ย้อน4 คำถามยุครบ."ชวน" ผ่านไป16 ปี ทำไมล้ม "ธมมชโย-ธรรมกาย" ไม่ได้
"..วัดพระธรรมกายอาศัยวิธีการสร้างศรัทธา ดังนี้ 1. มีการจัดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ อย่างเป็นระบบ 2. ชักนำให้คนปฏิบัติสมาธิจนเห็นผลของการปฏิบัติสมาธิตามวิธีธรรมกายได้ด้วยตนเอง ทำให้คนปฏิบัติเกิดศรัทธา ถึงขนาดบริจาคทรัพย์ให้มากมายและอุทิศตนทำงานให้แก่ทางวัดมาก 3. บอกวัตถุประสงค์ของการทำงานเพื่อศาสนาอย่างชัดเจน โดยมีการทำงานอย่างจริงจัง และมีระบบการจัดการที่ดี.."
"การที่วัดพระธรรมกาย สร้างศรัทธาจนมีเงินมหาศาล มีการใช้การบริหารและการจูงใจอย่างไร และกรณีที่ทำให้คนเกิดความศรัทธาเชื่อถือร่วมบริจาคทรัพย์อย่างมหาศาลนั้นเป็นความจริงหรือไม่"
เชื่อหรือไม่ว่า "คำถาม" ประโยคนี่ เคยมีการตั้งกระทู้ถามต่อสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว และก็มีผู้ให้ "คำตอบ" ที่ชัดเจนไว้แล้วด้วยเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลราชกิจจานุเบกษาย้อนหลังจนถึงปี 2543 พบว่า มีการเผยแพร่ข้อมูลการตั้งกระทู้ถาม ของ "นายนิยม วรปัญญา" ขณะดำรงตำแหน่งเป็น ส.ส. จ.ลพบุรี พรรคชาติไทย ต่อ "นายชวน หลีกภัย" นายกรัฐมนตรี เรื่อง กรณีวัดพระธรรมกาย ใน 4 ประเด็น คือ
1. รัฐบาลมีแผนและนโยบายจะให้การสนับสนุนหรือจะแก้ไขกรณีวัดพระธรรมกายอย่างไร
2. กรณีที่มีข่าวปรากฎทางสื่อมวลชนว่ามีพระผู้ใหญ่หรือกรรมการวัดพระธรรมการฉ้อฉลนั้น มีการสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างไร ขอทราบรายละเอียด
3. การที่วัดพระธรรมกาย สร้างศรัทธาจนมีเงินมหาศาล มีการใช้การบริหารและการจูงใจอย่างไร และกรณีที่ทำให้คนเกิดความศรัทธาเชื่อถือร่วมบริจาคทรัพย์อย่างมหาศาลนั้นเป็นความจริงหรือไม่
4. วัดพระธรรมกายได้รับบริจาคเงินมาแล้วใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้านช่วยเหลือสังคมร้อยละเท่าใด เป็นค่าก่อสร้างร้อยละเท่าใด ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ กรมการศาสนา มหาเถรสมาคม กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และปลัดกระทรวงทุกกระทรวงร่วมกัน พิจารณาตรวจสอบยอดเงินรายรับและรายจ่ายของวัดพระธรรมกาย และเปิดเผยต่อสาธารณชนจะได้หรือไม่ ขอทราบรายละเอียด
ทั้งนี้ นายนิยม ระบุว่า เหตุผลในการตั้งกระทู้ถามเรื่องนี้ ว่า "วัดพระธรรมกายสร้างเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกใกล้สำเร็จ ถ้าสร้างสำเร็จจะเป็นศูนย์กลางในการชุมนุมคณะสงฆ์ได้ทั่วโลก แต่ต่อมามีปัญหาเนื่องมาจากความคลางแคลงใจของประชาชน ทำให้การก่อสร้างเกิดชะงัก โดยเข้าใจว่าไม่โปร่งใส ซึ่งเป็นเรื่องของตัวบุคคลควรจะได้พิจารณาแยกแยะ เพราะวัดเป็นสาธารณสถาน ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้
พร้อมระบุ "โดยขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา"
หลังได้รับการตั้งกระทู้ถามดังกล่าว "นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ซึ่ง ได้รับมอบหมายจาก "นายกรัฐมนตรี" ให้เป็นผู้ชี้แจงตอบคำถาม
โดยในส่วนของคำถามข้อที่ 1 และ 2 นายสมศักดิ์ ตอบตามเนื้อหาในเอกสารดังต่อไปนี้
ส่วนคำตอบข้อที่ 3 นั้น นายสมศักดิ์ ตอบว่า ขอเรียนว่า วัดพระธรรมกายอาศัยวิธีการสร้างศรัทธา ดังนี้
1. มีการจัดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ อย่างเป็นระบบ
2. ชักนำให้คนปฏิบัติสมาธิจนเห็นผลของการปฏิบัติสมาธิตามวิธีธรรมกายได้ด้วยตนเอง ทำให้คนปฏิบัติเกิดศรัทธา ถึงขนาดบริจาคทรัพย์ให้มากมายและอุทิศตนทำงานให้แก่ทางวัดมาก
3. บอกวัตถุประสงค์ของการทำงานเพื่อศาสนาอย่างชัดเจน โดยมีการทำงานอย่างจริงจัง และมีระบบการจัดการที่ดี
คำตอบข้อที่ 4 นายสมศักดิ์ ระบุว่า ขอเรียนว่าเนื่องจากวัดเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสมีอำนาจในการบริหารและจัดการวัดตามมาตรา 31,37และ 38 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2511 ว่าด้วยการดูแล จัดการศาสนสมบัติของวัด และกำหนดวิธีการปฏิบัติให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และตามกฎกระทรวงศึกษาธิการฉบับนี้ ไม่ได้ให้อำนาจแก่หน่วยงานในการตรวจสอบศาสนสมบัติของวัด ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของวัดแต่ละวัดจะจัดการเองได้
ฉะนั้น ทรัพย์สินที่ได้จากความศรัทธา ที่นำมาบริจาคให้วัดจึงไม่มีหน่วยงานใดสามารถเข้าไปตรวจสอบได้
อย่างไรก็ตาม กรมการศาสนา กำลังดำเนินการแก้ไข พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 และดำเนินการออกพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งดำเนินการออกกฎมหาเถรสมาคม ให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของวัดได้ต่อไป
--------------
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อเท็จจริงต่อกรณีวัดพระธรรมกาย ที่มีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 เม.ย.43 ที่ผ่านมา
ปัจจุบัน เวลาผ่านไป 16 ปี ล่าสุด ณ ปี 2558 สังคมไทยกลับมาให้ความสนใจและตั้งคำถามกรณีวัดพระธรรมกายกันอีกครั้ง
ขณะที่คำถามส่วนใหญ่ ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในประเด็นเดิม เหมือนที่ นายนิยม เคยตั้งคำถามไว้ต่อสภาฯ
แต่เรื่องที่ชัดเจนและมีผลในทางปฏิบัติไปแล้ว ก็คือ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ชื่อเดิมหลวงพ่อธมมชโย ปัจจุบันคือพระเทพญาณมหามุนี) ไม่ปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุ ตามมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 58 ที่ผ่านมา
แม้จะมีพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลงวันที่ 26 เมษายน 2542 เนื่องจากได้มีการคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้กับวัดไปแล้ว
ชี้ให้เห็นถึงพลังอำนาจ และความแข็งแกร่ง ของ "วัดพระธรรมกาย-พระราชภาวนาวิสุทธิ์" ที่เปรียบเสมือน "ต้นไม้" ที่นับวันจะ "เติบโต" "ยิ่งใหญ่"
และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี กี่ยุค กี่สมัย ก็ไม่มีวันที่จะถูก "โค่นล้ม" ลงได้?
#เชิญชวนติดตามข่าวสารสำนักข่าวอิศรา ได้ด้วยการกด "Like" ที่ แฟนเพจ "I love isranews"
อ่านประกอบ :
โชว์เช็ค 11 ใบพันล.! “ศุภชัย”เซ็นจ่ายถึง“ธมมชโย-ธรรมกาย-เครือข่าย”
บ้าน2หลัง"ศุภชัย"ก่อนเซ็นจ่ายเช็ค 4 ใบ ให้"ธมมชโย-ธรรมกาย" 316ล้าน
บ.อดีตพระธรรมกาย ก่อน ปปง.เจาะตู้เซฟ ทำธุรกิจเกษตร มีเงินให้กู้ 5.1 พันล.
เจาะคำสั่งอายัดทรัพย์ "ศุภชัย-พวก" 4.4พันล. เหลือ "ธรรมกาย" ตามคืนไม่ได้