‘เมืองเดินได้ เมืองเดินดี’ ก้าวแรกเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เดินได้จริง
คนกรุงเทพฯ ไม่เดินจริงหรือ ?
เพื่อให้ได้คำตอบ ของคำถามข้างต้น ศูนย์ออกแบบพัฒนาเมือง หรือ Uddc ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยผลสำรวจที่ชี้ให้เห็นว่า คนกรุงเทพก็เดิน ไม่ได้ไม่เดินอย่างที่เราเข้าใจกัน
โดยระยะทางเฉลี่ยที่คนกรุงเทพฯ พร้อมที่จะเดินเท้าไปยังสถานที่ต่างๆ อยู่ที่ประมาณ 10 นาที หรือราว 800 เมตร
ตัวเลขดังกล่าว นับเป็นโอกาสดีในการพัฒนาพื้นที่ให้เอื้อต่อการเดินเท้ามากขึ้น แม้ว่า กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่ที่มีศักยภาพการเข้าถึงด้วยการเดินได้ดี เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก คิดเป็น 175 ตร.กม. หรือแค่ 11% ของพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น
“เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” โครงการที่ศูนย์ออกแบบพัฒนาเมืองกำลังขับเคลื่อนอยู่ขณะนี้ จุดมุ่งหมายหลักๆ คือการส่งเสริมการเดินในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นก้าวแรกของการพัฒนากรุงเทพ สู่เมืองเดินได้
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ในวันเปิดตัวโครงการนี้ ได้หยิบยกงานวิจัยของ สสส. ที่ระบุว่า ปัจจุบันคนไทยมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปมาก ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยแอคทีฟ ไม่ค่อยเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวไม่มากพอ และด้วยเหตุนี้เองทำให้คนกรุงเทพมีสุขภาพไม่ค่อยดี
บวกกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) เอื้ออย่างยิ่งต่อการเจ็บป่วย ข้อมูลทางสาธารณสุขพบว่า คนไทย 70% ป่วยและตายด้วยโรค ไลฟ์สไตล์ล้วนๆ ทั้ง เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และอีกมากมาย เพราะมี 2 พฤติกรรม คือ 1.ไม่เอคทีฟพอ ไม่กระฉับกระเฉงพอ 2. เรื่องอาหารการกิน ทั้งความหวาน เค็ม อาหารกว่า 90% กินแล้วสุขภาพไม่ดี
อย่างประเทศญี่ปุ่นมีการรณรงค์ให้คนของเขาเดินวันละ 1 หมื่นก้าวต่อวัน เท่ากับออกกำลังกาย ประเทศไทยขับรถมาทำงาน อย่างมากได้เดินแค่วันละไม่เกิน 3,000-4,000 ก้าว ทพ.กฤษดา เห็นว่า ยังไม่มากพอ และแม้จะบอกว่า มีกิจกรรมอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะขึ้นรถเมล์ ไปกินข้าว แต่รู้หรือไม่กิจกรรมเหล่านี้ ก็ไม่เท่ากับการออกกำลังกาย ฉะนั้นการจะเปลี่ยนพฤติกรรมต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ซึ่งการเดินก็เป็นวิธีที่ถือว่า ง่ายที่สุด
ผู้จัดการ สสส. เห็นว่า เมืองเดินได้ เมืองเดินดี จำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของคน สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อ จากที่ต้องขับไปทำงานต้องทนรถติดเป็นชั่วโมง มาเป็นการเดินแทน และต้องเป็นการเดินจริง ไม่ใช่เดินเพราะความจำเป็นอีกต่อไป
