ก.ทรัพยากรฯ ดันตั้งศูนย์วันสต๊อปเซอร์วิส หวัง ปชช.เข้าถึงข้อมูลสิ่งแวดล้อม
ก.ทรัพยากรฯ ดันยุทธศาสตร์ฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อม ‘วันสต๊อปเซอร์วิส’ เตรียมสร้างแอปพลิเคชัน หวังเป็นช่องทาง ปชช.เข้าถึง นักวิชาการ มหิดล แนะกระจายข้อมูลสู่ชุมชน-รัฐบาลเร่งเเก้พื้นที่วิกฤตทันการณ์
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนา ‘สารสนเทศก้าวไกล สิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า’ โดยมีนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธาน
นายสุพจน์ กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรฯ มีแนวคิดจะทำอย่างไรให้ข้อมูลจำนวนมากเข้าถึงการรับรู้ของประชาชนและผู้บริหารประเทศนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นการเข้าถึงข้อมูลแบบศูนย์บริการหนึ่งเดียว (วันสต๊อปเซอร์วิส) จึงเกิดขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องจัดการดูแลข้อมูลดังกล่าวให้ทันสมัยเสมอ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น จะต้องมีหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลได้ 100%
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ฟรีผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงทรัพยากรฯ และในอนาคตจะพัฒนาแอปพลิเคชันรองรับเทคโนโลยีสื่อสารในปัจจุบัน เพื่อสามารถให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของทรัพยากรในแต่ละวันได้ อาทิ กรณีการบุกรุกทำลายป่า กรณีน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งจะช่วยป้องกันการของบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์ เพราะข้อมูลดังกล่าวจะช่วยตรวจสอบความจำเป็นในพื้นที่ ส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส และประชาชนติดตามได้ตลอดเวลา
ด้านนางรำพึง สิมกิ่ง ผอ.สำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือ GISTDA กล่าวว่า การจัดทำข้อมูลทางดาวเทียมของ GISTDA ซึ่งเราพยายามให้เกิดการนำไปใช้งานได้ง่าย แต่การจะยืนยันข้อมูลนั้น จำเป็นต้องตรวจสอบในระดับพื้นที่ ดังนั้น เห็นด้วยที่จะแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากดาวเทียมต้องมาจากหน่วยงานกลาง ซึ่งเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้
“GISTDA ต้องการให้ข้อมูลถูกนำไปใช้มากที่สุด เพราะการมีข้อมูลจำนวนมาก แล้วไม่ได้ถูกนำไปใช้ ถือเป็นความทุกข์ ฉะนั้นประชาชนจะขอใช้ก็ยินดี” ผอ.สำนักประยุกต์ฯ สทอภ. กล่าว และว่า เราพร้อมให้ข้อมูล แต่การนำไปสู่เครือข่ายระดับพื้นที่จะมีวิธีการบูรณาการเชื่อมโยงอย่างไร หลายเรื่องยาก ทั้งนี้ หากปรับขั้นตอนการเข้าถึงให้สะดวก เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์
ขณะที่รศ.ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาว่า เป็นหน่วยงานที่มีโอกาสนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ในลำดับต้น ยกตัวอย่าง การดาวน์โหลดข้อมูลฟรีจากดาวเทียมแลนด์แซท (LANDSAT) ที่ใช้เป็นข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ทราบ ดังนั้น จึงพยายามถ่ายทอดความรู้และวิธีการในการเข้าถึงทุกครั้งที่ลงพื้นที่ชุมชน
สำหรับดาวเทียมไทยโชต (THEOS) นักวิชาการ ม.มหิดล กล่าวว่า ขอใช้บริการได้ฟรี แต่ติดข้อจำกัดยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ และหากยกตัวอย่าง การสำรวจพื้นที่ป่าไม้ สามารถใช้ข้อมูลจากดาวเทียมแลนด์แซทเลย ซึ่งติดตามได้ทุก 16-17 วัน
“ไทยประสบปัญหาไม่มีฐานข้อมูลดาวเทียมส่วนกลาง ทำให้ข้อมูลเกิดความผันแปร ตัวเลขกลม ๆ จึงกลิ้งไปกลิ้งมา เกิดความคลาดเคลื่อนในการประเมิน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรฯ กำลังหามาตรฐานการจำแนกอยู่ ไม่อย่างนั้นข้อมูลที่ได้รับจะไม่ตรงกัน” รศ.ดร.สุระ กล่าว และว่ากรมป่าไม้สำรวจพื้นที่ได้ข้อมูลชุดหนึ่ง กรมพัฒนาที่ดินสำรวจพื้นที่ได้ข้อมูลชุดหนึ่ง จึงต้องเชื่อมโยงข้อมูลทุกหน่วยงานเข้าด้วยกันแบบวันสต๊อปเซอร์วิส เพื่อชี้ให้เห็นสถานการณ์ปัจจุบัน
นักวิชาการ ม.มหิดล กล่าวถึงสิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ การถ่ายทอดข้อมูลจากส่วนกลางไปสู่ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งที่ผ่านมา ชุมชนบางแห่งยังไม่รู้ว่า ท้องถิ่นของตัวเองมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพราะส่วนใหญ่รวบรวมไว้ที่ส่วนกลางเท่านั้น พร้อมกันนี้ เสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่วิกฤตเป็นลำดับต้น เพื่อจะได้แก้ไขทันเหตุการณ์
ด้านนายอนุกูล วงศ์ใหญ่ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงมีนโยบายให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) เป็นตัวแทนเข้าไปในพื้นที่ เพื่อจัดการฐานข้อมูลและผลักดันให้เกิด Data Center ด้านทรัพยากรของประเทศให้ได้ อีกทั้ง ยังมุ่งเน้นให้ภาคชุมชนเข้าถึงข้อมูล บริหารจัดการได้ ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติที่ให้ความสำคัญ เพียงแต่ที่ผ่านมา ไทยมีการรวมศูนย์อำนาจมาตลอด ฉะนั้นการจะพลิกให้เกิดการทำงานโดยอาศัยชุมชนจึงเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม หากชุมชนเข้าถึงข้อมูลถูกต้องก็สามารถนำไปวางแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เองได้ .