย สุวรรณรัฐ ดำรงตำแหน่ง ผอ.คนแรก และเปลี่ยนตัวเป็น นายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในเดือนตุลาคม 2552 จนถึงการปรับโครงสร้าง ศอ.บต.ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2553
ศอ.บต.ยุค “จัดเต็ม”
แม้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จะฟื้น ศอ.บต.ขึ้นมาใหม่ แต่ “องค์กรพิเศษ” องค์กรนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับ นอกจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 207/2549 เท่านั้น ทำให้มีความพยายามเสนอกฎหมายขึ้นมารองรับโครงสร้าง ศอ.บต.หลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ
ขณะเดียวกัน กอ.รมน.ซึ่งมีกองทัพบกเป็นหน่วยนำ ก็จัดวางโครงสร้างในลักษณะ “ควบคุม” ศอ.บต.อีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะงบประมาณทั้งหมดของ ศอ.บต. ต้องเบิกจ่ายผ่าน กอ.รมน. ทำให้ ศอ.บต.ในยุคหลังแทบไม่มีสถานะเป็น “องค์กรพิเศษ” แต่กลายเป็น “แขนข้างหนึ่ง” ในโครงสร้าง กอ.รมน.เท่านั้น แม้จะมีการพูดกันถึงยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ทื่ใช้ “การเมืองนำการทหาร” ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้น
กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมื่อปลายปี 2551 จึงได้ผลักดันให้มีกฎหมายรองรับองค์กร ศอ.บต.อย่างจริงจัง คือ ร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.... ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 และอนุมัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 ตุลาคมปีเดียวกัน
หลักการสำคัญของกฎหมายใหม่ที่เรียกกันติดปากว่า “พ.ร.บ.ศอ.บต.” คือใช้ชื่อองค์กรดับไฟใต้ว่า ศอ.บต.เช่นเดิม เนื่องจากประชาชนในพื้นที่คุ้นเคยและรู้จักกันดี พร้อมกับเปลี่ยนนิยามจังหวัดชายแดนภาคใต้จาก 3 จังหวัด คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็น 5 จังหวัด คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล
โครงสร้างใหม่ของ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานที่เทียบเท่า กอ.รมน.เพราะให้นายกรัฐมนตรีเป็น "ผอ.ศอ.บต." (เหมือน ผอ.รมน.) ส่วนผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายข้าราชการประจำเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็น "เลขาธิการ ศอ.บต." มีอำนาจทั้งเสนอย้ายข้าราชการแทบทุกหน่วยพ้นพื้นที่ (ทั้งแบบย้ายได้ทันที และแจ้งไปยังต้นสังกัด), เรียกสำนวนการสอบสวนคดีที่ถูกร้องเรียนจากประชาชนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมมาตรวจสอบได้ ฯลฯ
ที่สำคัญ ศอ.บต.ยังมีหน้าที่จัดทำ “แผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.(คณะกรรมการระดับรัฐบาล) พิจารณาด้วย โดยดำเนินการควบคู่กับ “แผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง” ที่รับผิดชอบโดย กอ.รมน. ถือเป็นการ "คาน-ดุล" กันระหว่าง 2 หน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาและให้ความเป็นธรรม กับงานด้านความมั่นคง
กฎหมาย ศอ.บต.เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 โดยมี นายภาณุ อุทัยรัตน์ ขยับจาก ผอ.ขึ้นเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. (ระดับ 11) คนแรก
นับหนึ่งยุค “ศบ.กช.”
การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ทำให้ประเทศไทยได้รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนเล็กของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี
ตลอดเดือนเศษหลังแถลงนโยบาย รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกเสียจากการมีข่าวเตรียมโยกย้าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.แทนนายภาณุ อุทัยรัตน์ แต่จนถึงขณะนี้ (24 กันยายน) ก็ยังไม่มีคำสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรีออกมา
กระทั่งเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กันยายน ทำให้ล่าสุดนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงทุกหน่วยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน และมติของที่ประชุมก็คือการจัดตั้ง “ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ "ศบ.กช." ด้วยเหตุผลแก้ไขปัญหาด้านเอกภาพระหว่าง ศอ.บต.กับ กอ.รมน. รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ที่อยู่ในลักษณะต่างคนต่างทำ พร้อมๆ กับจัดการปัญหาด้านการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีเสียงบ่นว่าล่าช้า ไม่ทันการณ์
โครงสร้าง ศบ.กช.เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวค่อนข้างคล้ายคลึงกับ "ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด" หรือ ศพส. ที่รัฐบาลเพิ่งจัดตั้งขึ้นไม่นาน ซึ่งมีหลักการบูรณาการทุกหน่วยงานเหมือนกัน ทั้งยังใกล้เคียงกับ “ศูนย์ระดับชาติดับไฟใต้” ที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) เสนอผ่านการให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เมื่อไม่นานมานี้เอง (แนะรื้อโครงสร้างดับไฟใต้ กอ.รมน.แค่ยาแก้ปวด http://bit.ly/resHFz)
“ศบ.กช.” เป็น “องค์กรพิเศษดับไฟใต้” องค์กรที่ 5 (นับเฉพาะองค์กรหลักๆ) ที่เกิดขึ้นในรอบ 30 ปีมานี้ (นับตั้งแต่ตั้ง ศอ.บต.เมื่อปี 2524) โดยที่วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งก็ยังคงเป็นเรื่องเดิม คือ “เอกภาพและบูรณาการ” ไม่ต่างจากสมัยตั้ง กอ.สสส.จชต. ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ และองค์กรอื่นๆ ในอดีต
ในขณะที่ความเป็นเอกภาพในระดับรัฐบาลเองก็ยังถูกตั้งคำถาม เพราะการแบ่งงานของรองนายกรัฐมนตรีก็ค่อนข้างสับสน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รับผิดชอบงานด้นความมั่นคง และดูแลจะดูแลปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รับผิดชอบกระทรวงมหาดไทย (ฝ่ายปกครอง) และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฝ่ายตำรวจ)
ขณะที่ทหารอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายกรัฐมนตรีในโครงสร้าง กอ.รมน.
ท่ามกลางพลวัตไฟใต้ที่พัฒนาจากสงครามกองโจรสู่สงครามก่อการร้ายในเมือง ในหมู่บ้าน และสงครามแย่งชิงมวลชนที่เชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์ น่าตกใจที่ภาครัฐยังคงวนเวียนอยู่กับการตั้งองค์กรใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาเอกภาพและบูรณาการกันอยู่เลย!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- แกะกล่อง "ศอ.บต.โฉมใหม่" ติดดาบย้าย จนท.รัฐนอกแถว ตรวจสอบคดีความมั่นคง
- ภาณุ อุทัยรัตน์ กับ ศอ.บต.ในความหมายใหม่
http://south.isranews.org/interviews/281-2010-04-08-16-09-49.html
- ร่างกฎหมาย ศอ.บต.ฉบับใหม่...ติดตามย้าย "ขรก.-ทหาร-ตำรวจ" พ้นพื้นที่
http://south.isranews.org/academic-arena/178--q-q-.html
- ครม.ไฟเขียวตั้งองค์กรดับไฟใต้ ใช้ชื่อ "ศอ.บต." ยกระดับเทียบ กอ.รมน. นายกฯนั่งผู้อำนวยการ
http://south.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4928&Itemid=47
- ศอ.บต.ผลัดใบ "พระนาย"อำลา-"ภาณุ"หวนคืนชายแดนใต้ผงาดนั่ง ผอ.
http://south.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4921&Itemid=86
- เปิดวิวัฒนาการองค์กรดับไฟใต้ จาก ศอ.บต.ถึง กอ.สสส.-กอ.รมน. แล้วจะไปทางไหน?
http://south.isranews.org/scoop-and-documentary/10-2009-11-15-11-15-01/23-2009-11-24-07-33-52.html