สอดคล้องกับผลการสำรวจของ Uddc ที่พบสภาพแวดล้อมมีส่วนช่วยส่งเสริมการเดินเท้าในกรุงเทพฯ เช่น ตั้งแต่มีรถไฟฟ้าบีทีเอส ผู้เปลี่ยนมาใช้บีทีเอสในการเดินทางเพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือประมาณ 500 เมตร
สำหรับสถานะโครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลเชิงลึก ก่อนเฟ้นหาพื้นที่นำร่อง จากนั้นจะปรับปรุงให้เป็นพื้นที่ย่านตัวอย่างเพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองเดินได้ให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ข้อมูลการคำนวณคะแนนเดินได้ Goodwalk Score จากเว็บไซต์ GoogWalk.org พบมี 5 ย่านเดินดีในอนาคตของกรุงเทพฯ ที่มีคะแนนค่าการเดินได้สูงสุด ลำดับหนึ่ง ได้แก่ ย่านสยาม-ปทุมวัน รองลงมา ย่านราชประสงค์-ประตูน้ำ, ย่านสีลม-สาธร,ย่านอโศก-เพชรบุรี และย่านพร้อมพงษ์ ตามลำดับ
เมืองเดินได้ เมืองที่ผู้คนสามารถเข้าถึงจุดหมายต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยการเดิน ทั้งการเดินไปทำงาน เดินไปขึ้นรถต่อบีทีเอส ไปสถานศึกษา เดินไปศูนย์การค้า ด้านดร.คณิสร์ แสงโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมุมมองด้านเศรษฐกิจในเรื่องการเดิน ว่า สถานที่ที่สามารถเดินได้ เดินดี มีความสำคัญกับมูลค่าเชิงในด้านเศรษฐกิจ เช่น ค่าเช่าที่เช่าได้มากขึ้น ราคาบ้านที่ขายได้สูงขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น
แต่ท้ายสุดแล้ว เราจำเป็นต้องมีการวางแผน วางนโยบายร่วมกันเจาะลึกลงไปว่าประเภทของคนที่เดินเข้ามานั้น เป็นประเภทที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ได้หรือไม่
“แน่นอนเดินดี เดินแล้วรวยมีจริง แต่จะเป็นกลุ่มไหน เช่น ระบบทางรางอาจจะเป็นระบบขนส่งที่รวดเร็วทันใจ แต่มีข้อจำกัดเรื่องตารางการเดินรถ ถ้าเราเดินขึ้นรถไฟฟ้าคันนี้ไม่ได้ อีกสักพักคันอื่นก็มา ทำให้ไมมีแรงจูงใจให้เดินชมสิ่งต่างๆ เพราะถ้าไม่รีบเดินขึ้นก็ไม่ได้ขึ้นรถไฟฟ้า
ขณะที่สถานีหัวลำโพง ทำไมถึงขายสินค้าได้ดีกว่าสถานีอื่นๆ เพราะรถออกตามเวลาผู้คนมีเวลาเดินชมสินค้า จับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ฉะนั้นถ้าให้การเดินเกิดขึ้นก็ต้องวางแผนระบบรางให้ดีกว่านี้ ทั้งระบบรางที่ใช้อยู่ในเมืองและนอกเมือง”
ขณะที่ "โตมร ศุขปรีชา" บรรณาธิการบริหารของนิตยสาร GM และคอลัมนิสต์ชื่อดัง ให้ความเห็นถึงค่าเฉลี่ยการเดินของคนไทย 800 เมตรว่า รู้สึกดีใจ เพราะคนไทยเดินมากกว่าหลายๆประเทศเลย แต่แว๊บต่อมา แปลกใจ และแว๊บต่อ ตั้งคำถามว่า ที่คนเดินนั้นเดินเพราะอะไร เพราะเราเลือกที่จะเดินหรือเราเลือกไม่ได้ที่จะเดิน ก็เลยต้องเดินออกมาตามตรอก ซอกซอยเพื่อออกมาหาระบบขนส่งมวลชนข้างนอก จึงทำให้เราเดินมากขึ้นหรือเปล่า
เมืองที่มีคนเดินมาก เมืองนั้นคนก็มีสุขภาพดีมากหรือมีสุขภาวะที่ดี และการสร้างเมืองให้คนออกมาเดินมากๆ ก็เป็นศิลปะ แต่การเดินของคนกรุงเทพฯ เป็นเดินแบบมีความสุข หรือต้องทนทุกข์ที่จะต้องเดิน ?
