นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด….ฝันร้ายหรือฝันหวานของใคร ?
โดยไม่จำกัดทั้งจำนวนและวงเงิน เพื่อให้ชาวนาทั่วประเทศ 3.7 ล้านครัวเรือน พึงพอใจ การที่รัฐบาลได้ตั้งโจทย์ที่ใหญ่และยากที่สุด นับเป็นประวัติศาสตร์ของข้าวประเทศไทยนั้น จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องติดตามดูด้วยใจระทึกว่ารัฐบาลจะเดินไปอย่างสง่างามหรือทุลักทุเลและภายใต้นโยบายนี้ ใครจะได้และใครจะเสีย อย่างไร
โดยความเป็นจริง มาตรการหรือวิธีการของการจำนำพืชผลทางการเกษตรเป็นแนวคิดเศรษฐศาสตร์การตลาดที่ว่าด้วยอุปสงค์และอุปทาน เพราะมักจะพบปัญหาว่าในต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผลผลิตทางการเกษตรจะมีปริมาณมากกว่าความต้องการของตลาดในช่วงเวลานั้น เป็นผลให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรเดือดร้อน จึงมีแนวคิดว่ารัฐควรเป็นเจ้าภาพทำหน้าที่ดึงเอาปริมาณส่วนเกินออกไปจากตลาด เพื่อให้กลไกตลาดได้ทำงานอย่างสมดุลและเกิดประสิทธิภาพ ดังนั้นความหมายที่แท้จริงของคำว่าจำนำก็คือ ในด้านปริมาณ รัฐจะรับจำนำประมาณร้อยละ 20-30 ของผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่วนในด้านราคา รัฐจะรับจำนำต่ำกว่าราคาตลาดในขณะนั้น เช่น ราคาตลาด 100 บาท ราคาจำนำจะอยู่ในระดับ 80-90 บาท ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีเงินไปใช้จ่ายก่อน เมื่อถึงช่วงเวลาที่ตลาดมีราคาสูงขึ้นค่อยมาไถ่ถอน
ดังนั้นโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลในครั้งนี้ จึงมีความหมายไม่ตรงกับการจำนำที่สากลประเทศเขาใช้กันอยู่ เสียงสะท้อนจากสื่อสารมวลชนทั่วโลกที่ทำข่าวเรื่องการเกษตร จึงตกตะลึงกับความกล้าอย่างบ้าบิ่นของรัฐบาลไทย และเรียกโครงการนี้ว่า เป็นโครงการรับซื้อข้าวของรัฐบาลไทยไม่ใช่จำนำ แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือ การที่รัฐบาลได้ตั้งราคาซื้อข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตลาด เช่น ข้าวเปลือกจ้าว ตันละ 15,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดร้อยละ 40-50 และโอกาสที่ราคาข้าวในตลาดโลกจะสูงไปกว่าราคารับจำนำจนรัฐบาลไม่ต้องซื้อข้าวจากชาวนาก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่มีปัจจัยทั้งภายในประเทศและทั่วโลกที่จะเกิดวิกฤติเหมือนปี 2551 ที่มีวิกฤติใหญ่ของโลกเกิดขึ้นพร้อมกันคือ วิกฤติพลังงานที่ราคาน้ำมันแพงถึง 134 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และวิกฤติความมั่นคงทางอาหารที่เกิดความแห้งแล้งในหลายภูมิภาคของโลกจนทำให้รัฐบาลเวียดนามและอินเดียมีมาตรการห้ามส่งออกข้าว ผู้ซื้อข้าวทั่วโลกจึงต้องมารุมซื้อข้าวจากไทย แต่เหตุการณ์ข้าวแพงที่สุดก็เกิดขึ้นในระยะสั้นๆ เพียง 5 เดือน ในรอบ 25 ปีเท่านั้น
ดังนั้นผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ซื้อข้าวทุกเมล็ดจากชาวนา ประมาณว่าข้าวนาปี 25 ล้านตัน ต้องใช้เงินจาก 7 ตุลาคม 2554 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2555 ประมาณ 345,000 ล้านบาท และข้าวนาปรังที่จะออกในช่วงเดือนมีนาคม-กันยายน 2555 อีก 9.5 ล้านตัน ซึ่งต้องใช้เงินต่อเนื่องอีกประมาณ 210,000 ล้านบาท ปัญหาต่อมาคือสถานที่เก็บข้าว การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันตั้งแต่วงจรการจำนำข้าวเปลือกไปจนถึงวงจรการระบายข้าวในโกดังของรัฐบาล
เราสามารถมองเห็นอนาคตอันใกล้ที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายจำนำข้าวในครั้งนี้ได้ว่าใครเป็นผู้ได้ประโยชน์และใครจะเป็นผู้เสียประโยชน์ ดังนี้
กลุ่มชาวนา เกือบทุกคนที่ปลูกข้าวจะดีใจและพอใจ เพราะได้รับเงินจากรัฐบาลนี้มากกว่าโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ อุปมาเหมือนประชาธิปัตย์ให้ปลา 1 ตัวกับชาวนา แต่เพื่อไทยให้ปลา 2 ตัว โดยที่ทั้งสองรัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะสอนให้ชาวนาจับปลาเลย
กลุ่มโรงสี โดยปกติทางการค้า โรงสีจะใช้เงินทุนของตนเองหรือกู้จากธนาคารพาณิชย์มาซื้อข้าวจากชาวนา และขายให้กับพ่อค้าภายในหรือผู้ส่งออก เป็นวงจรตามกลไกตลาด ซึ่งจะมีทั้งกำไรและขาดทุน แต่เมื่อรัฐบาลจะเป็นผู้ซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาและเป็นผู้ขายข้าวในโกดังแต่ผู้เดียวแล้ว การค้าปกติตามกลไกตลาดก็ต้องหยุดทำงาน เป็นการบังคับทางอ้อมให้โรงสีจำต้องเข้าร่วมโครงการ เป็นผู้รับจ้างแปรสภาพข้าวเปลือกของรัฐบาลให้เป็นข้าวสารแล้วส่งเข้าโกดังของรัฐบาล ในด้านนี้โรงสีถือว่าได้ประโยชน์เพราะมีค่าตอบแทนที่แน่นอนจากการรับจ้างรัฐบาล แต่โรงสีทั่วประเทศอีกประมาณกว่าครึ่งที่ไม่ได้เข้าโครงการไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ต้องหยุดดำเนินกิจการ เว้นแต่จะสีข้าวเพื่อขายภายในประเทศเฉพาะกรณีที่มีตลาดรับซื้อข้าวสารในราคาที่สูงเท่ากับรัฐเท่านั้น
กลุ่มโกดังและเซอร์เวเยอร์ จะเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูเพราะมีปริมาณงานเพิ่มขึ้นมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
กลุ่มธุรกิจพ่อค้าข้าว (หยง) ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนนายหน้าของโรงสีและผู้ส่งออกก็คงต้องปิดกิจการ เพราะไม่มีการซื้อขายข้าวสารระหว่างโรงสีกับพ่อค้าหรือผู้ส่งออกอีกต่อไป
กลุ่มพ่อค้าข้าวในประเทศ ธุรกิจจะตึงเครียดเพราะราคาข้าวที่ขายจะต้องสูงขึ้นกว่าปกติจนประชาชนเดือดร้อนและปริมาณการขายก็จะลดลง
กลุ่มพ่อค้าส่งออก ซึ่งเปรียบได้กับพนักงานขายข้าวให้กับประเทศ เมื่อขายข้าวของตนเองหมดแล้วก็คงต้องรับจ้างรัฐบาล โดยมีทั้งให้เช่าโกดังเก็บข้าวและรับจ้างปรับปรุงข้าวลงเรือให้กับรัฐบาล พ่อค้าส่งออกบางส่วนก็ต้องผันตัวเองไปเป็นพนักงานขายข้าวของพม่า เขมร หรือแม้แต่เวียดนาม ซึ่งราคาถูกกว่าและเป็นไปตามกลไกตลาด จนกว่ารัฐบาลจะขายข้าวในโกดังกลับมาให้ในราคาถูกที่รัฐต้องขาดทุนมากจึงจะเริ่มธุรกิจใหม่ได้
ประชาชนผู้บริโภคข้าว เป็นผู้รับเคราะห์เพราะเป็นทั้งเจ้าของเงินภาษีที่นำมาใช้กับโครงการจำนำและต้องซื้อข้าวกินในราคาที่แพงขึ้นจากปกติ
ประเทศชาติ ประการแรก ข้าวเปลือกจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว เขมร หรือแม้แต่เวียดนาม ก็จะลักลอบเข้ามาสวมสิทธิโครงการจำนำ เพราะจะได้ราคาข้าวที่สูงกว่า เท่ากับรัฐบาลต้องนำเงินภาษีของประชาชนคนไทยไปช่วยชาวนาของประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ประการที่สอง กลไกตลาดข้าวภายในประเทศก็เสียหายไม่สามารถทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพได้ เพราะรัฐบาลจะเป็นทั้งผู้ซื้อข้าวและขายข้าวรายใหญ่ที่สุดคนเดียว ส่วนตลาดต่างประเทศของข้าวไทยที่ทุกฝ่ายได้ช่วยกันสร้างจนเจริญเติบโต เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก มาตั้งแต่ปี 2519 ถึงปัจจุบัน จากปริมาณ 2 ล้านตันมาเป็น 10 ล้านตัน และมีลูกค้าทั่วโลกกว่า 110 ประเทศ ก็จะถึงยุคล่มสลาย
ประการที่สาม ยุทธศาสตร์ข้าวของชาติว่าด้วยการวิจัยพัฒนาข้าวและชาวนา เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตต้นน้ำคือชาวนาผู้ปลูกข้าว ก็จะถูกลดความสำคัญผลก็คือ คุณภาพข้าวไทยจะต่ำลง เพราะชาวนาจะปลูกข้าวอย่างไรก็ได้ รัฐบาลรับซื้อในราคาสูงทั้งหมดอยู่แล้ว
ประการที่สี่ การทุจริตและคอร์รัปชัน จะเกิดมากขึ้นตามความใหญ่โตของโครงการจำนำ
ประการสุดท้าย จะเกิดการขาดทุนอย่างมาก โดยเมื่อเปรียบเทียบราคารับจำนำกับราคาตลาดโลกเฉลี่ยจนถึงปัจจุบัน จะขาดทุนทางบัญชีทันทีสำหรับข้าวนาปีประมาณ 70,000 ล้านบาทและข้าวนาปรังประมาณ 47,500 ล้านบาท
กลุ่มการเมือง การขายข้าวที่มาจากภาษีของประชาชนมูลค่ากว่า 500,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะให้ผู้ส่งออกหรือการตั้งบริษัทขึ้นมาขายข้าวนั้น ประชาชนรับรู้ได้ว่าทุกครั้งที่ขายข้าวในโกดังของรัฐบาลจะมีข่าวการทุจริตคอร์รัปชันของข้าราชการ และนักการเมืองตลอดเวลา แม้แต่การขายข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย สมัยที่เป็นฝ่ายค้าน ที่ได้ร้องเรียนไปยังดีเอสไอ และ ป.ป.ช.ว่าเป็นการขายข้าวแบบลับๆ ไม่โปร่งใส ส่อไปในทางทุจริต และทั้ง 2 หน่วยงานก็ได้รับเรื่องไปสอบสวนแล้ว
จากภาพทั้งหมดที่กล่าวมา เราคงพอจินตนาการได้ว่า ฝันร้ายจะเป็นของใคร และใครบ้างที่กำลังคิดฝันหวานในผลประโยชน์ที่กำลังจะตามมา การที่รัฐบาลได้ทุ่มสุดตัวในการสร้างโจทย์ด้วยตนเอง และแก้ปัญหาเองนั้น ประชาชนคงจะได้เห็นกันในเวลาอีกไม่นานว่า ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นฝันหวานหรือฝันร้ายของรัฐบาล