พลิกปูมชีวิต “สมศักดิ์ เจียมฯ” ก่อน "อยู่" และ "จากลา" ในรั้วธรรมศาสตร์
"..หลังการยึดอำนาจรัฐประหาร เมื่อวันที่ 27 พ.ค.58 “สมศักดิ์ เจียมฯ” ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกให้เข้ารายงานตัวเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 และวันที่ 14 มิถุนายน 2557 แต่นายสมศักดิ์ ไม่ได้ไปพบแต่อย่างใด รวมไปถึงไม่ได้ไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเฟซบุ๊กก็ถูกปิดไปชั่วคราวนับแต่นั้น.."
ชื่อของ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” กลับมาเป็นที่จับตาของคนในสังคมอีกครั้ง!
ภายหลังถูกนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เซ็นคำสั่ง “ไล่ออกจากราชการ” จากการเป็นอาจารย์สังกัดภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ฐานทำผิดวินัยร้ายแรง เนื่องจากลาไปปฏิบัติงานในประเทศ ทั้งที่ไม่ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัย
(อ่านประกอบ : อธิการฯ ธรรมศาสตร์ ยันลงนามคำสั่งไล่ "สมศักดิ์ เจียมฯ" ออกจากราชการ )
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พลิกปูมเหตุการณ์ที่น่าสนใจในช่วงชีวิตของ “สมศักดิ์ เจียมฯ” มานำเสนอชัด ๆ ดังนี้
“สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” หรือที่หลายคนเรียกว่า “สมศักดิ์ เจียมฯ” มีชื่อเสียงในด้านการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและระบบการปกครอง มักเขียนบทความเกี่ยวกับแวดวงการเมืองและสถาบันฯหลายครั้ง รวมไปถึงข้อเสนอแนวคิดปฏิรูป “สถาบันฯ” ซึ่งส่งผลถูกบางฝ่ายตอบโต้อย่างรุนแรง
"เขา" เกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2501 จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (ส.ก. รุ่น 90) ต่อมาจบการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยโมแนช ประเทศออสเตรเลีย
"เขา" มีความสนใจกิจกรรมทางการเมือง มาตั้งแต่สมัยเป็นประธานนักเรียน โดยครั้งสมัยเรียนอยู่สวนกุหลาบฯ เป็นหนึ่งในผู้จัดทำหนังสือรุ่นชื่อ "ศึก" แจกจ่ายในงานประจำปีของโรงเรียน "วันสมานมิตร" ประจำปี พ.ศ. 2517
ซึ่งเนื้อหาภายในหนังสือเล่มดังกล่าว มีการวิพากษ์วิจารณ์การศึกษา และแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาระบบใหม่ที่มีเนื้อหาค่อนข้างรุนแรง และไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนนักเรียนส่วนมาก ทำให้เกิด “ศึกสวนกุหลาบ” ขึ้น โดยนักเรียนกลุ่มหนึ่งได้นำหนังสือ "ศึก" มาเผากลางสนามฟุตบอล และวันต่อมาเริ่มมีการติดโปสเตอร์ไปทั่วบริเวณโรงเรียน เพื่อประณามผู้จัดทำหนังสือ
จนทำให้ต้องเรียกประชุมนักเรียนทั้งโรงเรียนเพื่อแสดงมติ แต่ก็เกิดความขัดแย้งขึ้น ทำให้เกิดเหตุตะลุมบอนกันอย่างหนักในที่สุด
หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่รั้ว “แดง-เหลือง” ม.ธรรมศาสตร์ ในช่วงปี 2519ได้เป็นแกนนำการปราศรัย ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บนเวทีท้องสนามหลวง ก่อนจะย้ายเวทีเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ต่อมาเมื่อเกิดการล้อมปราบปรามนักศึกษาประชาชน “หัวก้าวหน้า” นายสมศักดิ์ถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมขณะหลบอยู่ภายในกุฏิพระสงฆ์ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ อีกหลายสิบคน ซึ่งในภายหลังได้รับการนิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2521