“ผมไม่แน่ ตัวเลข 800 เมตรนั้น เป็นเพราะคนไทยอยากเดิน หรือเดินแบบดัดจริต เพราะจำเป็นต้องเดิน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นผมว่า คนไทยไม่มีวัฒนธรรมในการเดิน” โตมร ให้มุมมอง และยังมองลึกถึงวัฒนธรรม กับเรื่องของชนชั้น สังคมไทยให้ความสำคัญกับชนชั้นค่อนข้างมาก ฉะนั้นจงอย่าแปลกที่วัฒนธรรมรถยนต์จะแข็งแรงมากกว่าการเดิน เพราะวัฒนธรรมรถยนต์สอดรับกับชนชั้นของคนไทย คนที่นั่งในรถยนต์รวยกว่า มีฐานะดีกว่าคนที่ต้องเดินบนถนน
ไม่เว้นแม้แต่สะพานลอย เขาเห็นว่า เป็นสิ่งบ่งบอกว่า วัฒนธรรมรถยนต์เหนือกว่าการเดิน สะพานลอยที่สูงชันบังคับให้คนต้องปืนบันไดขึ้นไปเพื่อให้รถยนต์สัญจรได้สะดวก สวนทางการพัฒนา สวนทางกับมุมมองใหม่ของโลกที่การออกแบบพัฒนาเมืองต้องนับรวมคนทุกคนให้สามารถใช้เหล่านั้นได้
“หลายเรื่องสะท้อนได้อีกว่า สังคมไทยมองคนยังไง มองคนแก่ เด็ก หรือผู้พิการยังไง อาจจะมองว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ทรัพยากรที่สำคัญอีกต่อแล้วหรือ” คอลัมนิสต์ชื่อดัง ฝากให้คิด พร้อมกับเชื่อว่า วัฒนธรรมถึงแม้จะไม่ใช่วัฒนธรรมของไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะสร้างขึ้นไม่ได้ คนไทยอยู่สังคมตลาดหรือสังคมบริโภคสูงมาก อย่าบอกว่าคนไทยเดินน้อย เพราะเวลาเดินเที่ยวเดินได้เป็น 1- 2 ชั่วโมง
อีกทั้งหาบเร่ แผงลอย ผลสำรวจของ Uddc ก็พบว่า ไม่ได้เป็นต้นตอของปัญหาการเดินเท้า อย่างที่เข้าใจกัน การไม่มีร้านค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอยู่ระหว่างทางต่างหาก เป็นปัจจัยที่คนส่วนใหญ่คำนึงถึง
ฉะนั้นบริบทเมืองไทยสภาพแวดล้อมของการเดิน จึงเป็นประเด็นย้อนแย้งกันในเชิงพฤติกรรม ที่ผู้คนที่สัญจรด้วยการเดินเท้าต่างเห็นความสำคัญของร้านค้า หาบเร่ แผงลอย
“ปัทมา พรหมจันทร์” นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง อายุ 22 ปี เป็นอีกผู้หนึ่งที่ยอมรับว่า เธอจำเป็นต้องเดิน โดยเฉพาะการเดินไปต่อรถโดยสารประจำทาง เพื่อไปทำงานให้ทันในช่วงเวลาจราจรในกรุงเทพติดขัด
“วันๆ หนึ่งนอกจากเดินมาทำงานแล้ว ก็เดินกลับบ้างเป็นบางครั้ง ระยะทางรวมกันประมาณ 1 กิโลเมตร ถึงแม้ไม่ได้ออกกำลังกายแบบจริงจัง แต่การเดินก็ทำให้ได้เหงื่อ เหนื่อยขึ้นเยอะ โดยเฉพาะการเดินขึ้นสะพานลอย สูงชัน เหมือนได้ออกกำลังกายไปในตัว”
เช่นเดียวกับ น.ส.กฤตจิต พันธุ์นิธิ อายุ 25 ปี นักสัตวแพทย์ โรงพยาบาลขวัญคำ แถวถนนวัชรพล เธอเดินเพราะความจำเป็น ใช้การเดินเป็นบางช่วง บางเวลา และเดินไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่เดินไปขึ้นรถโดยสารประจำทาง แล้วต่อมอเตอร์ไซด์รับจ้างไปทำงานเลย
ขณะที่ปัญหากีดขวางทางเท้า อย่างหาบเร่ แผงลอย หรือร้านค้าข้างทาง เธอบอกว่า ไม่ได้มีผลกระทบต่อการเดินองเธอเท่าไหร่นัก
เมื่อถามถึงความคิดเห็นหากกรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองเดินได้ เดินดี หรือมีพื้นที่ตัวอย่างเกิดขึ้น เธอบอกว่า อยากให้เมืองดีขึ้น จะได้เดินทางสะดวก แต่ก็ยังไม่รู้ว่ารูปแบบจะออกมาเป็นอย่างไร
ด้านนายมณฑล แก่นจันทร์ อายุ 21 ปี นักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมสาสตร์ เอกศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาบูรพาวิทยาเขตบางแสน ซึ่งใช้ชีวิตประจำวันเดินไปเรียนระยะทางประมาณ 500 เมตร ถึง 1 กิโลเมตร ให้เหตุผลที่ชอบการเดิน เพราะสะดวกไม่ลำบาก และช่วยประหยัดค่ารถด้วย
ในส่วนของร้านค้าข้างทาง เขามองว่า เป็นเรื่องของสิทธิที่แม่ค้าจะขายของ แต่ก็ต้องเคารพสิทธิของผู้ที่ใช้ทางเดินเท้า ฉะนั้นการจัดระเบียบอยู่ร่วมกันได้ทั้งแม่ค้า คนเดินเท้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