2ปีพูดคุยดับไฟใต้ รัฐอืด-ประชาสังคมคึก
เสาร์นี้...วันที่ 28 ก.พ.58 จะเป็นวันครบรอบ 2 ปีของการพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ จากกลุ่มบีอาร์เอ็น
สาเหตุที่ทำให้วันที่ 28 ก.พ.เมื่อ 2 ปีก่อนกลายเป็น "หมุดหมาย" ที่ต้องมารำลึกถึงกัน ก็เพราะการพูดคุยสันติภาพในครั้งนั้น ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผย เป็นทางการ ไม่ใช่แอบไปพบปะเจรจากันเหมือนตลอดหลายปีที่ผ่านมาในหลายๆ รัฐบาล ทว่ามีการลงนามในข้อตกลงร่วมกัน โดยฝ่ายหนึ่งที่เป็น "ตัวแทนรัฐบาล" ซึ่งมีอำนาจจริงและมาจากการเลือกตั้ง กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ถูกระบุว่าเป็นแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และน่าจะเชื่อมโยงกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
แม้การพูดคุยจะไม่สามารถเดินหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางคือ "ข้อตกลงสันติภาพ" ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อมของฝ่ายไทย และการเมืองภายในของไทยเอง แต่การร่วมลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อวันที่ 28 ก.พ.56 ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ส่งผลให้ "การพูดคุยกับผู้เห็นต่าง" กลายเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นนโยบายที่นำมาสู่การปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ถึงขนาดที่รัฐบาลทหารอย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ยังต้องสานต่อการพูดคุย
และแม้การพูดคุยในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่มีความคืบหน้าจนเห็นผลเป็นรูปธรรมมากมายนัก ทั้งยังไม่มีการเปิดโต๊ะพูดคุยอย่างเป็นทางการเลยสักครั้ง ซึ่งด้านหนึ่งเป็นเพราะต้องการปิดจุดอ่อนจากการพูดคุยครั้งก่อน จึงมีความรอบคอบค่อนข้างสูง แต่สิ่งหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือ ดอกไม้แห่งสันติภาพได้เบ่งบานในมวลหมู่ประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้อย่างกว้างขวาง กระทั่งแปรเปลี่ยนเป็นกิจกรรมเพื่อสันติภาพอย่างหลากหลายและสมควรบันทึกเอาไว้...
เปิดศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้
ปลายปีที่แล้ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเดิมใช้ชื่อ "ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี" ได้เปิดตัวคนทำงานและสำนักงาน "ศูนย์สันติวิธีจังหวัดชายแดนภาคใต้" ตั้งอยู่ที่บ้านสวนสมเด็จ หมู่ 6 ถนนหลัง ม.อ.ปัตตานี ซอย 1 (ริชดริงส์) ต.รูสะมิแล อ.เมืองปัตตานี
โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาฯ กล่าวว่า การตั้งศูนย์สันติวิธีจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการทำงานด้านสันติภาพในชายแดนใต้ เป็นพื้นที่กลางที่ปลอดภัยและทำกิจกรรมในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การทำงานจะเป็นการต่อยอดจากกิจกรรมและโครงการต่างๆ ซึ่งทางสถาบันฯดำเนินการมาตั้งแต่ปี 48 จำนวนกว่า 50 โครงการ/กิจกรรม แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ การสร้างความไว้วางใจและการสื่อสารกับสังคม, การสร้างความร่วมมือและการเรียนรู้ และการเปิดพื้นที่ทางความคิด
"ศาสนา"ร่วมขบวนสันติภาพ
กิจกรรมสำคัญอันหนึ่งที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาฯ ร่วมขับเคลื่อนจนเห็นผลเป็นรูปธรรม คือ การจัดตั้ง "ศาสนิกสตรีเพื่อสันติภาพ" หรือ Women of Faith for Peace เพื่อให้สตรีชายแดนใต้คิดร่วมกัน แล้วแปลงความคิดให้เป็นการกระทำ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพที่ใกล้จะมาถึง
ทั้งนี้ ศาสนิกสตรีเพื่อสันติภาพ มี อาจารย์มัรยัม สาเมาะ เป็นประธาน และมีกรรมการจากสตรีศาสนาต่างๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกข์ และบาไฮ
อีกกิจกรรมหนึ่งที่เพิ่งจบไปเมื่อกลางเดือน ก.พ.58 และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาฯ มีส่วนขับเคลื่อนเช่นกัน ก็คือกิจกรรม "เดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้" ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งการรณรงค์เพื่อสันติภาพที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นในพื้นที่
ข้อเสนอถึงสื่อร่วมสร้างสันติ
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการสันติภาพจะแข็งแกร่งได้ ต้องได้รับการหนุนเสริมจากการสื่อสารในทางสร้างสรรค์ นั่นจึงทำให้บทบาทสื่อมวลชนทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก มีความสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพ
"ปาตานีฟอรั่ม" หนึ่งในองค์กรประชาสังคมในพื้นที่ ได้นำเสนอรายงานข้อเสนอนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อหนุนเสริมสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ หลังจากเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายเวที ในหลายพื้นที่ สรุปสาระสำคัญได้ 4 ข้อ คือ
1.สื่อกระแสหลักมีพัฒนาการการรายงานข่าวที่ดีขึ้น มีความหลากหลายในแง่มุมการนำเสนอข่าว เปิดโอกาสให้เสียงของคนในพื้นที่เข้าไปอยู่ในการนำเสนอมากขึ้น มีการเปลี่ยนการใช้ภาษาจากคำที่ให้ความหมายในแง่ลบหรือเป็นการตัดสินตีตรา ไปสู่คำที่มีความหมายที่เป็นกลางมากขึ้น
อย่างไรก็ดี สื่อกระแสหลักยังคงเอารัฐเป็นศูนย์กลาง ประเด็นหลักในการรายงานข่าวและภาพข่าวในพื้นที่ชายแดนใต้ยังคงยึดโยงอยู่กับเรื่องของความรุนแรง สะเทือนขวัญ ตามกระแส ซึ่งมักมองว่าเป็นข่าวที่ "ขายได้" จึงทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการนำเสนอข่าวที่ทำให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง
2.ความต้องการของประชาชนต่อการรายงานข่าวเรื่องราวของปาตานี/ชายแดนใต้ในสื่อกระแสหลัก คือ ความเป็นจริง การอยู่ร่วมกัน วิถีชีวิต วัฒนธรรม เพื่อความสมดุลกับข่าวความรุนแรง การนำเสนอเรื่องราวของผู้ได้รับผลกระทบ การช่วยเหลือเยียวยา และประเด็นมิติทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่เป็นชุดความจริง
3.คาดหวังการนำเสนอข่าวที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เป็นกลาง และรอบด้าน การรายงานข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวน ตลอดจนรายงานข่าวโดยเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความรู้ความเข้าใจในมิติสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่ และในพื้นที่ความขัดแย้ง สื่อต้องนำหลักประมวลจริยธรรมมาใช้จริง
4.ข้อเสนอต่อสื่อทางเลือก สิ่งที่ประชาชนในหลายเวทีต้องการ คือ ต้องการเห็นการสร้างความเข้มแข็งของการทำงานแบบเครือข่ายของสื่อทางเลือกทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อเป็นแรงหนุนการพัฒนาทักษะในการทำงาน และเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ กับพื้นที่อื่นๆ และไม่ต้องการให้สื่อทางเลือกถูกแทรกแซงจากรัฐ
ม.อ.เล็งตั้งศูนย์สื่อสันติภาพ
ในแง่ของการพัฒนาสื่อ ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร (วสส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ได้เตรียมจัดตั้ง ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารเพื่อสันติภาพ หรือ Center for Peace Communication Education and Development (Peace Comm. Center) ในปีงบประมาณหน้า เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนให้การสื่อสารเข้ามามีบทบาทในการสร้างสันติภาพ
"เราตระหนักถึงบทบาทในการเป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่พิเศษที่มีความขัดแย้งรุนแรง จึงพยายามบูรณาการการวิจัย หาองค์ความรู้ใหม่ๆ บริการทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมสันติภาพ โดยดึงชุมชนเข้ามาเรียนรู้ด้วย" ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว
"พูดคุย"ถ่วงดุลความรุนแรง
พูดถึงความพยายามขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ คงละเลยไม่พูดถึงศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ ดีพเซาท์วอทช์ และองค์กรเครือข่ายไม่ได้ เพราะมีบทบาทสูงมากในมิตินี้
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังฯ กล่าวว่า สถานการณ์ชายแดนใต้ในภาพรวมตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง แต่ถ้าพูดถึงระยะยาวในอนาคต ยังไม่รู้ว่าจะลดลงหรือเพิ่มขึ้น
ช่วงที่สถานการณ์ลดลง อย่างเช่นตั้งแต่ปี 55 เป็นต้นมา มักมีลักษณะพิเศษในช่วงนั้นๆ โดยเฉพาะทางฝ่ายรัฐปรับนโยบายจำนวนมาก ทั้งในแง่ของการทหารซึ่งใช้กำลังมากขึ้น และควบคุมพื้นที่ได้มาก ขณะที่ในแง่การเมือง ก็มีการพัฒนาและการพูดคุยสันติภาพ รวมไปถึงการลดเงื่อนไขด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สำหรับสถานการณ์ปี 57 ต่อเนื่องถึงปี 58 เมื่อการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างยังไม่ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลปัจจุบัน และมีการริเริ่มขึ้นมาใหม่ ตรงนี้น่าจะเป็นถ่วงดุลความรุนแรงไม่ให้ขยายตัว ฉะนั้นต้องรอดูทิศทางการพูดคุยต่อไป แต่ที่แน่ๆ คือ ถ้าการพูดคุยเดินหน้าได้ จะเป็นตัวถ่วงดุลในแง่ของความรุนแรงให้ลดลงได้บ้าง
และนั่นน่าจะเป็นคำตอบว่าเหตุใดกระแสสันติภาพและสนับสนุนการพูดคุยจึงแพร่หลายอย่างมาก ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กิจกรรมเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ สะท้อนบรรยากาศการเพรียกหาสันติสุขในพื้นที่
2 งานเปิดตัวศาสนิกสตรีเพื่อสันติภาพ
3 การสัมนาของปาตานีฟอรั่ม
4 ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี