แก้ปัญหาพัฒนาการเด็กด้วยคู่มือ“DSPM” ตั้งเป้า 3 ปี พัฒนาการสมวัย 85%
คิกออฟโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กถวายสมเด็จพระเทพฯ ตั้งเป้า3ปี เด็กไทยมีพัฒนาการสมวัย85% ชี้ คู่มือ DSPM และ DAIM ช่วยส่งเสริมผู้ปกครองให้ทำงานง่ายกว่าเดิม
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมเรื่อง การใช้เครื่องมือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM)และเครื่องมือประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยง(DAIM) ภายใต้โครงการพัฒนาเครื่องมือในการคัดกรองและประเมินความผิดปกติของพัฒนาการสำหรับเด็กปฐมวัย (0-5 ปี) จากการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. ณ ห้องประชุมเชียงแสน ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ (คุ้มขันโตก) จ.เชียงใหม่
นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “พัฒนาการเด็กไทยสำรวจเมื่อไรก็ช้า เหมือนกับ IQ เด็กไทย สำรวจเมื่อไรก็ลดลง” ไม่ถึงมาตรฐานสักทีเพราะที่ผ่านมาเด็กไทยมีแต่ตัวเลขการสำรวจที่เป็นปัญหา แต่ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2553 กรมอนามัยสำรวจเด็กไทยอายุ 3-5 ปี พบเด็กไทยมีพัฒนาการต่ำกว่ามาตรฐาน 30% ปี 2554 กรมสุขภาพจิตสำรวจเด็กอายุ 6-14 ปี พบ IQ 98.5 ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่100 EQ45 ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 50-100 และปี 2556 กระทรวงศึกษาธิการ พบเด็ก ป.4-6 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คิดไม่เป็น ถึง 10-15 % ฉะนั้น คงปล่อยเวลาผ่านไปไม่ได้อีกแล้ว
นพ.วัลลภ กล่าวด้วยว่า จากสาเหตุดังกล่าวจึงจำเป็นต้องบูรณากาการรทำงานร่วมกันทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เกิดการทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือตัวเด็ก โดยใช้เครื่องมือ DSPM ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการทำงาน เนื่องจากได้นำข้อดีของอนามัย 55 และทีดีเอสไอ (TDSI) พัฒนาเป็นคู่มือ DSPM และพัฒนาไปสู่เครื่องมือประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยง (DAIM) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีจุดเด่นคือความง่ายของเครื่องมือ เพื่อให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และประชาชนที่สนใจ สามารถเข้ามามีส่วนร่วม สังเกตและเฝ้าระวังลูกหลานของตนเอง
“การนำอนามัย 55 และทีดีเอสไอ (TDSI) มาพัฒนาอย่างเป็นระบบชัดเจนตามหลักวิชาการ ได้วิเคราะห์และผ่านการทดลองอย่างรอบคอบทำให้พ่อแม่จะรู้ทันทีว่าต้องทำอย่างไร เมื่อพบลูกพัฒนาการผิดปกติ หรือเด็กที่มีความเสี่ยงสูงมาก”
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับเด็กที่คลอดปกติแต่มีพัฒนาการล่าช้าภายหลัง อันเกิดจากการเลี้ยงดู เช่น เด็กที่อยู่กับปู่ย่าตายาย จำเป็นต้องมีตัวช่วยที่ง่ายแต่มีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ใช้เป็นใครก็ได้ที่มีความสนใจ เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง อสม. ชาวบ้าน สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงที่สามารถประเมินความผิดปกติได้อย่างรวดเร็วก็ตั้งใจให้ง่ายกับผู้ปกครอง ง่ายต่อการนำไปใช้ เพราะไม่ใช่การดูว่าผิดปกติหรือไม่ แต่เป็นการส่งเสริมว่าถ้าผิดปกติจะทำอย่างไร ขณะนี้พ่อแม่ผู้ปกครองแทบไม่มีโอกาสด้วยซ้ำ กลายเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเด็กก็เลยขาดโอกาส ฉะนั้น จุดเด่นของเครื่องมือคือง่าย เพียงแค่อ่านหนังสือออก เพราะความตั้งใจของพ่อแม่ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าต้องการทำให้ลูกดีขึ้น ดังนั้น ถ้ารัฐบาลต้องการคนไทยที่มีคุณลักษณะตรงตามค่านิยม 12 ประการ รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกับเด็กช่วงวัย 0-3 ปีที่มีความสำคัญที่สุด ฉะนั้น ใครที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง คือ ไม่อยากทำให้เด็กไทยดีขึ้นนั่นเอง
ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการบรรยายเรื่อง “นโยบายการบูรณาการงานพัฒนาการเด็ก ว่า การส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญ แต่การนำสู่การปฏิบัติยังพบปัญหาใน2 ประเด็นใหญ่ คือ
1) การยอมรับนวัตกรรม เครื่องมือและวิธีการใหม่ แม้จะผ่านการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ดี แต่อะไรที่เป็นของใหม่ การนำไปสู่การยอมรับจึงไม่ง่ายนัก เพราะคนที่นิยมชมชอบของเก่าก็ห่วงว่าจะมาล้มเลิกหรือลบคุณค่าเครื่องมือเก่าหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ ดังนั้น การยอมรับนวัตกรรมใหม่น่าจะยอมรับกันได้
2) การขับเคลื่อนบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อสังคมไทยที่ดีขึ้น เนื่องจากพัฒนาการเด็กเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่ระบบสุขภาพอย่างเดียว เพราะจากข้อมูล เด็กไทยเกิดมาพัฒนาการปกติ กว่าร้อยละ 90 แต่ผ่านไป 1-3 ปี พบพัฒนาการล่าช้ากว่าเกณฑ์ เมื่อเด็กพ้น 3 ขวบไปแล้วก็จะไปสู่ท้องถิ่น อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รร.อนุบาล จึงเป็นเรื่องต้องเกาะติดกัดไม่ปล่อย เพราะกว่าจะเห็นผลก็ต่อเมื่อเด็กไทยโตแล้ว
นพ.วชิระ กล่าวด้วยว่า นี่จึงเป็นความยากลำบากเนื่องจากต้อง ใช้ระยะเวลายาวนาน แต่ต้องทำและทำให้ดีที่สุด โดยจะต้องเตรียมงบประมาณ บุคลากร ครู เจ้าหน้าที่ให้เกิดความเข้าใจ พร้อมทั้งเตรียมที่จะเสนอโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ เป็นการkick off โครงการถวายพระองค์ท่าน ดังที่สมเด็จพระเทพทรงตรัสว่า“ชีวิตหลังจากนี้ ฉันจะทำเพื่อลูกหลานไทย ให้ลูกหลานไทยเป็นคนไทยที่มีความสมบูรณทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา พร้อมดูแลประเทศไทยต่อไป”
“ดังนั้น ประเด็นปัญหาเรื่องเครื่องมือคงต้องก้าวข้าม คู่มือ DSPM และ DAIMฉบับให้พ่อแม่ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเฝ้าระวังและส่งเสริม เป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าอย่างมากทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งทุกคนตระหนักเรียนรู้ร่วมกันที่จะดูแลพัฒนาการเด็กให้สมวัย แรกๆ อาจจะดูเป็นภาระแต่เมื่อทำไปสักระยะจะเกิดความสนุก ความสุข เพื่อเตรียมพร้อมและเสริมสร้างศักยภาพเด็กในทุกๆ ด้าน”