หลังจากนั้นนายสมศักดิ์ ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชา ประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองการปกครองรวมไปถึงสถาบันฯไว้เป็นจำนวนมาก
โดยหนังสือที่ถือเป็น “มาสเตอร์พีช” ของเขาคือ “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง”
นอกจากนี้ยังเขียนบทความอีกมากมาย อาทิ สมัคร สนุทรเวช กับถนนปรีดี, ร.7 สละราชย์ ราชสำนัก, การแอนตี้คอมมิวนิสม์ และ 14 ตุลา, เหมาเจ๋อตุง กับขบวนการนักศึกษาไทย,เพลงพระราชนิพนธ์การเมือง กับการเมืองปี 2518-2519,ใครเป็นใครในกรณี 6 ตุลา เป็นต้น
หลังการยึดอำนาจรัฐประหาร เมื่อวันที่ 27 พ.ค.58 “สมศักดิ์ เจียมฯ” ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกให้เข้ารายงานตัวเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 และวันที่ 14 มิถุนายน 2557 แต่นายสมศักดิ์ ไม่ได้ไปพบแต่อย่างใด รวมไปถึงไม่ได้ไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเฟซบุ๊กก็ถูกปิดไปชั่วคราวนับแต่นั้น
ก่อนที่จะกลับมาเปิดเฟซบุ๊กอีกครั้งในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2557 พร้อมโพสต์ข้อความ และคลิปวีดีโอเปิดใจครั้งแรก หลังจากหายไป 6 เดือน และยืนยันว่าไม่ได้อยู่ประเทศไทยแล้ว
ล่าสุดภายหลังคำสั่งไล่ออกจากการเป็นอาจารย์ "ธรรมศาสตร์" ถูกนำมาเผยแพร่ต่อในโลกออนไลน์
นายสมศักดิ์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ในช่วงเช้าวันที่ 25 ก.พ. 58 แสดงความเห็นว่า
"ผมรักธรรมศาสตร์มาก แต่ผมเป็นคนประเภทที่ ในเรื่องความรัก ไม่ว่าต่อคน หรือสถานที่ หรืออะไรตาม ผมไม่ชอบพูด ไม่ชอบป่าวประกาศฟูมฟาย
ผมรักทีนี่ ไมใช่เพราะที่นี่เป็นไปตามคำขวัญที่รู้จักกันดี ("ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉัน...") แม้ว่า ถ้าพูดในแง่ส่วนตัว ผมเริ่มรู้จัก "ประชาชน" รู้จัก "ประชาธิปไตย" รู้จัก "เสรีภาพ" "ความเป็นธรรม" ที่ธรรมศาสตร์จริงๆ"
"ผมจึงชอบที่นี่ รักที่นี่ และเสียดายที่ไม่ได้อยู่จนครบเกษียณอายุ"
ส่วนเรื่องการถูกไล่ออก นายสมศักดิ์ ระบุว่า "ผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่ก็คิดๆว่า ถ้าอย่างมากสุด ให้ลาออก หรือให้ออก ก็ยังดี เพราะจะได้ไม่มีปัญหาเรืองบำเหน็จ เพราะผมก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เงินสะสมก็ไม่ได้มากมาย ทีสำคัญก็เห็นว่า ในเมื่อผมทำงานมากว่า 20 ปี อย่างน้อยถ้าบอกว่า ต้องลงโทษที่ตอนนี้ไปทำงานไม่ได้ ก็เป็นเรื่อง "ความผิด" ที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่ควรกระทบไปถึงบำเหน็จที่เป็นการตอบแทนการทำงานสะสมที่ผ่านมา"
"พอออกมาว่า เป็นการ "ไล่ออก" ก็ได้แต่ยักไหล่ หัวเราะ เหอๆ กับตัวเองแหละ"
ก่อนปิดฉากชีวิตอาจารย์ธรรมศาสตร์ ทั้งที่มีความผูกพันกับ “สมศักดิ์ เจียมฯ” ตั้งแต่เข้ามาอยู่ ในฐานะ "นักศึกษา" และ จากลา ในฐานะ "อาจารย์" !
(อ่านประกอบ : สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: "ผมรักธรรมศาสตร์มาก")
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google