ประกาศเจตนารมณ์ต่อรัฐธรรมนูญ การปฏิรูป และนโยบายแห่งรัฐ วันสตรีสากล ๘ มีนาคม
กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย องค์กรทำงานประเด็นผู้หญิง ผู้แทนจากหลากหลายสาขาอาชีพ และกลุ่มสตรีพิการ ประกาศเจตนารมณ์ต่อรัฐธรรมนูญ การปฏิรูป และนโยบายแห่งรัฐ เนื่องในวาระวันสตรีสากล ๘ มีนาคม ๒๕๕๘ “ผู้หญิงทำงาน สู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของทุกคน”
................................................................
“๘ มีนา” เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของแรงงานหญิงเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งหมายรวมถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ระบบสวัสดิการสังคมที่คำนึงถึงทุกคน ผู้หญิงเป็นกำลังครึ่งหนึ่งของโลก และเป็นคนทำงานที่สร้างสรรค์คุณค่าของทุกสังคม อุดมการณ์ของผู้หญิง จึงเป็นสิ่งดีงามเพื่อทุกคนในสังคม และควรได้รับการสนับสนุนจากผู้ชาย และทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะนโยบายกฎหมายของรัฐ
สังคมไทยแม้จะยอมรับว่า“ผู้หญิง” มีบทบาทสร้างสรรค์สังคม ในทุกระดับ แต่วันนี้ในสังคมไทยที่เชิดชูคุณค่า ”แม่” ชีวิตจริงของผู้หญิงทำงานส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถทำงานได้อย่างมั่นคง เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง แม้กระทั่งคนท้อง ค่าตอบแทนการทำงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีหลักประกันด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานที่เพียงพอ ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมบทบาทในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันในการมีสิทธิตัดสินใจในทางการเมืองทุกระดับ การมีส่วนร่วมในกรรมการไตรภาคีด้านแรงงานทุกคณะ องค์กรบริหารรัฐวิสาหกิจ รวมถึงบทบาทการมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย การกำหนดนโยบายและแผนงานใดๆของรัฐ และสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กระแสเศรษฐกิจโลกแบบทุนนิยมที่รัฐบาลทุกยุคสมัยเน้นให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทุน ทั้งในและจากต่างประเทศ แต่ใช้นโยบายแรงงานราคาถูก และรูปแบบการจ้างงานหลากหลายที่ไร้หลักประกันเพียงพอ จึงมีผลคุกคามความเป็นมนุษย์ของเพศหญิง จนผู้หญิงต้องตกอยู่ในสถานภาพที่เสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบ กดขี่ขูดรีด ผู้หญิงทำงานทุกคนในการจ้างงานที่หลากหลายสร้างคุณค่า และเป็นพลังฐานเศรษฐกิจที่สร้างความมั่งคั่งแก่สังคมไทยตลอดมา ในขณะเดียวกันก็ยังคงทำหน้าที่ของแม่ของลูกสาว และภรรยา เป็นผู้ดูแลความอยู่ดีมีสุขของทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วย นอกจากนี้ผู้หญิงจำนวนมากยังถูกกระทำจากความรุนแรง ตั้งแต่ในครอบครัว จนถึงการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และในพื้นที่สาธารณะต้องประสบอันตราย และความเจ็บป่วยในการทำงานโดยไม่มีการคุ้มครองและเยียวยาที่พอเพียง
ในโอกาสที่สังคมไทยจะต้องมีการปฏิรูป ต้องลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมจะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันเป็นกฎหมายสูงสุดที่จำเป็นจะต้องมีหลักประกันของสิทธิประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศ แต่ขณะนี้ยังละเลยไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญในปัญหาของแรงงาน และ ความเสมอภาคของผู้หญิง กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย องค์กรทำงานประเด็นผู้หญิง ผู้แทนจากหลากสาขาอาชีพ และกลุ่มสตรีพิการ
จึงขอร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ๘ มีนาที่กำลังจะมาถึงในปีนี้ พร้อมกับขบวนผู้หญิงทั่วประเทศ เพื่อแสดงพลังการต่อสู้ของขบวนผู้หญิงที่ไม่เคยท้อถอยหรือหยุดนิ่ง และพร้อมจะเกาะติดผลักดันและตรวจสอบทั้งรัฐธรรมนูญ และการปฏิรู รวมทั้งนโยบายของรัฐ เพื่อสิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน
ข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนร่วมกันต่อสังคม ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติและรัฐบาล ในโอกาสนี้ คือ “ผู้หญิงทำงาน ต้องการคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนเพื่อผู้หญิง และทุกคน”
(๑) ต้องบรรจุเรื่องสัดส่วนหญิงชายไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ โดยผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมใน
การตัดสินใจและวางแผน มีสัดส่วนหญิง ชาย ๕๐=๕๐ ทั้งในโครงสร้างทางการเมืองทุกระดับ กรรมการ ไตรภาคีด้านแรงงานทุกคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ การพิจารณาออกกฎหมาย และกรรมการองค์กรต่างๆของรัฐ ฯลฯ
(๒) ต้องบรรจุในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แรงงานทั้งหญิงชาย ที่มาทำงานต่างถิ่นต้องได้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนทางการเมืองในพื้นที่ที่ทำงานอยู่
(๓) ต้องมีมาตรการเด็ดขาดห้ามการเลิกจ้างคนท้อง และส่งเสริมนโยบายให้เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า สนับสนุนให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ ราคาถูก กระจายทั่วถึงในชุมชน โรงงาน หน่วยงานของรัฐและบริษัทเอกชน และจัดเสริมเจ้าหน้าที่บริการดูแลให้สอดคล้อง กับเวลาทำงานที่เป็นจริงของผู้หญิงทำงานอย่างจริงจัง
(๔) รัฐต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ..ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วง ที่ไม่ได้ทำงานเพราะการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก ตั้งแต่ช่วงเริ่มตั้งครรภ์ โดยให้พ่อมีสิทธิลางานดูแลลูกและแม่หลังคลอดบุตร
(๕) ส่งเสริมหลักประกันในการเข้าถึงสิทธิสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับผู้หญิงอย่างมีคุณภาพ เพราะวันนี้ยังคงมีผู้หญิงที่ เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเพราะมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกในอัตราสูง ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ถ้ามีระบบการตรวจสุขภาพที่ครบถ้วน มีคุณภาพบริการฟรีหรือราคาถูก และเข้าใจผู้หญิง รวมทั้งส่งเสริมการแพทย์ที่ป้องกันความปลอดภัย และดูแลรักษาโรคภัยที่เกิดจากการทำงานในหลายรูปแบบให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อคุ้มครองดูแลโรคภัยทั้งจากงานอุตสาหกรรม งานบริการ รวมทั้งจากสารเคมีภาคเกษตร
(๖) ผู้หญิงต้องมีความมั่นคงในการทำงานไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และมีมาตรการคุ้มครองฟื้นฟูและเยียวยา ผู้หญิงจากความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศในพื้นที่สาธารณะ
(๗) คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานหญิงสัญญาจ้างที่ไม่มั่นคงในการทำงาน
(๘) คัดค้านการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งหมายถึงการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อคนทำงานทั้งหญิงและชายบนฐานการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องให้เป็น องค์กรอิสระต่อไป โดยเปลี่ยนแปลงการสรรหาให้ยึดโยงกับประชาชนและส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ในโอกาสวันสตรีสากล ๘ มีนา ๒๕๕๘ ที่เป็นวันรำลึกถึงการรวมพลังต่อสู้ แรงงานหญิงคือผู้สร้างสรรค์โลก สิทธิผู้หญิงคือสิทธิมนุษยชน พวกเราเรียกร้อง สิทธิประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ความเสมอภาคระหว่างเพศ และคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของคนทำงานหญิง ซึ่งหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของทุกคน